ข่าวเศรษฐกิจ

1 เดือนสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กับ 3 ผลกระทบสำคัญสะเทือนโลก

7 พ.ย. 66
1 เดือนสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์ กับ 3 ผลกระทบสำคัญสะเทือนโลก

ผ่านมาหนึ่งเดือนเต็มแล้วสำหรับสงครามความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ที่ปะทุขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม หลังกลุ่มติดอาวุธฮามาสของปาเลสไตน์เข้าบุกโจมตีอิสราเอล สังหารและจับประชาชนเป็นตัวประกัน จนทำให้มีการโจมตีโต้ตอบยืดเยื้อ และทำให้มีประชาชนทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตรวมกันมากกว่า 1 หมื่นชีวิตในปัจจุบัน

ความขัดแย้งในครั้งนี้นับว่าสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนในฉนวนกาซาที่ต้องรับการโจมตีอย่างหนักจากกองทัพอิสราเอลที่อ้างว่ากลุ่มฮามาสได้ใช้ประชาชนเป็นโล่กำบัง และแฝงตัวอยู่ในกาซา

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเสียหายภายในพื้นที่แล้ว ความขัดแย้งนี้ยังลุกลามไปเป็นปัญหาในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพราะนอกจากจะทำให้ความบาดหมางระหว่างชาติอาหรับและชาติตะวันตกที่สนับสนุนอิสราเอลเช่น สหรัฐฯ อังกฤษ และเยอรมนี เพิ่มขึ้นมากแล้ว ยังทำให้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในหลายพื้นที่ประเทศทั่วโลก รวมไปถึงมีการประณามการกระทำของอิสราเอลว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ด้วยการยิงระเบิดเข้าใส่ที่หลบภัย รวมไปถึงโรงพยาบาลในพื้นที่กาซา

342a8ca-highres

นอกจากนี้ ความขัดแย้งนี้ยังทำให้เศรษฐกิจของทั่วโลกต้องรับความเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มนอกจากความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย ทำให้สินทรัพย์ทั่วโลกมีการปรับตัว โดยเฉพาะ ‘ทอง’ ที่มีราคาสูงขึ้นจากการที่มีนักลงทุนเข้าไปซื้อเพื่อเก็บเป็นสินทรัพย์ในยามวิกฤต

นี่ทำให้เรียกได้ว่าความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งที่สะเทือนทั้งประชาชนในพื้นที่ การเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจในระดับโลก ในบทความนี้ทีม SPOLIGHT จึงอยากสรุปมาให้ทุกคนอ่านกันว่า ใน 1 เดือนที่ผ่านมาความขัดแย้งนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมแบบใดให้กับโลกแล้วบ้าง และมีโอกาสที่จะพัฒนาไปในทิศทางใดในอนาคต

กาซายับ ประชาชนเสียชีวิตแล้วกว่า 11,000 ราย ส่วนมากเป็นเด็ก

นับตั้งแต่เกิดความรุนแรงขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม หลังกลุ่มฮามาสเข้าโจมตีอิสราเอล ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,400 ราย และผู้ถูกจับเป็นตัวประกันประมาณ 240 ราย จนทำให้เกิดการโจมตีโต้ตอบของกองทัพอิสราเอล ในปัจจุบัน ทั้งสองฝ่ายมีประชาชนเสียชีวิตรวมแล้วมากกว่า 11,000 ราย โดยส่วนมากเป็นประชาชนชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในพื้นที่กาซา ซึ่งถูกโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักมาเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนเต็ม

จากข้อมูลล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม มีประชาชนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้ว 10,022 ราย โดยมีประมาณ 152 ถูกสังหารในพื้นที่เวสต์แบงก์ นอกนั้นเป็นประชาชนในพื้นที่ของฉนวนกาซา ซึ่งเป็นเด็กจำนวน 4,104 คน เป็นผู้หญิง 2,641 คน และเป็นผู้สูงอายุ 611 คน สะท้อนว่าผู้ที่เสียชีวิตส่วนมากหรือประมาณ 3 ใน 4 เป็นประชาชนกลุ่มเปราะบาง ไม่ใช่สมาชิกของกลุ่มฮามาส

34244tc-highres

การโจมตีของอิสราเอลทำให้เกิดวิกฤตทางมนุษยชนอย่างหนัก เพราะประชาชนส่วนมากในพื้นที่ขาดแคลนสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เสื้อผ้า น้ำสะอาด และเชื้อเพลิง ขณะที่โรงพยาบาลถูกโจมตี และขาดแคลนอุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วยอย่างหนักจนแพทย์ไม่สามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมไปถึงทำให้เกิดการขาดสัญญานอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์เป็นช่วงๆ ที่ทำให้ผู้คนภายในกาซาไม่สามารถติดต่อกับผู้คนภายนอกได้

โดยจากการรายงานของ CNN มากกว่า 60% ของโรงพยาบาลกาซาในขณะนี้ไม่สามารถใช้งานได้ และโรงพยาบาล Al-Quds ในกาซาที่ในปัจจุบันเป็นที่รักษาของประชาชนถึง 14,000 คนกำลังเสี่ยงขาดแคลนเชื้อเพลิงใน 48 ชั่วโมง รวมไปถึงอุปกรณ์ช่วยชีวิต ตู้อบเด็กแรกเกิด และอุปกรณ์สำหรับผู้ป่วยหนักอื่นๆ

ความเสียหายนี้ทำให้มีองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกรวมไปถึงสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ออกมาประกาศว่าการโจมตีแคมป์ผู้อพยพในกาซาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจะเข้าข่าย ‘อาชญากรรมสงคราม’ ได้ หากพิจารณาจากความเสียหายทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่

33zu3un-highres

ทั้งนี้ แม้จะมีกระแสต่อต้าน Benjamin Netanyahu นายกรัฐมนตรีของอิสราเอล รวมไปถึงกองทัพอิสราเอลยังยืนยันว่าจะโจมตีกาซาต่อไป จนกว่าจะกำจัดฮามาส และได้ตัวประกันทุกคนคืนกลับมา โดยจะไม่มีการหยุดยิง แต่อาจพักยิงชั่วคราวเพื่อเจรจาได้ และได้ประกาศให้ประชาชนอพยพจากกาซาเหนือไปกาซาใต้ รวมถึงอพยพไปอียิปต์ก่อนมีการเข้าบุกภาคพื้นดินอย่างจริงจังเพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาส แม้จะมีรายงานว่าการอพยพเป็นไปได้อย่างยากลำบากเพราะไม่มียานพาหนะ รวมไปถึงมียานพาหนะขนส่งถูกระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตในเส้นทางอพยพ

นอกจากนี้ นาย Netanyahu ยังประกาศว่าหลังสงครามสงบแล้ว อิสราเอลมีหน้าที่จะต้องเข้าไปควบคุมความปลอดภัยในพื้นที่ด้วย โดยจะเป็นการเข้าไปควบคุมแบบเป็น ‘ระยะเวลาไม่จำกัด’ 


องค์กรและประชาชนทั่วโลกเรียกร้องให้มีการหยุดยิง หวั่นสงครามลุกลาม 

นอกจากความขัดแย้งในพื้นที่แล้ว ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารทั้งในสื่อหลักและโซเชียลมีเดีย ประเด็นความขัดแย้งนี้ลุกลามกลายไปเป็นการประท้วง การร่วมกันบอยคอตต์สินค้าและบริการของบริษัทที่สนับสนุนอิสราเอล และความรุนแรงต่อทั้งชาวมุสลิมและชาวยิวทั่วโลก

นับตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ประชาชนในหลายประเทศได้ออกมาจัดการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศอาหรับ เช่น อียิปต์ อิรัก อิหร่าน จอร์แดน และเลบานอน รวมไปถึงประเทศตะวันตกอย่าง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ และประเทศในเอเชียแปซิฟิก อย่าง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น 

โดยในสหรัฐฯ ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากไม่พอใจการที่รัฐบาลให้เงินและอาวุธสนับสนุนแก่อิสราเอล มีการจัดการประท้วงมากกว่า 400 ครั้ง ในช่วง 10 วันหลังมีการโจมตีวันที่ 7 ตุลาคม และมีผู้เข้าร่วมประมาณ 180,000 คน 

afp.com-20231106-ph-gty-17677

นอกจากการประท้วงแล้ว ยังมีการรณรงค์ให้มีการบอยคอตต์บริษัทที่ให้เงินหรือออกตัวสนับสนุนอิสราเอล โดยเฉพาะสามบริษัทคือ Mcdonald’s, Starbuck’s และ Disney+ โดยในแอป TikTok แฮชแท็ก #boycottstarbucks ปัจจุบันมีผู้ชมถึง 76.3 ล้านวิว เพราะประชาชนไม่พอใจที่บริษัทฟ้องร้องสหภาพแรงงานโพสต์สนับสนุนประชาชนในกาซาในโซเชียลมีเดีย

กระแสความไม่พอใจของผู้คน ทำให้องค์กรนานาชาติและผู้นำของหลายๆ ประเทศเริ่มตื่นตัวและออกมาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน โดยในวันที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา องค์กรของสหประชาชาติรวมไปถึงองค์กรช่วยเหลือทางมนุษยชน 18 องค์ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในพื้นที่อิสราเอลและปาเลสไตน์ 

ขณะที่ในวันเดียวกัน นาย แอนโทนี จอห์น บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ยังได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีของอิรัก เพื่อพูดคุยเป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังเข้าเยี่ยมอิสราเอลและผู้นำอาหรับในจอร์แดนในวันที่ 4 พฤศจิกายน ก่อนในวันที่ 6 พฤศจิกายน จะเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกี สะท้อนท่าทีของสหรัฐฯ ต่อประเทศอาหรับที่มีความประนีประนอมมากขึ้น

จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งได้กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงสำหรับคนทั่วโลก ซึ่งแบ่งคนออกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลถึงความนิยมของตัวผู้นำในแต่ละประเทศด้วย ทำให้เหล่าผู้นำต้องมีความระมัดระวังมากขึ้นในการออกตัวสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

33zy4ln-highres

 

สงครามสะเทือนศก.โลก ราคาทองพุ่งหลังนักลงทุนแห่ซื้อเก็บ

หากไม่มีการลุกลาม ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ตุลาคม จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกไม่ใหญ่นัก เพราะอิสราเอลไม่ใช่ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เกี่ยวพันกับหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงไม่ใช่ผู้ส่งออกสินค้าสำคัญเช่น น้ำมัน หรือสินค้าทางการเกษตร เหมือนกับรัสเซียและยูเครน ทำให้หากไม่มีประเทศอื่นเข้าไปเกี่ยวข้องผสมโรงด้วย ความขัดแย้งนี้ก็จะไม่ทำให้สภาพเศรษฐกิจโลกเลวร้ายลงมากนัก

อย่างไรก็ตาม หลังจากความขัดแย้งยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลาถึงหนึ่งเดือน และทั่วโลกเห็นหลายประเทศมหาอำนาจเริ่มเข้าไปมีบทบาทในสงครามนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตกอื่นๆ และประเทศมหาอำนาจด้านน้ำมันอย่างอิหร่าน นักวิเคราะห์และนักลงทุนก็เริ่มมองว่าความขัดแย้งนี้มีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปเป็นสงครามระดับภูมิภาคมากขึ้น และอาจกลายไปเป็นสงครามตัวแทนระหว่างชาติตะวันตกและชาติอาหรับที่แน่นอนว่าจะส่งผลต่อทั้งตลาดหุ้น และราคาน้ำมันที่ชาติอาหรับเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อยู่

ความเสี่ยงนี้ทำให้นักลงทุนเริ่มมองหาสินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยง และสินทรัพย์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดก็หนีไม่พ้น ‘ทอง’ เพราะเป็นสินทรัพย์ที่ราคาค่อนข้างคงที่ สามารถใช้เก็บเงินได้ ราคาไม่ผันผวนมากเหมือนสินทรัพย์ทั่วไป เช่น หุ้น หรือสินทรัพย์ดิจิทัล

ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคมจนถึงปัจจุบัน ราคา Spot Gold เพิ่มขึ้นกว่า 7% โดยขึ้นมาอยู่ที่ 1,971.43 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 7 พฤศจิกายน เวลา 13.30 น. จาก 1,833.01 ในวันที่ 6 ตุลาคม และพีคสูงสุดในวันที่  2,006.37 ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ 27 ตุลาคม

จากบทวิเคราะห์สถานการณ์ทองคำของ MTS Gold ประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน ราคาทองคําปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 หลังจากที่ภาพรวมของสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสลดความตึงเครียดลง แต่ยังคงยืดเยื้อต่อเนื่อง ตลาดจึงให้ความสําคัญลดลงเนื่องจากมองว่าไม่น่าจะกระทบต่อการขนส่งนํ้ามัน และคาดว่าจะไม่ลุกลามออกมานอกภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ราคาทองคํายังมีแรงเทขายเข้ามาในตลาดต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาทองคําร่วงลงจากระดับ 1,990 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมาปิดที่บริเวณ 1,977 ดอลลาร์สหรัฐ โดยปริมาณการซื้อขาย Gold Online Futures อยู่ที่ 59,863 คู่สัญญา ขณะที่กองทุนทองคํา SPDR เมื่อวานนี้ซื้อเข้า 4.33 ตัน ปัจจุบันถือครองที่ 867.57 ตัน

MTS Gold มองว่าราคาทองคําในระยะสั้นเริ่มเข้าสู่ทิศทางแนวโน้มขาลงจากการปรับฐาน โดยราคาทองคําหลุดระดับ 1,980 ดอลลาร์สหรัฐลงมา ดังนั้นจึงแนะนําให้นักลงทุนระมัดระวังการกลับทิศทางในระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งหากวิเคราะห์จากในช่วงสงครามยูเครนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าราคาทองคํามีโอกาสกลับลงไปที่ระดับ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐได้ 



 

อ้างอิง: CNN, Al Jazeera, Bloomberg, VoA, MTS Gold

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT