มีรายงานข่าวว่าราคาน้ำตาลทรายขายปลีกมีการปรับขึ้นโดยราคาอยู่ที่ประมาณ กก.ละ 26-29 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด ใครต้องเดินตลาดวันนี้ลองสำรวจราคากันใหม่ว่าแพงขึ้นจริงหรือไม่ เนื่องจากยังไม่ได้มีการเคาะราคาน้ำตาลทรายจากทางคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กนอ.) ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปกันภายในเดือน พ.ย. นี้ แต่ก็มีการขึ้นราคากันในหลายพื้นที่แล้ว
คาดว่า ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกที่ปรับขึ้น เป็นผลมาจากราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานปรับขึ้นแล้วประมาณ 4-5 บาท/กก. ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายขาวขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 23-24 บาท จากเดิม 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ขึ้นไปอยู่ที่ 24-25 บาท จากเดิม 20 บาท ตามราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดโลก บวกพรีเมี่ยมคิดกลับเป็นเงินไทยที่อ่อนค่าราคาขยับสูงขึ้นมากอยู่ที่ กก.ละ 27-28 บาท
ขณะที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) อยู่ระหว่างเสนอราคาน้ำตาลที่ใช้ในการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ฤดูการผลิตปี 2566/67 ต่อคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กนอ.) ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ซึ่งจะประชุมภายในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งจะได้เคาะราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานจะปรับขึ้นแค่ไหน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวลคือ หากราคาน้ำตาลทรายปรับขึ้นไปจากที่เป็นอยู่อีก ซึ่งหลายฝ่ายเกรงว่า ราคาน้ำตาลทรายขายปลีกจะเกิน 30 บาท/กก.จะย่อมส่งผลให้ราคาสินค้าอื่น ๆ ที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นส่วนประกอบต้องปรับขึ้นราคาตามทั้งน้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง นมและผลิตภัณฑ์ รวมถึงขนม เบเกอรี่ อาหาร กลายเป็นภาระค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้นอีก
ส่วนทาง บล.ดาโอ ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวานนี้ ( 26 ต.ค.66) ว่า การปรับเพิ่มราคาน้ำตาลทรายในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นสูงถึง 21% หลังจากปรับขึ้นล่าสุดในเดือนม.ค. 66 ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนสินค้าที่ใช้น้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้การขึ้นราคาน้ำตาลทรายในประเทศครั้งนี้มาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก ทั้งราคาอ้อยที่สูงขึ้นจากภัยแล้ง ที่ทำให้ผลผลิตลดลง
ขณะที่นายรังสิต เฮียงราช เลขานุการ 3 สมาคมน้ำตาลทราย(TSMC) ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อ(สำนักข่าวไทย) ยอมรับว่า มีการหารือร่วมกัน ระหว่างชาวไร่อ้อยโรงงานน้ำตาล และคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) เรื่องการขอปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานเนื่องจาก ภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จากราคาอ้อยที่สูงขึ้น เพราะภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตลดลง คาดว่าการหีบอ้อยฤดูการผลิตปี 66/67 ผลผลิตอาจเหลือเพียง 75-80 ล้านตัน หรือลดลง 10% จากปี 65/66 ซึ่งคากว่า ปริมาณน้ำตาลที่ได้ก็จะลดลงเหลือประมาณ 8 ล้านตัน
ขณะที่ราคาน้ำตาลในประเทศไม่ได้มีการปรับมาเป็นเวลานาน ประกอบกับราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยราคาน้ำตาลทรายขาวพรีเมี่ยมตลาดโลกวันนี้อยู่ที่ 771 เหรียญสหรัฐต่อตัน หรือคิดเป็น 27.85 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงานอยู่ที่ 20 บาทต่อกิโลกรัมตั้งแต่ปีที่แล้วที่น้ำตาลในตลาดโลกเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชาวไร่อ้อยและโรงงานสูญรายได้ส่วนต่างนับหมื่นล้านบาท
