จากที่แนวโน้มค่าเงินทั่วเอเชียอ่อนค่าทำลายสถิติสวนทางกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ สถานการณ์ปัจจุบันกลับทิศทางมาฝั่งการปรับแข็งค่าแล้วทั้งภูมิภาค เงินบาทตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงเมื่อวานนี้หลุด 36 บาท/ดอลลาร์ เป็นการปรับแข็งค่ามากที่สึดในรอบ 3 เดือน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยอ่อนไปทะลุ 38.40 บาท/ดอลลาร์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ล่าสุด เงินบาทพลิกแข็งค่าหลุดแนว 36.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ไปแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนที่ 35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะลดช่วงบวกกลับมาบางส่วน
ทั้งนี้ เงินบาทและสกุลเงินเอเชียในภาพรวมปรับตัวแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางแรงเทขายเงินดอลลาร์ฯ อย่างต่อเนื่อง หลังข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรวัดเงินเฟ้อของสหรัฐฯเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวลงในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งภาพดังกล่าวหนุนการคาดการณ์ของตลาดที่มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)อาจเริ่มทยอยลดความแข็งกร้าวในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่การประชุม FOMC รอบหน้าในเดือนธันวาคม 2565
นอกจากนี้ ยังมีข่าวดีจากการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯถอดไทยออกจากรายชื่อประเทศที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด (Monitoring List) ในรายงานนโยบายเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทคู่ค้าสหรัฐฯ ฉบับล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ด้วยเช่นกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เงินบาทอาจยังคงมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ผันผวน ดังนั้นผู้ประกอบการและนักลงทุนควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและทยอยปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงหลังจากนี้อาจไม่ได้โน้มไปแบบทิศ ทางเดียว เพราะยังมีจุดที่ต้องระมัดระวัง ซึ่งก็คือ สัญญาณของเฟด โมเมนตัมเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และภาพรวมความเสี่ยงของแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และน่าจะเป็นภาพต่อเนื่องในปี 2566
นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการขยับแข็งค่าของเงินหยวนซึ่งรับปัจจัยบวกจากรายงานข่าวที่ระบุว่า ทางการจีนพิจารณาลดจำนวนวันกักตัวและผ่อนคลายข้อจำกัดบางส่วนในการดูแลสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับระดับการเคลื่อนไหวในช่วงก่อนการประชุมเฟดเดือนพฤศจิกายน 2565 เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบ 6% ตามหลังค่าเงินวอนที่แข็งค่าขึ้นถึง 8.3% โดยการพลิกแข็งค่าของทั้งเงินบาทและเงินวอนเป็นภาพที่ค่อนข้างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสกุลเงินเอเชียอื่นๆที่แข็งค่าขึ้นในกรอบประมาณ 1-3%
และเมื่อดูการเคลื่อนไหวของสถานะพอร์ตการลงทุนของต่างชาติ ก็คงต้องยอมรับว่า การขยับแข็งค่าของเงินบาทในเดือนพฤศจิกายนนั้น เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับจังหวะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติซึ่งอยู่ในฝั่งซื้อสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยโดยมียอดเงินทุนไหลเข้าสะสมรวมกันประมาณ 1.18 แสนล้านบาท (เป็นเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น 9.4 หมื่นล้านบาท และ 2.4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ)