คนไทยว่างงาน 5.14 แสนคน จำนวนคนตกงานลดลง แต่ชั่วโมงการทำงานเยอะขึ้น ทำไมอัตราการว่างงานของไทยจึงน้อยมาก?
วันนี้ (17 ก.ย. 65) รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไตรศุลี ไตรสรณกุล ได้แถลงว่า จากการติดตามสถานการณ์การมีงานทำและการว่างงานของกำลังแรงงานในประเทศไทยโดยต่อเนื่อง พบว่า "คนไทยว่างงานน้อยลง" โดยภาวะการมีงานทำและการว่างงานในภาพรวมยังคงดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่แต่ละภาคส่วนฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตามลำดับ
จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งรายงานสถานการณ์ผู้มีงานทำล่าสุด ณ เดือน ก.ค.65 พบว่า จากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งหมด 58.64 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่นอกกำลังแรงงาน 16.63 ล้านคน (อยู่ระหว่างการศึกษา, เป็นผู้พิการทุพพลภาพ) และอยู่ในกำลังแรงงาน 40.01 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นผู้มีงานทำ 39.48 ล้านคน ว่างงาน 5.14 แสนคน และรอฤดูกาลอีก 2 หมื่นคน
เท่ากับว่าตัวเลขล่าสุดในเดือน ก.ค.65 ประเทศไทยมีคนว่างงานทั้งสิ้น 5.14 แสนคน คิดเป็น 1.3% ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ซึ่งลดลงจาก 5.80 แสนคน หรือ 1.4% ในเดือน มิ.ย.65
นอกจากนี้ ยังนับเป็นจำนวนผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานที่ "ต่ำที่สุดนับแต่เกิดการระบาดของโควิด-19" ซึ่งมีผู้ว่างงานสูงสุดที่ 8.70 แสนคน คิดเป็น 2.25% ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564
แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดชั่วโมงทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ ในเดือน ก.ค.พบว่า "มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้น" ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มที่แรงงานจะมีรายได้จากการทำงานมากขึ้นด้วย โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า
- กลุ่มผู้ทำงานตั้งแต่ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวน 26.80 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 26.75 ล้านคนในเดือน มิ.ย.65
- กลุ่มผู้มีงานทำ 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์มีจำนวน 7.01 ล้านคน เพิ่มจาก 6.52 ล้านคนในเดือน มิ.ย.65
- กลุ่มผู้ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวน 5.67 ล้านคน ลดลงจาก 6.63 ล้านคนในเดือน มิ.ย.65
ทำไมประเทศไทยถึงมีอัตราว่างงานน้อยมาก?
ประเทศนั้นขึ้้นชื่อในเรื่องอัตราการว่างงานต่ำมานานแล้ว แม้แต่สำนักข่าว Bloomberg ยังเคยจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่ "ทุกข์ยากน้อยที่สุดในโลก" โดยมีหนึ่งในตัวชี้วัดเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดระดับ ท็อป 10 ของโลก ซึ่งทำให้หลายคนตั้งคำถาม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจบใหม่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ที่มีปัญหาในการหางานทุกๆ ปี
เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น อันดับแรกเราต้องดู "คำนิยาม" ของคำว่า "อัตราการว่างงาน" ก่อน ตามมาตรฐานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ผู้ว่างงาน คือ ผู้ที่ไม่มีงานทำ หรือหากมีงานทำก็ทำไม่ถึงหนึ่งชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นนิยามที่ประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยนำมาใช้ นั่นจึงทำให้คนที่ทำงานค้าขาย ทำเกษตร ทำงานพาร์ทไทม์ ล้วนถือเป็นผู้มีงานทำทั้งสิ้น
และที่สำคัญก็คือ เวลาคำนวณจะไม่ได้นับประชากรทั้งประเทศ แต่นับเป็นประชากรในวัยทำงาน ซึ่งหมายความว่าจะต้องตัดคนในกลุ่มเด็กและคนชราออกไป และตามที่ทราบกันดีก็คือ ประเทศไทยมีอัตราประชากรเกิดใหม่ลดลงเรื่อยๆ เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" (Aging Society) ทำให้เรามีประชากรในวัยทำงานลดลงเรื่อยๆ
นอกจากนี้ คนทำงานจำนวนไม่น้อยอยู่อยู่ในกลุ่ม "ภาคการเกษตร" ถึงเกือบ 1 ใน 3 ของผู้มีงานทำทั้งหมด แต่รายได้ของการทำงานในภาคเกษตรนั้นมีอัตราเฉลี่ยที่ต่ำกว่าภาคอื่น และยังถือเป็นแรงงานนอกระบบประกันสังคมที่ไม่ได้รับความคุ้มครองกรณีทุพพลภาพ เสียชีวิต หรือการได้เงินชดเชยกรณีว่างงาน
นี่จึงเป็นที่มาของอัตราการว่างงานของไทยที่ต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในอัตรา 1.3% หรือ 100 คน จะมีคนตกงานเพียง 3 คนเท่านั้น