ข่าวเศรษฐกิจ

แบงก์ชาติไทยตุนทองเพิ่ม 2.9 แสนลบ. ใน 3 ปี ลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ-สงคราม

1 พ.ย. 66
แบงก์ชาติไทยตุนทองเพิ่ม 2.9 แสนลบ. ใน 3 ปี ลดความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ-สงคราม

บลูมเบิร์ก รายงานว่า ตั้งแต่ปลายปี 2019 จนถึงวันที่ 20 ตุลาคม ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตุนทองคำสำรองเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 7.5 พันล้านเป็น 1.56 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นถึง 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.9 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพราะมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ช่วยรักษามูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศในช่วงที่โลกกำลังผจญกับภาวะเงินเฟ้อ และความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ได้

ในวันที่ 31 ตุลาคม สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการซื้อทองตุนเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าในช่วงปี 2019 ถึงปัจจุบัน เพราะมองว่าการเก็บเงินสำรองระหว่างในรูปแบบของทอง แทนที่จะเป็นเงินสกุลดอลลาร์เพียงอย่างเดียว เป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

โดยตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมที่กลุ่มติดอาวุธฮามาสเข้าโจมตีอิสราเอลจนทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ปะทุมาจนถึงปัจจุบัน ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นถึง 9% เพราะธนาคารและนักลงทุนเริ่มหาทองมาตุนเพื่อกระจายความเสี่ยงกันมากขึ้น

istock-1436030957

ที่ผ่านมา ไทยถือเป็นประเทศที่ซื้อทองคำเพื่อเป็นเก็บรักษาเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ถือครองทองคำมากที่สุดเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากจีน ซึ่งในช่วงปลายปี 2022 ได้ถือครองทองคำไว้ถึง 2,010.51 ตัน ขณะที่ไทยถือครองไว้ 244.16 ตัน

นางอลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การกระจายความเสี่ยงด้วยการถือสินทรัพย์ในหลากหลายรูปแบบเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ เพราะแบงก์ชาติต้องสร้างพอร์ตโฟลิโอที่พร้อมรับแรงกระแทกจากทุกวิกฤตที่เกิดขึ้นในตอนนี้ และอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยในขณะนี้ ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยต้องพบ คือ ภาวะเงินเฟ้อ และภาวะดอกเบี้ยสูงเป็นระยะเวลานานหลังช่วงระบาดของโควิดที่ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจและหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่า เศรษฐกิจของคู่ค้าและคู่ทำธุรกิจสำคัญอย่างจีนก็ยังไม่ฟื้นตัว และไม่มีเสถียรภาพ ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ที่อาจจะเข้ามาซ้ำเติมให้สภาวการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ดังนั้น การซื้อทองคำ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่รักษามูลค่าได้ดีแม้ในช่วงที่มีดอกเบี้ยต่ำ เงินดอลลาร์อ่อนค่า หรือมีเงินเฟ้อนั้น จึงเป็นเรื่องที่สมควรทำ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นมูลค่าสูงถึง 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.6 ล้านล้านบาท สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 2.3 เท่า เพราะแบงก์ชาติไทยได้เก็บตุนเงินจำนวนนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินเอเชียในปี 1997-1998 

นางอลิศรา ยังกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันแบงก์ชาติยังได้ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือกอีกหลายประเภท เช่น สินทรัพย์สีเขียวที่สนับสนุนบริษัทและธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการนำหลักการด้าน ESG ไปใช้ในนโยบายการรักษามูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศระยะยาว และทางแบงก์ชาติจะดำเนินการประเมินต่อไปว่าการถือสินทรัพย์เหล่านี้คุ้มค่า และรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้หรือไม่





 

ที่มา: Bloomberg 

advertisement

SPOTLIGHT