ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยในปี 2567 ที่ผ่านมามีจำนวนทะลุ 35 ล้านคน ถือว่าใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิดระบาดซึ่งเราเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากถึงเกือบ 40 ล้านคน และทำรายได้เกือบ 2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
แม้จะเป็นตัวเลขที่น่ายินดีที่เครื่องยนต์ภาคการท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจไทยมานานหลายปี จนเรียกได้ว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไว้เสมอ แต่คำถามที่น่าสนใจคือ อนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะยังหนุนเศรษฐกิจไทยได้ไกลแค่ไหน? และประเทศไทยจะปล่อยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นพระเอกเพียงลำพังได้จริงหรือ?
กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT รวบรวมข้อมูลจากหลายภาคส่วนเพื่อประเมินถึงอนาคตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และสะท้อนไปยังผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวของไทยให้ยั่งยืน และผลักดันเครื่องยนต์อื่นๆของเศรษฐกิจไทยได้มากกว่าให้ภาคการท่องเที่ยวแบกเศรษฐกิจไทยเพียงลำพัง
ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้รายงานสรุปการท่องเที่ยวไทยในปี 2567 ที่ผ่านมาว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยแล้ว มากกว่า 35 ล้านคนทะลุเป้าหมายที่ทาง ททท. ตั้งไว้และคาดว่าจะสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวกว่า 1.8 ล้านล้านบาท ตัวเลขการเติบโตในปี 2567 ถือว่า ใกล้เคียงกับปี 2562 ก่อนโควิด 19 ระบาด ซึ่งในเวลานั้น ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากเกือบ 40 ล้านคน ทำรายได้เฉียด 2 ล้านล้านบาทมีส่วนสำคัญต่อGDP มากราว 18%
จากนั้นมาเมื่อโควิด 19 ระบาด ทั่วโลกเกิดการล็อคดาวน์ การปิดประเทศส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยถูกกระทบอย่างหนักตั้งแต่ปี 2563 และลงไปต่ำสุดในปี 2564 ที่เหลือนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพียง 5แสนกว่าคน ทำรายได้เหลือไม่ถึงแสนล้านบาทแต่เมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลายภาคการท่องเที่ยวก็ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆโดยในปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวไทยกว่า 28 ล้านคน ทำรายได้กลับมา1.2 ล้านล้านบาท และมาในปี 2567 ถือว่าฟื้นตัวใกล้เคียงกับสถานการณ์ก่อนโควิดที่สุดแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการฟรีวีซ่าและนโยบาย Ease of Traveling กระตุ้นสายการบินเปิดเที่ยวบินใหม่ทั้งระยะใกล้และระยะไกล หนุนดีมานด์การท่องเที่ยวไทยช่วงไฮซีซั่นของปี 2567 พุ่งแรง
แต่ในปี 2568 นี้ น่าจะเป็นปีแรกที่ภาคการท่องเที่ยวจะกลับมามีนักท่องเที่ยวและรายได้เท่าหรือมากกว่าปี 2562 โดย ททท.ประเมินว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเป็น 36-39 ล้านคน และทำรายได้ 1.98 - 2.33 ล้านล้านบาท
แม้จะเป็นข่าวดีแต่หากวิเคราะห์จากตัวเลขการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นนั้นดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงลงทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ให้สัมภาษณ์กับรายการ SPOTLIGHT Live Talk ว่า การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง
‘ปี 2566 โควิดคลี่คลาย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 28 ล้านคน ปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 35 ล้านคน เท่ากับเพิ่มขึ้นราว 7 ล้านคน ปี 2568 ที่คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยราว 38 ล้านคน เท่ากับเพิ่มขึ้นอีกเพียงแค่ 3 ล้านคนเท่านั้น นั่นหมายถึงแรงส่งจากการท่องเที่ยวกำลังจะแผ่วลง’
สาเหตุนักท่องเที่ยวที่เริ่มชะลอลงมาจากทั้งสภาพเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในโลก รวมถึงรูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังโควิด ดังนั้น ในปี 2568 นี้การท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวอาจะไม่ใช่พระเอกขี่ม้าขาวมาแบกเศรษฐกิจไทยเหมือนในอดีตได้อีกต่อไป ภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจควรแข็งแรงและผลักดันจีดีพีไทยไปด้วยกัน เพราะในปี 2568 นี้เศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความเสี่ยงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามการค้าที่ที่น่าจะกระทบบรรยากาศการค้าโลก
