ข่าวเศรษฐกิจ

รู้จัก 'Golden Visa' วีซ่าที่พาคุณเปลี่ยนสัญชาติได้ แค่มีเงิน

5 ก.ย. 65
รู้จัก 'Golden Visa' วีซ่าที่พาคุณเปลี่ยนสัญชาติได้ แค่มีเงิน

ในยุคที่เศรษฐกิจซบเซาลงเพราะโควิด หลายๆ ประเทศต่างออกวีซ่าเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติเข้าไปจับจ่ายใช้สอยในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นขึ้นมาได้

 

โดยบางประเทศก็เน้นดึงดูดเงินชั่วคราวเช่นเงินจากนักท่องเที่ยว แต่บางประเทศก็ไปไกลกว่านั้นด้วยการดึงดูดให้คนมาอาศัย ทำงาน และใช้จ่ายหมุนเวียนในประเทศเลย อย่างสิงคโปร์ที่เพิ่งออกวีซ่าใหม่ OnePass และ Tech.Pass เพื่อดึงหัวกะทิทุกด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเข้าไปช่วยทำงานพัฒนาประเทศ

แต่นอกจากวีซ่าดึง ‘คนเก่ง’ เข้าไปทำงานแล้ว ก็มีวีซ่าอีกประเภทหนึ่งที่บางประเทศออกมาเพื่อดึงให้ ‘คนรวย’ เข้าไป ‘ลงเงิน’ แลกวีซ่าอยู่อาศัยและทำงานระยะยาว หรือแม้แต่ ‘วีซ่าผู้พำนักถาวร’ (permanent resident visa) โดยเฉพาะ 

วีซ่าประเภทนี้มีชื่อเรียกทางการแบบรวมๆ ว่า ‘immigrant investor visa’ หรือ ‘วีซ่านักลงทุน’ หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อเล่น ‘golden visa’ หรือ ‘วีซ่าทอง’ ที่แต่ละประเทศเรียกเก็บ ‘เงินลงทุนแรกเข้า’ แพงจนคนขออาจต้องขายทองขายบ้านไปขอสมชื่อ

โดยล่าสุดเมืองไทยเองก็เพิ่งเปิดให้ชาวต่างชาติเงินหนาเข้ามาขอ ‘วีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)’ ที่ให้ผู้ถือพำนักและทำงานในไทยได้ 10 ปี พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมาย เช่น การยกเว้นภาษีเงินได้จากต่างประเทศ เพียงมีเงื่อนไขไม่มาก แค่ต้องเอาเงินอย่างน้อย 500,000 เหรียญสหรัฐหรือราว 18.3 ล้านบาทมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ธุรกิจภายในประเทศ หรืออสังหาริมทรัพย์ไทย และต้องมีสินทรัพย์ในครอบครองอย่างน้อย 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 36.7 ล้านบาท 

ในบทความนี้ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักวีซ่าทองที่คนรวยๆ ใช้เปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนสัญชาติ หรือแม้แต่ขอสัญชาติใหม่ รวมไปถึงส่องตัวอย่างเงื่อนไขวีซ่าทองของ 3 ประเทศอาเซียนคือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ กันว่าแต่ละประเทศมีเกณฑ์หรือกลเม็ดในการดึงเศรษฐีเข้าไปอยู่ในประเทศอย่างไร เปรียบเทียบกันแล้วมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไรบ้าง

 

 

‘วีซ่าทอง’ วิถีเปลี่ยนประเทศแบบคนมีเงิน 

 

‘วีซ่าทอง’ หรือ ‘วีซ่านักลงทุน’ ไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วทุกมุมโลกออกมาเพื่อดึงดูดเงินทุนต่างชาติมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศมาตั้งแต่ช่วง 1980s แล้ว

และที่น่าสังเกตก็คือประเทศที่มีวีซ่าประเภทนี้มักจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจ ‘พัฒนาแล้ว’ และมีโครงสร้างอำนวยความสะดวกรองรับไลฟ์สไตล์แบบ ‘หรูหรา’ ได้ระดับหนึ่งแล้ว เพราะจุดขายของวีซ่าประเภทนี้คือ ‘สิทธิในการพักอาศัย’ หรือแม้แต่ ‘สัญชาติ’ และถ้าสภาพบ้านเมืองของประเทศนั้นๆ ไม่พร้อม หรือไม่มีอะไรดึงดูดกลุ่มคนรายได้สูงได้เลย ถึงออกวีซ่าประเภทนี้มาก็คงไม่มีใครไปขอ

สำนักข่าว เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ (SCMP) รายงานว่าปัจจุบันมีประเทศทั่วโลกกว่า 40 ประเทศแล้วที่เปิดให้ชาวต่างชาติขอวีซ่านักลงทุน โดย 5 ประเทศแรกที่มีผู้มีรายได้สูงกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐย้ายเข้าไปพำนักอยู่ด้วยวีซ่าทองในจำนวนมากที่สุดในปี 2022 ก็คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย สิงคโปร์ อิสราเอล และสหรัฐอเมริกา โดยส่วนมากจะย้ายมาจากประเทศจีน และยูเครนที่กำลังประสบปัญหาความไม่สงบอยู่ในปัจจุบัน

จากการคาดการณ์ของ Henley & Partners เฟิร์มกฎหมายทีเชียวชาญด้านการย้ายถิ่นด้วยการลงทุนจากอังกฤษ ในปี 2022 จะมีเศรษฐีทั่วโลกกว่า 88,000 คน ย้ายถิ่นฐาน หรือขอวีซ่าพำนักระยะยาวในประเทศอื่นผ่านการลงทุน

โดยในนั้นจะมีถึง 4,000 คนที่เลือกเข้าไปในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่กำลังกลายเป็น ‘millionaire magnet’ ดาวรุ่ง เพราะเพิ่งปรับลดเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำจาก 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐไป 545,000 เหรียญสหรัฐ พร้อมยืดระยะเวลาอยู่อาศัยจาก 5 เป็น 10 ปี ในปีนี้

โดยถึงแม้เทรนด์การย้ายถิ่นฐานของมหาเศรษฐีจะสะดุดไปบ้างในช่วงปี 2020-2021 ที่จำนวนผู้เดินทางย้ายประเทศด้วยวีซ่านักลงทุนลดลงกว่า 89% จาก 110,000 คนในปี 2019 ไป 12,000 คนในปี 2020 เพราะโควิดทำให้การย้ายที่อยู่และเดินทางข้ามประเทศเป็นเรื่องลำบาก Henley & Partners คาดการณ์ว่าตัวเลขนี้จะพุ่งกลับไปหลักแสนอีกครั้งในปี 2023 เพราะความความสะดวกในการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีเศรษฐีที่เห็นความสำคัญของการมีวีซ่าพำนักระยะยาวในประเทศอื่น หรือ ‘พาสปอร์ตเล่มที่สอง’ มากยิ่งขึ้น เพราะการมีที่อยู่สำรองนอกจากจะช่วยกระจายความเสี่ยงแล้ว ยังเพิ่มความคล่องตัวในการ ‘ลี้ภัย’ ออกจากประเทศตัวเองหากเกิดเหตุจำเป็น โดยเฉพาะเศรษฐีประเทศจีนที่เจอผลกระทบด้วยตัวเองมาแล้วจากนโยบายล็อคดาวน์ Zero-Covid ที่ทำให้ออกไปไหนไม่ได้มาเป็นเดือนๆ

 

 

เทียบวีซ่านักลงทุน 3 ประเทศอาเซียน ที่ไหนเป็นอย่างไรบ้าง

 

ในปัจจุบัน มีเพียง 3 ประเทศในอาเซียนเท่านั้นคือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ที่มีวีซ่านักลงทุนเพื่อดึงตัวเศรษฐีเข้ามาพำนักอาศัย และใช้เงินในประเทศ โดยแต่ละที่ก็มีเกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำ หรือมีกฎยิบย่อยที่ทำให้แต่ละประเทศมีข้อได้เปรียบต่างกันไป ซึ่งทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านเป็นข้อๆ ได้ดังนี้

 

ไทย

ชื่อ: วีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa)

istock-547216392

ต้องมีคุณสมบัติยังไง? 

  • ต้องลงทุนอย่างน้อย 500,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 18.3 ล้านบาท) ในพันธบัตรรัฐบาลไทย หรือ ธุรกิจไทย หรืออสังหาริมทรัพย์ในไทย ; หรือ
  • มีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำปีละ 80,000 เหรียญสหรัฐ (ราว 2.9 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา; หรือ
  • มีสินทรัพย์ขั้นต่ำ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 36.7 ล้านบาท)

 

ได้อะไรบ้าง?

  • สิทธิพำนักอาศัยในประเทศ 10 ปี 
  • สิทธิเดินทางเข้าออกประเทศ
  • ใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย
  • การยกเว้นภาษีรายได้ที่ได้จากต่างประเทศ
  • วีซ่าผู้ติดตามให้คู่สมรสและบุตร
  • ช่องบริการพิเศษในสนามบิน

 

 

มาเลเซีย

ชื่อ: Malaysia My Second Home (MM2H) Program

istock-466842820

ต้องมีคุณสมบัติยังไง?

  • อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • มีสินทรัพย์ขั้นต่ำ 1.5 ล้านริงกิต (ราว 12.4 ล้านบาท)
  • มีเงินเดือนอย่างน้อย 40,000 ริงกิต (ราว 3 แสนบาท)
  • ฝากเงินอย่างน้อย 1,000,000 ริงกิต (ราว 8.2 ล้านบาท) ในบัญชีธนาคารในมาเลเซีย บวกของสมาชิกครอบครัวอีกคนละ 50,000 ริงกิต (ราว 4 แสนบาท) โดยผู้ฝากห้ามถอนเงินจำนวนนี้ออกมาในช่วง 1 ปีแรกที่อยู่ในมาเลเซีย หลัง 1 ปีถอนได้ไม่เกิน 500,000 ริงกิต และต้องนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ ‘ซื้อบ้าน’ ‘จ่ายค่าเรียนให้ลูก’ หรือ ‘จ่ายค่ารักษาพยาบาล’ เท่านั้น
  • มีเงินใช้จ่ายพอสมควรจนไม่ต้องทำงานระหว่างพำนักอยู่ในมาเลเซีย
  • ต้องอยู่ในมาเลเซียอย่างน้อยปีละ 90 วัน (ยกเว้นผู้ติดตาม)

 

ได้อะไรบ้าง?

  • สิทธิพำนักอาศัยในประเทศ 10 ปี
  • สิทธิเดินทางเข้าออกประเทศ
  • วีซ่าผู้ติดตามให้คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่แต่งงานและอายุต่ำกว่า 21 ปี
  • สิทธิซื้อที่พักอาศัยราคาตั้งแต่ 300,000 ถึง 1 ล้านริงกิต

 

 

สิงคโปร์

ชื่อ: Singapore Global Investor Program

istock-627935066

ต้องมีคุณสมบัติยังไง?

  • ต้องส่งเอกสารแจกแจกประวัติการทำงานและการเงินเพื่อแสดงหลักฐานว่าผู้ขอวีซ่าเป็นเจ้าของธุรกิจหรือถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 30% ในบริษัทที่ทำรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 5.2 พันล้านบาท) หรือ มีญาติเป็นเจ้าของธุรกิจหรือถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 30% ในบริษัทที่ทำรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท); และ
  • ลงทุนขั้นต่ำ 2.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ (ราว 65.5 ล้านบาท) ในธุรกิจใหม่หรือธุรกิจสิงคโปร์ที่กำลังขยายการดำเนินการ; หรือ
  • ลงทุนขั้นต่ำ 2.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจสิงคโปร์; หรือ
  • ลงทุนขั้นต่ำ 2.5 ล้านเหรียญสิงคโปร์ในการตั้ง สำนักงานธุรกิจครอบครัว (Family Office) ในสิงคโปร์ โดยจะต้องมีสินทรัพย์ในการดูแลไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญสิงคโปร์ โดยอย่างน้อย 50 ล้านเหรียญสิงคโปร์นั้นต้องเป็นสินทรัพย์ที่ฝากในประเทศ ส่วนอีก 150 ล้านฝากอยู่นอกประเทศได้

 

ได้อะไรบ้าง?

  • วีซ่าผู้พำนักถาวร (permanent resident visa) สำหรับทั้งตัวผู้ขอและผู้ติดตาม (บุตรอายุไม่เกิน 21 ปี) 

โดยผู้ที่ถือวีซ่านี้จะสามารถท่องเที่ยว ทำงาน และพำนักอยู่ในสิงคโปร์ได้ไม่จำกัดระยะเวลา นอกจากนี้ยังสามารถขอวีซ่าระยะยาวให้พ่อแม่ ส่งบุตรเข้าเรียนในโรงเรียนสิงคโปร์ และขอสัญชาติสิงคโปร์ได้หลังถือวีซ่านี้มาแล้ว 2 ปี

 

จากข้อมูลด้านบนจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ทุกประเทศจะมีจุดร่วมคือ ‘เกณฑ์เงินลงทุนขั้นต่ำ’ และให้สิทธิพำนักอาศัยระยะยาวในประเทศเหมือนกัน แต่ละประเทศก็มีรายละเอียดแตกต่างที่ทำให้มีข้อดีต่างกันไป

โดยสำหรับ 'ประเทศไทย' ข้อได้เปรียบที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ‘เกณฑ์เงินลงทุนที่ต่ำ’ ‘สิทธิพิเศษที่สูง’ และ ‘กฎที่เรียบง่าย’ ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่มีกฎเรื่องอายุและประวัติการทำงานเข้ามาด้วย 

นอกจากนี้เรายังมีสถานที่ท่องเที่ยว และอาหารที่เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก ทำให้เราเป็นสถานที่ที่ให้ทั้งความสะดวกทางกฎหมาย และความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่น่าจะทำให้ไทยดึงดูดชาวต่างชาติเงินหนาเข้ามาในประเทศได้มากถึงแม้จะเป็นน้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน

ในขณะเดียวกันทางด้าน ‘สิงคโปร์’ ที่ถึงแม้กฎจะ ‘โหดหิน’ ทุกข้อจนดูตัวเกณฑ์แล้วน่าจะไล่มากกว่าดึงคนเข้ามาได้ ก็มีข้อได้เปรียบสำคัญคือเป็นที่เดียวที่ให้สิทธิผู้ถือวีซ่า ‘ขอสัญชาติ’ ได้

ซึ่งสิทธินี้นอกจากจะทำให้ผู้ถือวีซ่ามีโอกาสได้เป็นประชากรของประเทศที่มีคุณภาพชีวิตสูงที่สุดที่หนึ่งของโลกแล้ว ยังทำให้มีโอกาสถือ ’พาสปอร์ตสิงคโปร์’ ที่พาผู้ถือเข้า 192 ประเทศทั่วโลกโดยไม่ต้องขอวีซ่า จนได้ชื่อว่าเป็นพาสปอร์ตที่ ‘ทรงพลัง’ ที่สุดเป็นอันดับสองของโลกคู่กับพาสปอร์ตของประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย

 

ซึ่งเมื่อมองแบบนี้ ถึงแม้ในมุมหนึ่งการให้วีซ่านักลงทุนจะเป็นเหมือนการเปิดให้ชาวต่างชาติเข้ามากินอยู่หรือใช้ทรัพยากรในประเทศ แท้จริงแล้ววีซ่าประเภทนี้ก็เป็นเครื่องชี้วัดตัวหนึ่งว่าประเทศนั้นมีเศรษฐกิจที่ดี และระดับคุณภาพชีวิตที่สูงพอที่จะทำให้คนรวยเกิดความรู้สึกว่าอยากไปอาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ

อีกทั้งยังเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้รัฐบาลเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนในประเทศได้เร็วที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังผ่านวิกฤติมาอีกด้วย

 

ที่มา: SCMP, VisualCapitalist, Henley & Partners




advertisement

SPOTLIGHT