ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดลิสต์ 5 ประเทศฐานการผลิตใหญ่ ในวันที่ทั้งโลกกำลังหนีจาก ‘จีน’

28 ธ.ค. 65
เปิดลิสต์ 5 ประเทศฐานการผลิตใหญ่  ในวันที่ทั้งโลกกำลังหนีจาก ‘จีน’

กว่า 4 ทศวรรษแล้วที่ประเทศจีน ขึ้นแท่นเป็น ‘โรงงานของโลก’ เป็นหัวใจสำคัญของซัพพลายเชนของทุกประเทศ นับตั้งแต่โลกดำเนินเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ ทุกประเทศก็หันไปพึ่งจีน ในฐานะประเทศที่เพียบพร้อมไปด้วยทั้งทรัพยากรการผลิต แรงงาน รวมถึงตลาดในประเทศ แต่นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดี Donald Trump ของสหรัฐ ประกาศสงครามการค้ากับจีน ในปี 2018 ก็นับเป็นการสร้างแรงกดดันทางภมิรัฐศาสตร์ให้กับบรรดานักลงทุนที่ลงทุนในจีน ให้เริ่มมองหาจุดหมายใหม่ๆ ในการตั้งฐานการผลิต

 

000_hkg3927032

 

แต่ชนวนสำคัญที่ทำให้บริษัทน้อยใหญ่เร่งเครื่อง ‘ย้ายหนี’ จากแดนมังกรแห่งนี้ก็คือ ‘โควิด-19’ และนโยบายการรับมือ ‘ซีโร่โควิด’ ของรัฐบาลจีน ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ที่ 2 ของโลก ทำให้ซัพพลายเชนทั่วโลกต้องปั่นป่วน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง

สถานการณ์เช่นนี้บีบบังคับนานาประเทศทั่วโลก ต้องปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เริ่มหาแหล่งผลิตที่ใกล้ประเทศตนเองมากขึ้น จาก Globalization กลับมาเป็น Localization และเริ่มหาโรงงานของโลกหลังใหม่ เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการผลิตสูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพี่ใหญ่เจ้าเก่า และเป็นช่วงเวลานี้เองที่ทำให้ทั้งโลกเริ่มเห็นภาพว่า ‘เราจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่ต้องพึ่งจีน’

‘อินเดีย เวียดนาม ไทย บังกลาเทศ และมาเลเซีย’ คือ 5 ว่าที่กลุ่มโรงงานการผลิตของโลก ที่ Business Insider มองว่า กำลังก้าวขึ้นมาแบ่งเค้กชิ้นใหญ่ไปจากจีน
 

 

wwdc2022-june6_apple1-_1 



‘อินเดีย’ ลูกรักคนใหม่ของบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกที่ชื่อ ‘Apple’

 

ประเทศอินเดีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 6 แต่กำลังจะแซงขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 แซงทั้งอังกฤษ ญี่ปุ่น และเยอรมนี ในอีก 7 ปี ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์หลากหลายสถาบัน นอกจากนี้ อินเดีย ยังเป็นประเทศที่มีประชากรเป็นอันดับ 2 รองจากจีน และเตรียมจะแซงจีนในปีหน้า จากรายงานของ UN เต็มไปด้วยประชากรวัยหนุ่มสาว และมีที่ทางมากมาย

อินเดียจึงกลายเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง ‘โรงงานของโลก’ ที่จีนจะต้องจับตามองให้ดี
นโยบายล็อคดาวน์ของจีน และเหตุการณ์การประท้วงที่เกิดขึ้นที่โรงงานผลิต iPhone ในเมืองเจิ้งโจว ทำให้ Apple ส่งมอบ iPhone 14 ให้ลูกค้าได้ช้ากว่ากำหนด และได้กลายเป็นเชื้อไฟที่ทำให้ Apple ตัดสินใจเริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีน โดยย้ายฐานการผลิต iPhone บางส่วนไปยังอินเดีย และมีแผนที่จะย้ายฐานการ iPad ไปยังประเทศในแถบอาเซียน JP Morgan คาดว่า ภายในสิ้นปี 2022 นี้ ฐานการผลิตของ iPhone ราว 5% จะอยู่ในอินเดีย และ iPhone จะกลายเป็นสินค้า ‘Made in India’ ในราวๆ ปี 2025

นอกจากแรงขับเคลื่อนจากภาคเอกชนแล้ว รัฐบาลอินเดียก็ยังออกนโยบายสนับสนุน มอบสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากนานาชาติให้มาลงทุนที่อินเดีย อย่างไรก็ดี อุปสรรคด้านระบบทั้งราชการและเอกชน ก็ทำให้การเติบโตยังเป็นไปได้อย่างเชื่องช้าอยู่

 

 istock-1018041522



‘เวียดนาม’ โตแรงแบบ ดุดัน ไม่เกรงใจเพื่อนบ้าน

 

ด้านประเทศที่ปกครองในระบอบคอมมิวนิสท์เหมือนจีนอย่าง ‘เวียดนาม’ ก็เป็นประเทศเนื้อที่เนื้อหอมสุดๆ ในแถบประเทศอาเซียนเพื่อนบ้านของเรา World Bank ยกย่องเวียดนามว่า สามารถก้าวข้ามจากกลุ่มประเทศที่จนที่สุดในโลก มาสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ ภายใน 1 ชั่วคน นับตั้งแต่การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1986

ในปี 2021 ที่ผ่านมานั้น เวียดนามดึงดูดเงินกว่า 3.12 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นกว่า 1 ล้านล้านบาท ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นกว่า 9% จากปีก่อน โดยกว่า 60% ของเงินลงทุนดังกล่าวมาจากภาคการผลิต

อุตสาหกรรมในหมวดเครื่องแต่งกาย รองเท้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้านับเป็นจุดแข็งของเวียดนาม โดนแบรนด์ระดับโลกอย่าง Apple, Nike, Adidas และ Samsung ก็ล้วนแล้วแต่มีฐานการผลิตในเวียดนามแล้ว
 

 

(m)istock-160554760 



‘ไทย’ ก็ได้รับอานิสงส์โลกย้ายหนีจีน

 

ประเทศไทยของเราเองก็ไม่น้อยหน้า พาจุดเด่นด้านการเป็นฮับอุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์ ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ ดึงดูดนักลงทุนระดับนานาชาติอย่าง Sony และ Sharp ที่เลือกบ้านเราเป็นฐานการผลิต โดยแรงกดดันด้านสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ทำให้บริษัท Sharp ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตเครื่องพิมพ์บางส่วน มายังประเทศไทยในปี 2019 ในขณะที่ Sony ก็ประกาศปิดโรงงานสมาร์ทโฟนในปักกิ่งเพื่อลดต้นทุน และย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาอยู่ที่บ้านเรา

แม้บริษัทยักษ์ใหญ่ในจีนบางเจ้า ก็เลือกไทยเป็นฐานการผลิต อย่างเช่นบริษัท JinkoSolar ผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์จากเซี่ยงไฮ้ ก็เลือกไทยเป็นฮับด้านการผลิต เช่นเดียวกับผู้ผลิตรถ EV อย่าง BYD, MG และ GWM เอง มาปักธงให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้าน EV ของภูมิภาคอาเซียนเช่นกัน

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา BOI เผยว่า FDI ของไทยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าในช่วงปี 2020 ถึง 2021 สู่ระดับ 13.1 ล้านดอลลาร์ หรือ 4.55 พันล้านบาท

 

istock-1279820085


 
‘บังกลาเทศ’ อันดับ 2 เรื่องเสื้อผ้ารองจากจีน

 

หากคุณลองเดินไปที่ตู้เสื้อผ้า แล้วพลิกป้ายที่คอเสื้อขึ้นมาดู จะพบว่า ‘บังกาลเทศ’ กำลังค่อยๆ กลายเป็นหนึ่งผู้ผลิตเสื้อผ้ารายที่สำคัญของโลก เป็นผู้ส่งออกเสื้อผ้าอันดับสองรองจากจีน แม้ก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 จากปัญหาค่าแรงในประเทศจีนที่เริ่มถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ

หากถามว่าค่าแรงต่างกันแค่ไหน? ถ้าเทียบกับค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานในกว่างโจว ที่ 670 ดอลลาร์/เดือน (ราว 23,000 บาท) ค่าแรงเฉลี่ยของแรงงานชาวบังกลาเทศที่ 120 ดอลลาร์/เดือน (ราว 4,200 บาท) ก็จะถูกกว่าถึง 5 เท่า

แม้จะมีข่าวเสียหายเรื่องความปลอดภัยของแรงงาน จากกรณีตึกถล่มทับแรงงานชาวบังกาลเทศในปี 2013 ที่คร่าชีวิตแรงงานไปถึง 1,132 ราย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มนั้น เป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนมากที่สุด มากถึง 85% ของสินค้าส่งออกทั้งหมด มีมูลค่ากว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.45 ล้านล้านบาท) ในปี 2021 ซึ่งบังกลาเทศเองก็กำลังผลักดันอุตสาหกรรมอื่น ได้แก่ อุตสาหกรรมยา และการแปรรูปสินค้าเกษตร ให้เป็นดาวเด่นควบคู่กับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม
 

 

istock-166103292

 

‘มาเลเซีย’ เฝ้ารอวันคู่ค้าหันหน้าหนีจากจีน

 

โอกาสที่นานาชาติแห่ย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน เป็นโอกาสที่มาเลเซีย เฝ้าคอยอยู่นานแล้ว เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียเผยว่า มีโครงการอย่างน้อย 32 โครงการ ได้ย้ายเข้ามาตั้งโรงงานในมาเลเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่แม้จะเป็นช่วงโควิด มาเลเซียก็ยังสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศได้ จากผลพวงเรื่องค่าแรง และปัญหาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ

สำหรับดีลยักษ์ใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ การเข้าลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านชิปจากสหรัฐ ‘Micron’ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2018 ด้วยวงเงิน 339 ล้านดอลลาร์ (1.2 หมื่นล้านบาท) และบริษัท ‘Jabil’ ที่ผลิตชิ้นส่วนให้กับ iPhone ก็ได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังมาเลเซีย

 

กระแสเงินลงทุนจากต่างจากไหลเข้ามายังประเทศมาเลเซียกว่า 4.81 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.67 ล้านล้านดอลลาร์) ในปี 2021 นับเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์

 
ที่มา : Insider

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT