เดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่เดือนแห่งการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยของเราเป็นเจ้าภาพเท่านั้น แต่ยังมีการประชุมใหญ่ถึง 3 เวทีในอาเซียนที่จัดขึ้นไล่เลี่ยกัน
เริ่มตั้งแต่การประชุม “อาเซียน ซัมมิต” (Asean Summit) ที่กรุงพนมเปญ กัมพูชา วันที่ 10-13 พ.ย., การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจใหญ่สุด 20 ประเทศ (G20) ที่บาหลี อินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พ.ย., และการประชุมเอเปค (APEC 2022) ที่กรุงเทพฯ วันที่ 18-19 พ.ย. ซึ่งล้วนมีผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศตบเท้าเข้าร่วมกันอย่างหนาแน่น
แต่ไฮไลท์ที่หลายฝ่ายกำลังจับตามองมากที่สุดในขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่าอยู่ที่ “อินโดนีเซีย”
เพราะแขกที่จะเข้าร่วมการประชุม G20 ในสัปดาห์หน้านั้น นอกจากจะเป็นระดับผู้นำประเทศเกือบทุกชาติเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพรียง เช่น ประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” แห่งสหรัฐอเมริกา และประธานาธิบดีจีน “สี จิ้นผิง” แล้ว ก็ยังมีนักธุรกิจชื่อดังอย่าง “อีลอน มัสก์” ซีอีโอของ Tesla และ Twitter มาเป็นแขก VVIP ของรัฐบาลด้วย
โดยลิสต์แขก VVIP นี้ไม่ได้มีแต่มัสก์เท่านั้น แต่ยังรวมถึง สมเด็จพระราชินีแม็กซิมา แห่งเนเธอร์แลนด์, จานนี อินฟานติโน ประธานฟีฟ่า และผู้แทนจากเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่ม ร่วมด้วย
จึงเรียกได้ว่างานประชุม G20 ในครั้งนี้ อินโดนีเซียได้รับเกียรติจากผู้นำหลายประเทศเข้ามาร่วมประชุม แสดงถึงความสำคัญของกลุ่ม G20 รวมไปถึงอินโดนีเซียในฐานะ “เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน”
แต่นอกจากจะเตรียมแผนต้อนรับผู้นำจากประเทศต่างๆ แล้ว 'โจโก วิโดโด' หรือ 'โจโกวี' ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียยังเตรียมประกาศศักดา โชว์ศักยภาพของอินโดนีเซียที่จะขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการนำเสนอ ‘เมกะโปรเจกต์สร้างชาติ’ 4 โปรเจกต์ ในงานประชุม หวังดึงเงินลงทุน 8.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.3 แสนล้านบาท จากชาติสมาชิก G20 ซึ่งเป็นตัวแทน 20 เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และนักธุรกิจชื่อดังที่มาร่วมประชุมพบปะในงาน
จากรายงานของ Bloomberg นักวิเคราะห์ระบุว่า การนำเสนอโปรเจกต์แสดงศักยภาพของอินโดนีเซียทั้งหมดนี้เป็นไป “เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าการประชุมผู้นำในครั้งนี้ก่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม” รวมไปถึงเป็นวิธีที่โจโกวีใช้เพื่อทิ้งมรดกความเจริญไว้ให้ประเทศก่อนเขาหมดวาระประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 2024
โดยโปรเจกต์ทั้งหมดล้วนเป็นโปรเจกต์ที่เน้นพัฒนาความพร้อมด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในหลายภาคส่วน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการเงินดิจิทัล ทั้ง 4 โปรเจคดังกล่าวมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
โปรเจกต์เลิกใช้ถ่านหิน มุ่งใช้พลังงานสะอาด 100% ภายใน 2055
อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะปิดโรงงานผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินทั้งหมดในปี 2050 และเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดในปี 2055 ซึ่งโครงการนี้ต้องอาศัยเงินลงทุนจากต่างประเทศจึงจะทำได้สำเร็จ เพราะในปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าถึง 50%
โปรเจกต์เชื่อมระบบชำระเงินอาเซียน ดันรูเปียดิจิทัล
ธนาคารกลางของ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ กำลังจะเซ็นสัญญาในเดือนนี้ เพื่อเชื่อมระบบชำระเงิน ให้ประชากรทุกประเทศสามารถชำระเงินในต่างประเทศผ่านคิวอาร์โค้ด ล้มเลิกการใช้สกุลเงินดอลลาร์เป็นค่ากลางในการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังวางแผนจะออกเงินรูเปียดิจิทัลให้ประชาชนใช้แลกเปลี่ยนสินค้าภายในสิ้นปีนี้ โดยได้มีการศึกษาเตรียมการมาแล้วตั้งแต่ปี 2021 และวางแผนจะออกนโยบายให้ประชาชนเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของธนาคารโลก ในปัจจุบัน ประชากรอินโดนีเซียที่มีบัญชีธนาคารคิดเป็นเพียง 51.8% เท่านั้นของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำถ้าเทียบกับเขตเศรษฐกิจใหญ่อื่นๆ ในอาเซียน
โปรเจกต์รถไฟความเร็วสูงแห่งอนาคต
อินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) หรือ One Belt One Road (OBOR) ของจีน โดยจีนได้เข้ามาลงทุนสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงจาการ์ตาไปยังเมืองบันดุง หนึ่งในเมืองที่ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย มูลค่าถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ประธานาธิบดี โจโควี คาดว่ารถไฟสายนี้จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปีหน้า แต่ในงานประชุม G20 ครั้งนี้ โจโควีได้ถือโอกาสเชิญประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เข้าร่วมรับชมการทดลองวิ่งรถไฟสายนี้ในวันที่ 16 พฤศจิกายนด้วย
นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังวางแผนที่จะเซ็นสัญญากับนักลงทุนต่างชาติหลายราย เพื่อขยายเส้นทางรถไฟ MRT ในกรุงจาการ์ตา จากคำกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกรมคมนาคมของอินโดนีเซีย นักลงทุนเหล่านี้มาจาก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหราชอาณาจักร
โปรเจกต์ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินโดนีเซียกล่าวว่า รัฐบาลอินโดนีเซียมีจะประกาศแผนในการก่อตั้งตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต แผนเก็บภาษีคาร์บอน และแผนเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานไปเป็นพลังงานหมุนเวียนก่อนการประชุมเริ่มขึ้นในวันที่ 15
โดยแผนนี้เป็นแผนที่จะช่วยให้อินโดนีเซียกลายเป็นประเทศ Net-Zero ภายในปี 2060 ตามที่ตั้งเป้าหมายได้ และรัฐบาลได้มอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียเริ่มดำเนินการสร้างตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของประเทศแล้ว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2025
จะเห็นได้ว่า ถ้าอินโดนีเซียหาเงินทุนมาลงกับเมกะโปรเจกต์เพื่อการพัฒนาเหล่านี้ได้สำเร็จ ความฝันของอินโดนีเซียที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอาเซียนอาจอยู่ไม่ไกล เพราะจะพัฒนาก้าวกระโดดทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล และด้านความยั่งยืน
ซึ่งก็ต้องน่ามาจับตาดูว่า ฟอร์มในการนำเสนอเรียกเงินทุนของอินโดนีเซียจะเป็นอย่างไร และจะประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้หรือไม่
ที่มา: Bloomberg