ข่าวเศรษฐกิจ

ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุดค่าออกแบบขยับขึ้น 10% ดันราคาขายบ้านใหมสูง

22 เม.ย. 66
ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุดค่าออกแบบขยับขึ้น 10% ดันราคาขายบ้านใหมสูง

เศรษฐกิจไทยปีนี้ มีภาพที่ชัดว่า เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเที่ยวในไทย ทำให้เกิดการบริโภคภายในประเทศ การบริการ อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะโรงแรม ร้านอาหารที่กลับมาคึกคัก ภาคการลงทุนก็มีต่างชาติสนใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่อีกปัจจัยที่เศรษฐกิจไทย และทั่วโลก คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จนทำให้นโยบายการเงินของทุกประเทศต่างพากันขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อเข้ามาควบคุมเงินเฟ้อ ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้น ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งไม่หยุด

อีกหนึ่งตัวชี้วัดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอีกตัวหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์

รายงานว่า ในไตรมาส 1/2566 ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน อยู่ที่ 134.4 เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากค่าตอบแทนหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบปรับขึ้นทุกรายการ 

โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ งานสถาปัตยกรรม 8.8% ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้างประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ สุขภัณฑ์ เพิ่มขึ้นกว่า 13.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานดังกล่าว ได้คำนวณราคาค่าก่อสร้างจากแบบบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 169 ตารางเมตร ใช้สมมติฐานระยะเวลาการก่อสร้างบ้านไว้ประมาณ 180 วัน นับรวมค่าดำเนินการ และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่ไม่นับรวมราคาที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน

ราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ทั้ง 7 รายการ ได้แก่ สุขภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ กระเบื้อง เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา ผลิตภัณฑ์คอนกรีต และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ” ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังพบว่า ราคาวัสดุก่อสร้าง ทั้งราคาสุขภัณฑ์มีการปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนในขณะที่ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 13.0% และคาดว่าเป็นผลมาจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง 

โดยจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตและภาคการขนส่งวัสดุก่อสร้าง ทำให้เกิดการถ่ายโอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปเป็นราคาค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัย 

ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้าง ประเภทงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการเช่นกัน จึงมีผลให้ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 1/2566 มีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจำแนกต้นทุนของงานก่อสร้าง ประเภทงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ พบว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยงานสถาปัตยกรรม มีสัดส่วน 65.6% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 8.8%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถือว่าเป็นหมวดที่มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด และเพิ่มขึ้น 3.0% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 

ราคาวัสดุก่อสร้าง

ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้าง งานวิศวกรรมโครงสร้าง มีสัดส่วน 28.0% ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565  

สำหรับต้นทุนงานก่อสร้างหมวดวัสดุก่อสร้าง พบว่า มีรายการที่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 

  1. สุขภัณฑ์ มีสัดส่วน 2.0% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง เป็นรายการที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด 13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  2. ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ มีสัดส่วน 16.7% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น 13.0% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 
  3. กระเบื้อง มีสัดส่วน 3.5% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง ราคาปรับเพิ่มขึ้น 10.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

ขณะที่ราคาวัสดุก่อสร้าง ประเภทเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีสัดส่วน 5.8% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง เป็นอีกรายการที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่มีสัดส่วน 4.3% ของหมวดวัสดุก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

โดยทั้งเหล็ก และคอนกรีต ยังต้องจับตาดูในไตรมาส 2/2566 ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หรือลดลง เนื่องจากไตรมาสนี้ เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีก่อน ราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นเพราะผู้ประกอบการยังไม่ได้ส่งผ่านต้นทุนที่แท้จริงให้กับผู้บริโภค 

เรื่องนี้เราคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง ว่าในไตรมาส 2/2566 นี้ จะมีราคาวัสดุก่อสร้าง หรือสินค้าใดปรับขึ้นอีกบ้าง เพราะแบงก์ชาติเองก็เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ประกอบการยังส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังผู้บริโภคไม่หมด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT