Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
จับตาจีนในปี 2025 กับการขยายอิทธิพลผ่าน Soft Power จะไปได้ไกลแค่ไหน?
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

จับตาจีนในปี 2025 กับการขยายอิทธิพลผ่าน Soft Power จะไปได้ไกลแค่ไหน?

3 ม.ค. 68
07:30 น.
|
350
แชร์

"ซอฟต์พาวเวอร์" กลยุทธ์สร้างอิทธิพลในระดับโลก

ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นแนวคิดในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของโจเซฟ เอส. นาย (Joseph S. Nye) ซึ่งหมายถึงความสามารถของรัฐในการมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและพฤติกรรมของรัฐอื่นๆ ผ่านการโน้มน้าวใจแทนการใช้กำลังบังคับ ดังนั้นการขยายอำนาจในระดับโลกจึงกำลังเปลี่ยนจากวิธีแบบเดิมๆ เช่น กำลังทางทหารและเศรษฐกิจ ไปสู่วิธีการซอฟต์พาวเวอร์ ที่เน้นการใช้วัฒนธรรม อุดมการณ์ และสถาบันต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมาย

จีนเริ่มใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นกลยุทธ์สำคัญในการเสริมสร้างอิทธิพลในระดับโลกและบรรลุเป้าหมายแห่งชาติ โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) ได้เคยประกาศเอาไว้ในปี 2014 ว่า "จีนควรเพิ่มซอฟต์พาวเวอร์ เล่าเรื่องราวของจีนให้ดี และสื่อสารข้อความของจีนให้ดียิ่งขึ้น" ผ่านมาจนถึงปี 2025 นี้ เรามาจับตาไปพร้อมกันว่า จีนขยายซอฟต์พาวเวอร์ได้ขนาดไหน

การทูตแบบ Soft Power ของจีน

หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จีนใช้คือการทูตทางวัฒนธรรม (Cultural Diplomacy) ผ่านสถาบันขงจื๊อ (Confucius Institutes) และกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ รัฐบาลจีนได้ให้ความสำคัญกับการจัดตั้งสถาบันขงจื๊อร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วโลก โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมจีน รวมถึงสร้างความเข้าใจในประเพณีและค่านิยมของจีนในระดับสากล

นอกจากนี้ จีนยังจัดและเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น เทศกาลศิลปะ เทศกาลภาพยนตร์ การแข่งขันกีฬา นิทรรศการ และโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นๆ ได้รู้จักศิลปะ ประวัติศาสตร์ และประเพณีของจีน การดำเนินงานเหล่านี้ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และอิทธิพลระดับโลกของจีนผ่านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

อีกหนึ่งในทูตที่สำคัญของจีนก็คือ แพนดา จีนจัดส่งแพนดาให้ประเทศต่างๆทั่วโลกในฐานะทูตสันถวไมตรี จนทำให้มีการเรียกว่า “การทูตแพนดา” อย่างประเทศไทยเองก็เคยได้รับแพนดาจากจีนเช่นกัน คือช่วงช่วง และหลินฮุย ซึ่งโด่งดังไปทั่วประเทศ และในปี 2568 นี้ จีนยืนยันว่าจะมีการมอบแพนดาคู่ใหม่เป็นทูตสันถวไมตรีให้แก่ไทย

จีนกับการใช้กลยุทธ์เศรษฐกิจเพื่อเสริมสร้างอิทธิพลระดับโลก

จีนยังใช้พันธมิตรทางเศรษฐกิจเชิงกลยุทธ์ เช่น โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง หรือ Belt and Road  การให้เงินกู้และความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ รวมถึงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางนั้น มีเป้าหมายในการสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจผ่านเส้นทางบนบกจากจีนไปยังยุโรป และเส้นทางทางทะเลที่เชื่อมต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป

ขณะเดียวกัน จีนยังให้เงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาต่างๆ ในหลายประเทศ ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสร้างเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุนและธุรกิจของจีนในประเทศผู้รับเงินกู้

นอกจากนี้ จีนยังมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม หรือโรคระบาด เพื่อช่วยเหลือในภาวะวิกฤตและปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศที่ได้รับความเดือดร้อน

และล่าสุด จีนยังเป็นประเทศผู้ก่อตั้งความร่วมมือที่ชื่อว่า BRICS โดยกลุ่ม BRICS คือกลุ่มประเทศที่กำลังรวมตัวกันเป็นขั้วอำนาจใหม่ของเศรษฐกิจโลก โดยมีจุดประสงค์หลักในการคานอำนาจกับกลุ่มประเทศตะวันตกผ่านการสร้างระบบการเงินของตนเอง เช่น การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาใหม่ (NDB) กองทุนสำรองฉุกเฉิน (CRA) เพิ่มความร่วมมือทางการเงินระหว่างประเทศโลกใต้ ลดการพึ่งพาแหล่งเงินทุนของประเทศโลกเหนืออย่างธนาคารโลก สร้างระบบชำระและโอนย้ายเงินข้ามประเทศเป็นของตนเอง เพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจากระบบ SWIFT ของกลุ่มประเทศตะวันตก ไปจนถึงการสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกใช้สกุลเงินท้องถิ่นของตนเอง หรือสกุลเงินใหญ่ของชาติสมาชิก เช่น หยวน เป็นต้น

ปัจจุบัน กลุ่ม BRICS มีประเทศสมาชิก 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน แอฟริกาใต้ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา

C-Pop และ C-Series ยังเผชิญข้อจำกัดทางกฎหมายในจีน

แม้เราจะเห็นนักร้องไอดอลและซีรีย์จากจีนเพิ่มขึ้นในระยะหลัง แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือปัญหาข้อจำกัดทางกฎหมาย และวัฒนธรรมบางอย่างในประเทศ ส่งผลทำให้บริษัทจีนกำลังขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศอย่างไทย อย่างกรณีในปี 2018 บริษัทเทคโนโลยีจีน Tencent ได้ซื้อลิขสิทธิ์รายการ Produce 101 ซึ่งเป็นรายการประกวดค้นหาไอดอลที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในเกาหลีใต้ ทำให้เกิดกระแสการผลิตรายการประกวดหานักร้องตามมามากมาย เช่น Idol Producer, Youth With You, All For One, และ We Are Young

อย่างไรก็ตาม รายการเหล่านี้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการภายใต้กฎระเบียบของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ข้อบังคับเหล่านี้รวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ถือว่าไม่เหมาะสมหรืออ่อนไหวทางการเมือง การจำกัดการแสดงพฤติกรรมหรือไลฟ์สไตล์บางประเภท และการควบคุมอย่างเข้มงวดในการผลิตและเผยแพร่เนื้อหาด้านความบันเทิง การย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศจึงเป็นวิธีหนึ่งที่บริษัทจีนใช้เพื่อลดผลกระทบจากข้อจำกัดเหล่านี้

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขา หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของข้อจำกัดในจีนคือการปราบปราม “ผู้ชายสำอาง” หรือ niangpao (娘炮) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในเชิงลบต่อผู้ชายที่มีลักษณะหรือพฤติกรรมคล้ายผู้หญิง ในปี 2021 รัฐบาลจีนได้ออกคำสั่งห้ามผู้ชายเหล่านั้นปรากฏในรายการโทรทัศน์ สะท้อนถึงการผลักดันให้ส่งเสริมอุดมคติของความเป็นชายแบบดั้งเดิม

อีกตัวอย่างหนึ่งคือเหตุการณ์ “เทนมทิ้ง” ในรายการ Youth with You ซึ่งแฟนๆสามารถโหวตให้ผู้เข้าประกวดที่ตนเองชื่นชอบด้วยรหัสโหวตในนมยี่ห้อดัง ซึ่งเป็นสปอนเซอร์หลักของรายการ แต่แฟนๆซื้อนมมาจำนวนมากเพื่อหวังรหัส จึงเกิดการเทนมทิ้ง ไม่ดื่ม เหตุการณ์นี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง และนำไปสู่การออกข้อบังคับที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับจีน ทั้งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เผชิญกับอุปสรรคทางกฎหมายน้อยกว่าในด้านการส่งออกวัฒนธรรม J-Pop และ K-Pop

Fulcrum, Moderndiplomacy

แชร์
จับตาจีนในปี 2025 กับการขยายอิทธิพลผ่าน Soft Power จะไปได้ไกลแค่ไหน?