และเพื่อไม่ให้น้ำตาลในประเทศขาดแคลน เนื่องจากการไหลออกไปต่างประเทศมากเกินไป จึงจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายหน้าโรงงานกิโลกรัม (กก.) ละ 4 บาท ซึ่งแบ่งเป็นการขึ้นราคาตามต้นทุนการผลิต กิโลกรัมละ 2 บาท และการเก็บเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อนำไปช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาล โดยไม่เผาอ้อยก่อนตัด เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับขึ้นตาม แต่ทั้งนี้ก็ต้องรอสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย(สอน.) ประกาศราคาอย่างเป็นทางการ
ปัจจุบันผลผลิตอ้อยทั่วโลกลดลง จากภาวะโลกร้อน เช่น ประเทศอินเดีย ที่เป็นคู่แข่งส่งออกน้ำตาลของไทยปริมาณผลผลิตน้ำตาลอาจจะเหลือเพียง 30 กว่าล้านตัน ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ส่วนประเทศบลาซิลเจอสภาพอากาศไม่แน่นอน ผลผลิตก็ลดลงเช่นเดียวกัน ปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกจึงมีแนวโน้มลดลง ขณะที่เมื่อดีมานด์ทั่วโลกสูง แต่ซัพพลายมีจำนวนจำกัดหรือลดลง ดังนั้นราคาก็อาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้น
“หากไม่ปรับขึ้นราคา โรงงานอาจจะหันไปจำหน่ายต่างประเทศมากขึ้น เพราะขายได้เงินมากกว่า ขณะที่ปัจจุบันน้ำตาลบ้านเราขายถูกกว่าประเทศอื่นๆมาก ดังนั้นจึงขอความเห็นใจให้กับชาวไร่และโรงงานด้วย” นายรังสิตกล่าว
ล่าสุด ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กรมฯ ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะกำกับดูแลสินค้าน้ำตาลทราย โดยเห็นว่า การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย ไม่ควรใช้เหตุผลปรับขึ้นเพื่อให้เท่ากับราคาน้ำตาลทรายตลาดโลก ที่ปัจจุบันอยู่ที่ กก.ละ 26.50 บาท เพราะไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลทรายรายใหญ่ ไม่ได้เป็นสินค้าที่ต้องนำเข้าเหมือนปุ๋ยเคมี หรือน้ำมัน ดังนั้น คนไทยไม่ควรต้องรับภาระซื้อน้ำตาลรายเท่ากับราคาตลาดโลก
ทั้งนี้ แต่ละปีไทยมีผลผลิตประมาณ 10 ล้านตัน บริโภคในประเทศทั้งใช้ในอุตสาหกรรมและครัวเรือน 2.5 ล้านตัน เหลือส่งออก 7.5 ล้านตัน จึงต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค และผลกระทบเกี่ยวเนื่องจากการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายด้วย
นอกจากนี้ ยังให้ความเห็นอีกว่า การปรับขึ้นราคากก.ละ 4 บาท แบ่งเป็น ปรับขึ้นตามต้นทุนกก.ละ 2 บาท และนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกก.ละ 2 บาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตัดอ้อยสดโดยไม่เผา และลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 นั้น เป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค ควรเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะเหมาะสมกว่าผลักภาระให้ประชาชน
สำหรับผลกระทบต่อการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องดื่ม ขนมหวาน ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาน้ำตาลทราย แต่ถ้าต่อไปมีการปรับขึ้นราคาจริง ก็จะพิจารณาต้นทุนอย่างเหมาะสม และดูต้นทุนอื่นๆ ประกอบด้วย เพราะแม้น้ำตาลทรายจะปรับขึ้นราคา แต่ต้นทุนอื่นอาจลดลง และโดยรวมแล้วผู้ผลิตอาจจะไม่มีผลกระทบเลยก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้ กรมฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบการจำหน่ายน้ำตาลทรายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในห้างค้าส่งค้าปลีก พบว่าราคายังเป็นปกติ ปริมาณมีเพียงพอ โดยราคาขายปลีกอยู่ที่กก.ละ 24-25 บาท ส่วนร้านค้าทั่วไป อาจสูงกว่านี้เล็กน้อย แล้วแต่ช่วงการค้า ที่อาจจะรับมาหลายต่อ หรือขึ้นอยู่กับการขนส่งใกล้ไกล
"จะจัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาจากข่าวที่เตรียมจะปรับขึ้นราคา เพราะขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะปรับขึ้นเท่าไร อย่างไร โดยจากที่ตรวจสอบดูประกาศราคาหน้าโรงงาน ที่ออกมาตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. ยังไม่มีเปลี่ยนแปลง ยังคงราคาเดิมกก.ละ 19-20 บาท แต่หากพบเห็นการฉวยโอกาส ก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ร.ต.จักรา กล่าว