บทความของธนาคารแห่งประเทศไทย หัวข้อ “ Future of tourism" รับมือการเปลี่ยนผ่านสู่การเติบโตอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน ระบุถึง การเติบโตเฉลี่ยของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาขยายตัวปีละ 10.4% ซึ่งสะท้อนชัดว่า ภาคการท่องเที่ยวเติบโตหนุนเศรษฐกิจมายาวนาน กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักคือกลุ่มระยะใกล้ เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ และอาเซียน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวไทยคิดเป็น 7.1% รวมถึงกลุ่มระยะไกลยังเติบโตต่อเนื่อง แต่หากประเมินถึงอนาคตการท่องเที่ยวไทย มีหลายปัจจัยที่จะส่งผลให้ภาคท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์ที่หนุนเศรษฐกิจไทย
1.เศรษฐกิจของประเทศต้นทาง (income effect) นั่นหมายถึงรายได้ต่อหัวของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวขาออก
2.ระยะทางระหว่างประเทศ (distance) สอดคล้องกับสัดส่วนนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ร้อยละ 75 เป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ ขณะที่มีปัจจัยหน่วงรั้งการท่องเที่ยวไทย ได้แก่ ความปลอดภัยและราคาพลังงาน ซึ่งสะท้อนต้นทุนการเดินทางและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มเติบโตได้ร้อยละ 3.2[ ต่อปี ตามที่ IMF ประเมินไว้ การประเมินจากแบบจำลองนี้ชี้ว่าจะสนับสนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ที่ 4-6% ต่อปี
แต่หลังโควิดเป็นต้นมา เราเคยได้ยินคำว่า อยากให้การท่องเที่ยวไทยเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ นั่นหมายถึงเราอาจจะไม่ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว แต่ตั้งเป้าไปที่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวไทย ทำให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทยสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมนี้อย่างแท้จริง
หลังโควิด 19 เป็นต้นมาดูเหมือนพฤติกรรมการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตได้ดีแต่ในเชิงคุณภาพที่ชี้วัดจากการใช้จ่ายกลับเป็นประเด็นที่ท้าทาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงสร้างของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทยเคยเข้ามาถึง 10 ล้านคนในปี 2562 ส่วนในปี 2567 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจีนกลับมาเที่ยวไทยราว 6.7 ล้านคน นอกจากจำนวนลดลงแล้วการใช้จ่ายต่อหัวที่เคยสูงก็ยังฟื้นตัวช้าอีกด้วย ประเมินว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยและการใช้จ่ายในการท่องเที่ยวด้วย
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากแนวโน้มพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นการหันมาเลือกบริโภค street food ทดแทนการบริโภคในร้านอาหารราคาแพง การเลือกซื้อสินค้าชิ้นพิเศษที่ผลิตในไทย เช่น สินค้าหัตถกรรม แทนที่จะซื้อของฝากครั้งละมาก ๆ และ การลดจำนวนวันพักให้สั้นลง ตามกระแสการท่องเที่ยวแบบ multi-countries ส่งผลให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปัจจุบันยังต่ำกว่าในอดีต
แนวทางที่จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยแข็งแรงขึ้นได้ คือ การมุ่งพัฒนาเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ในบทความของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวยังมีโอกาสขยายตัวโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เช่น wellness tourism การท่องเที่ยวเพื่อการกีฬา ดนตรี และอาหาร รวมถึงการท่องเที่ยวเพื่อการทำงานในกลุ่ม digital nomads แต่การดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ทั้งในมิติด้านทักษะแรงงานและการบริการเชิงสุขภาพ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการบริหารจัดการงาน event ขนาดใหญ่
เช่นเดียวกับปัจจัยด้านอุปทานทั้งสิ่งแวดล้อมและโครงสร้างพื้นฐานเป็นประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนต้องช่วยกันพัฒนาเพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเติบโตได้ในระยะยาว หากพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคท่องเที่ยวล่าสุด ดัชนี TTDI (Travel and Tourism Development Index) ของไทยหล่นจากอันดับ 35 ในปี 2565 เป็นอันดับ 47 จาก 119 ประเทศ ในปี 2567 และต่ำกว่าคู่แข่งในอาเซียนทั้ง สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
1.ความยั่งยืน ดัชนีหมวดผลกระทบจากภาคท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยอยู่ในอันดับ 106 จาก 119 ประเทศ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะแรงงาน รวมถึงการกระจุกตัวและพึ่งพานักท่องเที่ยวบางสัญชาติมากเกินไป และการกระจุกตัวของการท่องเที่ยวในช่วง high season
2.สภาพแวดล้อม โดยเฉพาะความปลอดภัยของไทยอยู่ในอันดับที่ 102 จาก 119 ประเทศ โดยไทยยังมีจุดอ่อนในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวที่ทั่วถึงและเป็นธรรม
3.โครงสร้างพื้นฐานของไทย ที่อยู่ในอันดับ 81 จาก 119 ประเทศ โดยไทยยังขาดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านบริการ อาทิ แพลตฟอร์มการจองที่พักที่เที่ยว รวมทั้งการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง และระหว่างประเทศในภูมิภาค ที่จะช่วยเพิ่มระยะวันพักของนักท่องเที่ยวในไทยให้นานขึ้น
บทวิเคราะห์ของ SCB EIC เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวโดยตรงรายได้หลักของธุรกิจมาจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติพบว่า ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงแรมอยู่ระหว่างการฟื้นตัวและต้องพึ่งพิงรายได้จากภาคการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นหลักหลังจากได้รับผลกระทบจากจากวิกฤต โควิด-19 โดยภายในประเทศเองรัฐบาลมีการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เช่น การออกโครงการเราเที่ยวด้วยกันถึงห้าเฟส สามารถจูงใจให้คนไทยเที่ยวในประเทศได้มากขึ้นจากตัวเลขผู้เยี่ยมเยือนไทยในปี 2023 สูงกว่าปี 2019 ราว 9% มาอยู่ที่ 248 ล้านคนส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมยังสามารถฟื้นตัวได้สะท้อนจากตัวเลขการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 69% ของอุปทานห้องพักทั้งหมดซึ่งใกล้เคียงกับปี 2019 ที่ 70%ขณะที่ราคาห้องพักเฉลี่ยยังฟื้นตัวอยู่ที่ราว 83% เมื่อเทียบกับปี 2019
ในปี 2025 อัตราการเข้าพักและราคาห้องพักเฉลี่ยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเล็กน้อยจากสถานการณ์การท่องเที่ยวในไทยที่กลับสู่ภาวะปกติโดยอัตราการเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 74% และราคาห้องพักเฉลี่ยปรับสูงขึ้นราว 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
แต่อย่างไรก็ตามธุรกิจโรงแรมต้องเผชิญกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปริมาณห้องพักที่จะทยอยเปิดให้บริการสะท้อนได้จากตัวเลขการออกใบอนุญาตก่อสร้างโรงแรมในช่วงปี 2021 ถึง 2023 กว่า 5,600 อาคารทั่วประเทศและส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้อย่างภูเก็ต สุราษฎร์ และพังงารวมถึงแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรองที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไทยอย่าง น่าน เชียงราย และจันทบุรี
ส่วนตัวเลขการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อการสร้างโรงแรมทั่วประเทศในช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2024 ยังเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 1,200 อาคารหรือเพิ่มขึ้นกว่า 38% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วส่งผลให้การแข่งขันมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องและอาจเข้าสู่ภาวะปริมาณห้องพักส่วนเกินในบางพื้นที่ ซึ่งจะกดดันการเติบโตของอัตราการเข้าพักเฉลี่ยในระยะข้างหน้าส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมมีโอกาสหันมาใช้กลยุทธ์ด้านราคามากขึ้นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวและจะกระทบต่อการเติบโตของราคาห้องพักเฉลี่ยตามไปด้วย
บทสรุปในยามที่เศรษฐกิจไทยถูกกระทบจากหลายปัจจัย แต่ภาคการท่องเที่ยวคือเครื่องยนต์ที่คอยประคับประคองให้จีดีพีไทยขยายตัวได้ ทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องเร่งพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อทำให้อุตสาหกรรมนี้แข็งแรง ยั่งยืน ซึ่งเป้าหมายของ ททท. ระบุว่า ต้องการจะผลักดัน GDP ภาคบริการและท่องเที่ยวให้มีสัดส่วนถึง 30% ภายในในปี 2573 ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “ซอฟต์พาวเวอร์” เพื่อส่งเสริมเสน่ห์ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ถึงกระนั้นเราก็อยากให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจอื่นๆของไทยแข็งแรงขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะการที่เศรษฐกิจพึ่งพาเครื่องยนต์เดียวจะถือเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยเช่นกัน
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย ,บทวิเคราะห์ SCB EIC ,การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย