สนามบินเบตง พร้อมเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 มีนาคมนี้ นับป็นสนามบินแห่งความหวังในการพัฒนาพื้นที่ทั้งเศรษฐกิจและสังคมใน 3 ชายแดนภาคใต้ นำร่องมีนกแอร์ เปิด 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ในวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะไปเป็นประธานเปิด “เที่ยวบินปฐมฤกษ์ ท่าอากาศยานเบตง จังหวัดยะลา” สนามบินเบตง ซึ่งถือได้ว่าเป็นสนามบินแห่งที่ 29 ของกรมท่าอากาศยาน การเปิดสนามบินเบตงอย่างเป็นทางการ ดูเหมือนจะเป็นความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และในยุทธศาสตร์ชาติ ยังต้องการแก้ปัญหาการเดินทางสู่อำเภอเบตงที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชันไม่สะดวกต่อการเดินทางให้สัญจรไปมาได้สะดวก ปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่
ทำความรู้จักสนามบินเบตงให้มากขึ้น
- ขนาดพื้นที่ 920 ไร่ อาคารที่พักผู้โดยสาร มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร รองรับผู้โดยสารในชั่วโมงเร่งด่วนได้ประมาณ 300 คนต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ 876,000 คนต่อปี
- ทางวิ่งหรือรันเวย์มีขนาดความยาว 1,800 เมตร ศักยภาพรองรับเครื่องบินขนาด 80 ที่นั่งได้จำนวน 3 ลำ
- โดยได้รับการอนุมัติจากครม.เมื่อปี 2558 ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563
- งบในการก่อสร้าง 1,700 ล้านบาท
- สำหรับเส้นทางบินและการขึ้นลงของอากาศยาน จะอยู่ในน่านฟ้าของประเทศไทยเท่านั้น ไม่มีล้ำเข้าไปในน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน
- สายการบินนกแอร์ เปิดให้บริการ เริ่ม วันที่ 14 มี.ค.65 ด้วยความถี่ 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ (ให้บริการในวันจันทร์ วันพุธ และวันศุกร์)
- มีการใช้ไม้ไผ่ เป็นส่วนในการก่อสร้าง บ่งบอกสัญลักษณ์ของเบตง
หลังจากเปิดให้บริการในวันที่ 14 มีนาคมนี้แล้ว ต้องมาตามดูผลจากนี้ เนื่องจากมุ่งหวังให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นซึ่งจะส่งผลในเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ด้วย อีกทั้งสามารถสร้างความร่วมมือระหว่างการพาณิชย์ในระดับประเทศและต่างประเทศ และยังส่งเสริมการรองรับตลาดการท่องเที่ยว การพาณิชย์ เพื่อการลงทุนภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยเฉพาะรัฐปีนัง เคดาร์ เปรัค ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดน
ก่อนหน้านี้ ทางนายภิรมย์ นิลทยา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา บอกว่า เรื่องจำนวนผู้โดยสาร ผู้เกี่ยวข้องกำลังหารือกัน ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า สนามบินเบตงถือเป็นสนามบินสำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมั่นใจว่าสนามบินเบตงจะเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ในภูมิภาคพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่องมาเลเซียและสิงคโปร์ และสร้างความเจริญ และความมั่นคงแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แน่นอน ซึ่งการการันตีที่นั่งในการกำหนดอัตราค่าโดยสารจะมีกรอบเพดาน และยังมีวิธีการสามารถทำได้ในหลายรูปแบบ เช่น extra charge เป็นต้น รวมถึงให้ดำเนินการเรื่องขนส่งสินค้า (คาร์โก้) ควบคู่ไปด้วย เพราะจะทำให้สนามบินมีความสมบูรณ์และมีรายได้ ซึ่งทางเอกชนมีความพร้อม”
ด้านกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เคยรายงาคาดการณ์ ว่าค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสนามบินเบตงในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 12 ล้านบาท/ปี โดยคาดว่ามีผู้โดยสาร 50,000 คน/ปี โดยกรณีที่มีการลดค่าขึ้น-ลงอากาศยาน (Landing & Parking Fee) ลง 80% ในปีแรก และในปีที่ 2 ลดลง 65% นั้น คาดการณ์ตัวเลขรายได้จากค่าแลนดิ้ง ปาร์กกิ้ง ค่าธรรมเนียมผู้โดยสาร (PSC) ในปีแรกจะมีประมาณ 2,540,227 บาท ปีที่ 2 ประมาณ 2,819,96 บาท ส่งผลให้ปีแรกผลประกอบการขาดทุนประมาณ 9,459,773 บาท ปีที่ 2 ขาดทุนประมาณ 9,180,004 บาท รวม 2 ปีขาดทุนประมาณ 18,639,777 บาท
โดย ทย.ขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายอุดหนุนส่วนต่างรายรับและรายจ่ายในการบริหารงานจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งทาง ศอ.บต.ยืนยันว่า ได้พิจารณาในการปรับเกลี่ยงบเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสนามบินเบตงช่วง 2 ปีแรก 9.5 ล้านบาท/ปี