ข่าวเศรษฐกิจ

เวลาไม่พอ หรือ บริหารเวลา ไม่ดี? 6 กับดักที่กัดกินเวลาของคุณในแต่ละวัน

11 ธ.ค. 64
เวลาไม่พอ หรือ บริหารเวลา ไม่ดี?  6 กับดักที่กัดกินเวลาของคุณในแต่ละวัน

ทุกคนรู้ดีว่า “เวลา” เป็นสิ่งสำคัญ และน่าจะมีค่ามากที่สุดในชีวิต เพราะแต่ละคนไม่สามารถรู้ได้ว่า เวลาแห่งการมีชีวิต ของใครจะยาวหรือสั้น คนจำนวนนึงอาจจะปล่อยเวลาที่มีค่านี้ ไปทำในสิ่งที่อาจจะไม่ใช่เวลาที่ควรทำ หลายครั้งเรายอมเสียเวลาให้กับสิ่งที่ด้อยคุณค่า จนทำให้ตัวเองยุ่งเกินกว่าจะทำสิ่งที่มีคุณค่าต่อตัวเอง เช่น พักผ่อน ดูแลและพัฒนาตัวเอง หรืออยู่กับคนที่คุณรัก
“การให้คุณค่ากับเวลาของเราไม่ดีพอ” อาจจะทำให้เราพลาดทำบางสิ่งที่มีค่า ในเวลาที่สำคัญ

 

เพื่อให้คุณใช้เวลาอย่างได้อย่างฉลาดมากขึ้น SPOTLIGHT รวบรวม “6 กับดักที่กัดกินเวลาของคุณในแต่ละวัน” มาให้คุณเช็คว่าคุณกำลังติดอยู่ในกับดักเวลาขอไหน เพื่อจะได้กู้เวลาอันมีค่าของคุณมาใช้กับสิ่งที่คุณอยากทำ และกับคนที่สำคัญสำหรับคุณ

 

overworked-young-employee-ref

กับดักที่ 1 : “แอปจุกจิก” ผลาญเวลา


สมาร์ทโฟน ที่รวมเอาหลากหลายโซเชียลมีเดีย และสารพัดแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ชีวิตเรา “ง่ายขึ้น” มาอยู่ใกล้เพียงปลายนิ้วสัมผัส เป็นตัวการที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลาของเราจางลงจนเกือบจะหายไป
 
ในระหว่างเวลางาน เราแอบยกโทรศัพท์มาดู Line หรือ Facebook สองถึงสามนาที ระหว่างพักเรา ก็หยิบโทรศัพท์มาเปิดดู Netflix ต่อจากที่ดูค้างไว้ เปิดแอป ช็อปปิ้งออนไลน์ เช็คโปรของที่อยู่ในตระกร้า ก่อนจะวนไปเช็ค อีเมล์ และอัพเดต ปฏิทินออนไลน์ ที่ดองไว้ตั้งแต่ช่วงเช้า
 
แต่ละกิจกรรมบนในสมาร์ทโฟนซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีนี้ แต่เมื่อรวมการที่เรากระโดดไปมาระหว่าง 10 แอปในมือถือของเรานั้น ก็กลายเป็นเวลา หลายชั่วโมงต่อวันได้ (ยังไม่นับรวม Twitter หรือ TikTok ที่ถูกออกแบบมาให้เราดูดเวลาผู้ใช้ เผลอกดเข้าไปทีต้องโดนกันอย่างน้อย ครึ่ง - หนึ่งชั่วโมงแน่ๆ )
 
พฤติกรรมแบบนี้ส่งผลเสียกับเราทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น เวลาที่ถูกผลาญไปกับใช้แอปพลิเคชัน ทั้งเวลางาน หรือเวลาพักผ่อนของเรา ทำให้เราทำอะไรได้ไม่เต็มที่สักอย่าง และผลทางอ้อมคือสิ่งเหล่านี้ ส่งผลเชิงลบต่อสภาวะจิตใจของเรา ทำให้โฟกัสได้แย่ลง และมีความสุขกับปัจจุบันขณะน้อยลง เพราะตัวกับใจวิ่งไปคนละทาง สติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว
 
นิสัยเหล่านี้เกิดขึ้นง่าย แต่ทำให้หายไปยาก ก่อนที่จะต้องถึงขั้นหักดิบ ปิดมือถือระหว่างทำงาน ลองเริ่มจากการ วางมือถือให้ไกลตัวมากขึ้น สร้างอุปสรรคให้เข้าถึงโซเชียลมีเดียยากขึ้น เช่น ซ่อนไว้ในโฟลเดอร์ หรือต้องลงชื่อเข้าใช้เสมอทุกครั้งที่จะเล่น ก็จะเป็นวิธีการดัดนิสัยให้เราจับมือถือน้อยลง และมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้นได้

 

กับดักที่ 2 : เร่งหา “เงิน” ซื้อความสุข



คงจะเป็นการมโนเกินไป ถ้าจะบอกว่า “เงินไม่สำคัญกับชีวิต” เงินสำคัญ! และเราทุกคนก็ต้องการเงิน!

เงินที่เพิ่มขึ้น ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น แต่มนุษย์เราก็ต้องการเงินเพียง “จำนวนหนึ่ง” เท่านั้น ที่จะทำให้เราปลอดภัย อุ่นใจกับเรื่องไม่คาดคิดต่างๆ งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย British Columbia ที่ได้ทำการวิจัยคนกว่า 1.7 ล้านคน จาก 165 ประเทศทั่วโลกเปิดเผยว่า “60,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ปี” (คิดเป็นประมาณ 2.02 ล้านบาท) คือ จำนวนเงินสูงสุดต่อปีที่จะทำให้เรามีความสุข
 
นอกจากนี้ ถ้าเราหาเงินได้มากกว่า 95,000 ดอลลาร์ในแต่ละปี (ราว 3.2 ล้านบาท) เราจะเริ่ม คิดลบ และเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่มีเงินมากกว่าไปเรื่อยๆ
 
ในโลกแห่งทุนนิยมที่ทุกอย่างถูกขับเคลื่อนด้วยเงินตรา การมีเงินเก็บไว้ทำให้เราสามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้อย่างไม่ลำบาก เงินสำคัญ แต่เงินก็ไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ลองซื่อสัตย์กับตัวเอง แล้วหาลิมิตของตัวเองให้เจอว่าสำหรับตัวเราแล้ว เงินแค่ไหนที่จะทำให้เรามีความสุข ต้องใช้เวลาเท่าไรต่อวันในการทำตามเป้าหมาย เพื่อที่เราจะได้เก็บเวลาที่นอกเหนือจากนั้น มาเติมเต็มมิติอื่นๆ ของชีวิต


กับดักที่ 3 : ยอม “เสียเวลา” ดีกว่า ยอมเสีย “เงิน”


“เวลา” 1 ชั่วโมงของคุณ คิดเป็นมูลค่าเท่าไร? 300 บาท? 1,000 บาท หรือสูงกว่านั้น? การประเมินมูลค่าเวลาของตัวเองอาจจะเป็นเรื่องยาก ทำให้บ่อยครั้ง เรามักติดกับดัก ยอมแลกเวลาของเรา กับเงินเพียงน้อยนิด เพราะไม่เราไม่รู้มูลค่าของเวลาที่เรายอมแลกไป
 
“เรายอมเสียเวลา มากกว่ายอมเสียเงิน” เรายอมไม่ขึ้นทางด่วน เพื่อประหยัดเงิน 50 บาท แลกกับเวลา 2 ชั่วโมงของเรา ยอมซัก-รีดผ้าเอง เพื่อประหยัดเงิน 500 บาทต่อสัปดาห์ แลกกับเวลาวันเสาร์-อาทิตย์ทั้งวันของเรา การใช้เงินแก้ปัญาทุกอย่างอาจไม่ใช่คำตอบที่ดี แต่การใช้เงินซื้อสิ่งที่เอากลับคืนมาไม่ได้ ดูเป็นความคิดที่ฉลาดไม่น้อย
 
แทนที่จะคิดว่า เราจะประหยัดเงินได้เท่าไร ในการเสียเวลาเท่านี้ ลองคิดกลับกันว่า เราจะประหยัดเวลาได้ไปได้เท่าไร หากเราจ่ายเงินก่อนนี้ เพราะเงินยังไงเราก็หาได้ใหม่ แต่เวลาเมื่อผ่านไปแล้ว ก็ผ่านไปเลย ให้คุณค่าเวลาของตัวเองให้ดี หากอยากจัดการเวลาอย่างชาญฉลาดมากขึ้น

 

oh-no-now-stressed-dark-skinn

กับดักที่ 4 : ยิ่ง “ยุ่ง” ยิ่งดูเท่


คนจำนวนมากในยุคสมัยนี้ มักจะรู้สึกภูมิใจ เวลาที่ได้บอกคนอื่นว่า “ช่วงนี้ทำงานหนักจนไม่ค่อยได้พักเลย” “ช่วงนี้คิวแน่นมาก ทำงานแทบจะ 7 วันต่อสัปดาห์เลยล่ะ” หรือการรับโทรศัพท์เรื่องงานระว่างสังสรรค์ เพื่อแอบส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ว่าถึงจะมาหาความบันเทิง ตัวเองก็ยังต้องทำงานอยู่ อะไรคือสาเหตุของความคิดเช่นนี้?
 
ค่านิยมที่ว่า คนที่ทำงานยุ่งจนไม่มีเวลา มักจะถูกมองว่าเป็นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า มีที่มาจาก 2 สาเหตุหลัก สาเหตุแรกคือ ความไม่มั่นคงทางการเงินของคนในยุคนี้ หลายคนกังวลว่าตัวเองจะมีเงินไม่พอใช้ ทำให้เราต้องดิ้นรน ปากกัดตีนถีบ ทำงานสร้างเงินเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และรู้สึกไม่ดี เวลาที่จะต้องจ่ายเงินหรือใช้เวลาในการหาความบันเทิงให้ตัวเอง แถมยังกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าเราไม่เอาไหน เราจึงรู้สึกอุ่นใจเวลาที่ได้พูดว่า เรายุ่งจนไม่มีเวลา มากกว่าที่จะพูดว่า เรามีเวลาว่างจนไปเที่ยวเล่นที่ไหนก็ได้
 
อีกสาเหตุหนึ่งมาจาก บรรดาหัวหน้าทั้งหลาย ที่มักจะพึงพอใจเวลาพนักงานของตนบ่นว่างานยุ่งจนงานล้นมือ งานวิจัยจาก Journal of Consumer Research ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการยุ่งจนไม่มีเวลา กับหน้าตาทางสังคม พบว่า พนักงานที่ชอบอวดเรื่องความงานแน่น คิวทองของตัวเอง มักจะได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างมากกว่า และถูกมองว่ามีฐานะดี แม้ความจริงจะไม่เป็นเช่นนั้นก็ตาม นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบว่าพวกเขามักถูกมองว่ามีเสน่ห์ดึงดูดมากกว่าอีกด้วย
ความมั่นคงทางการเงิน และการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้างเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่เราก็ควรจัดการ “ความยุ่ง” ของเราให้อยู่ในระดับที่พอดี ก่อนที่จะก็ให้เกิดปัญหา อ่อนล้าและหมดไฟ ตามมาในระยะยาว

 


