ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นใน "ต่างจังหวัด" โตแซงหน้า "กรุงเทพฯ" เป็นครั้งแรก เหตุปรับตัวเก่งด้านราคา ห้างสรรพสินค้าขยายตัว และวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นยังแพร่หลายไม่แผ่ว เชื่อปีหน้าทิศทางยังไปได้สวย
องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร กรุงเทพฯ) เปิดเผยผลการสำรวจล่าสุดถึงแนวโน้มร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยว่า ปี 2564 นี้ ถือเป็นปีแรกนับตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในปี 2550 ที่ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ โดยมีจำนวนร้านในต่างจังหวัด 2,297 แห่ง แซงหน้ากทม. ซึ่งมี 2,073 แห่ง
รายงานระบุว่า ในปีนี้ จำนวนร้านในกรุงเทพฯ ลดลงไป 1.5% จากปีที่แล้ว ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ลดลงนับตั้งแต่มีการสำรวจ แต่ในภาพรวมก็ยังได้แรงหนุนจากการเติบโตในต่างจังหวัดแทน ซึ่งขยายตัวถึง 15.5% ส่งผลให้ในภาพรวมนั้น ร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยเติบโตได้ 6.7% ในปีนี้ โดยมีจำนวนร้านทั้งหมด 4,370 แห่ง
สำหรับเหตุผลที่ต่างจังหวัดโตแซงกรุงเทพฯ ได้นั้น มาจากปัจัจยบวก 3 ด้านหลัก คือ
- การขยายฐานลูกค้าโดยการเพิ่มความหลากหลายด้าน "ราคา"
- การเพิ่มขึ้นของศูนย์การค้านอกกรุงเทพฯ
- วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นที่แพร่หลายมากขึ้น
ขณะเดียวกันก็ยังมาจากปัจจัยเรื่องโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อร้านในกรุงเทพฯ เป็นหลัก จากการต้องปิดร้านชั่วคราวด้วย โดยในปี 2564 นี้ มีร้านอาหารญี่ปุ่นต้องปิดกิจการชั่วคราวถึง 231 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จาก 70 แห่งในปีที่แล้ว
ทั้งนี้ เมื่อดูในรายละเอียดของประเภทร้านอาหารจะพบว่า "ร้านซูชิ" และ "ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น" ยังคงเป็นร้านยอดนิยมอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับต่อเนื่องจากปีที่แล้ว โดยร้านซูชิมีจำนวนเพิ่มขึ้น 342 แห่ง หรือโตเพิ่ม 15.2% ขณะที่ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 197 แห่ง หรือขยายตัว 5.5% ส่วนประเภทร้านที่เปิดน้อยที่สุด และมีอัตราเติบโตติดลบมากที่สุด คือ ร้านโซบะ/อุด้ง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มแค่ 2 แห่ง และขยายตัวติดลบ 31% จากปีที่แล้ว
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การปรับตัวด้าน "ราคา" ที่ทำให้อาหารญี่ปุ่นไม่ไกลเกินเอื้อมสำหรับคนไทย
ผลสำรวจพบว่า ระดับราคาอาหารโดยเฉลี่ยต่อหัวที่มีจำนวนร้านมากที่สุด คือช่วงราคา 101 - 250 บาท ตามมาด้วยช่วงราคา 251 - 500 บาท โดยเป็นเหมือนกันทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด แต่จะต่างกันในลำดับ 3 เพราะฝั่งกทม. จะเป็นช่วงราคาแพง 501 - 1,000 บาท แต่ของต่างจังหวัดจะเป็นช่วงราคาถูกไปเลย คือ ต่ำกว่า 100 บาทแทน
เจโทรได้คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในไทย เป็น 2 ข้อหลัก คือ 1. อาหารญี่ปุ่นในไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งทานเป็นมื้อพิเศษและเป็นอาหารในชีวิตประจำวัน 2. ในอนาคตจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นที่ปรับตัวให้เข้ากับรสนิยมและวัฒนธรรมการกินของคนไทยมากขึ้น แต่ร้านที่เน้นความเป้นต้นตำรับอาหารญี่ปุ่นก็จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุด พบว่ายังคงเป็นพื้นที่ฐานอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่น และเป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรปราการ ปทุมธานี ภูเก็ต นครราชสีมา สงขลา และขอนแก่น โดยผลสำรวจของเจโทรครั้งนี้เป็นการสำรวจระหว่างวันที่ 8 ก.ย. - 7 พ.ย. 2564