กับดักที่ 5 : อยู่นิ่งๆ ไม่เป็น


 
อยู่นิ่งๆ มันลำบากใจ ยอมให้ไฟช็อตเล่นดีกว่า - แม้จะฟังดูตลกแต่นี่คือหนึ่งในผลวิจัยจริง ของ ศาสตร์จารย์แดน กิลเบิร์ต ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ค้นพบมา ว่ามนุษย์ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ กับความความคิดของตัวเอง งานวิจัยอีกชิ้นเผยว่า พ่อแม่ที่ต้องทำงานเลี้ยงครอบครัวรู้สึก “เบื่อ” และ “เครียด” เมื่อได้พักทำกิจกรรมสันทนาการ แทนที่จะรู้สึกดี เป็นอีกหนึ่งคำยืนยันว่า มนุษย์รู้สึกแย่ที่จะต้องว่างเว้นจากการทำงาน
 
แม้ว่าการทำงานจะเป็นหน้าที่หลักของคนในช่วงวัยเรา แต่การพักผ่อน “อยู่เฉยๆ” บ้างก็เป็นเรื่องที่เราควรทำเช่นกัน การวางทุกอย่างทั้งความเครียดเรื่องงาน รวมถึงไปถึงสมาร์ทโฟนในมือลง ปล่อยให้ตัวเองได้ผ่อนคลาย อยู่กับความเงียบ อยู่กับปัจจุบัน นอกจากจะเป็นการ ลดความเครียด แล้ว ยังช่วยให้เรามี โฟกัสกับสิ่งต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้นอีกด้วย


 
กับดักที่ 6 : เดี๋ยว “วันพรุ่งนี้” ก็มีเวลา “ทำ”



ไม่! คุณไม่มีเวลาทำหรอก! เชื่อเราสิ!
 
จากสถิติ เวลาว่างที่คุณมีในสัปดาห์หน้า ก็มีเท่ากับเวลาที่คุณมีในสัปดาห์นี้นั่นแหละ สมองของเรามักจะหลอกให้เราคิดว่า สิ่งที่เราจะต้องทำในวันนี้ ยังไม่ต้องทำก่อนก็ได้ ส่งผลให้เราตอบรับทุกคำเชิญที่คนรอบกายชวนเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการไปปาร์ตี้ ช่วยเพื่อนทำงาน หรือกินข้าวที่ร้านใหม่ สุดท้ายเวลาก็ผ่านไปจนถึงเวลาเดดไลน์ที่เราต้องทำงานให้เสร็จแบบไม่รู้ตัว!
 
นี่เป็นกลไกของสมองที่เราต้องรู้เท่าทัน การตอบตกลงกับคนอื่น ไม่ใช่ความผิดของเรา 100% แต่เป็นการสั่งการจากสมอง ที่ไม่อยากจะตกอยู่ในสภาวะ “นั่งเฉยๆ” อยากรู้สึก Productive อยากช่วยเหลือ สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และสร้างความประทับให้กับอีกฝ่าย จนลืมไปว่าตัวเราเองก็มีภาระอีกมากโขที่จะต้องจัดการให้เสร็จ
 
เมื่อเรานำเวลาว่างของตัวเองไปใช้ในการปรนิบัติผู้อื่น เราก็ไม่มีเวลาเหลือให้ตัวเอง รู้แบบนี้แล้วก็ต้องคิดพิจารณาให้ดี ก่อนที่จะซี้ซั้วตอบรับคำชวนจากเพื่อนและคนใกล้ตัว

 

808517

มาถึงจุดนี้ คุณน่าจะเริ่มเห็นความคุณค่าของเวลามากขึ้นแล้ว แต่อีกหนึ่งสิ่งที่อยากจะบอกเอาไว้คือ “แต่ละคนให้ความสำคัญในสิ่งที่ต่างกัน” ลองสำรวจดูให้ดีว่าสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข ที่ก่อนหน้านี้คุณ “ยุ่งจนไม่มีเวลาให้” คืออะไร แล้วลองกำจัด “6 กับดักเวลา” เพื่อให้คุณสามารถกู้เวลาในแต่ละวันคืนมา เพื่อนำไปใช้กับสิ่งเหล่านั้น และทำให้คุณได้ชื่อว่าเป็นคนที่ “รวยเวลา” มากขึ้น
 

ที่มา : https://ideas.ted.com/which-of-these-6-time-traps-is-eating-up-all-your-time/

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT