ถนนพระราม 2 เป็นถนนสายหนึ่งที่ขึ้นชื่อในเรื่องความรถติด เป็นเส้นทางอันตรายในการใช้รถใช้ถนน เนื่องจากการก่อสร้างซ่อมแซมที่ลากยาวมาหลายสิบปี “แบบไม่จบไม่สิ้น”
ล่าสุด ถนนสายนี้ก็กลายเป็นจำเลยของสังคมอีกครั้ง เพราะถูกชาวเน็ตชี้ว่าเป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวหัวหินและชะอำกันน้อยลง เพราะเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง ที่มีรถติดยาว จึงเลือกที่จะไปเที่ยวชลบุรีหรือพัทยาแทน เพราะการเดินทางที่สะดวก สบาย มีมอเตอร์เวย์ ใช้เวลาเพียงไม่นานก็ถึง
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ ถนนพระราม 2 และย้อนไทม์ไลน์ในการก่อสร้าง และขยายถนนพระราม 2 กันว่า ทำไมจึงยังอยู่ในช่วงก่อสร้างซ่อมแซมมายาวนานถึง 54 ปี จนได้ชื่อว่า “ถนน 7 ชั่วโคตร” ที่สร้างยาวสร้างนานจนขนาดคนในพื้นที่เองนั้น มีผู้คนที่เกิดและเสียชีวิตไปหลายต่อหลายรุ่นแล้วก็ยังสร้างไม่เสร็จ
ถนนพระรามที่ 2 ปัจจุบัน มีชื่อเรียกว่า ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 สายดาวคะนอง-วังมะนาว ตัดผ่านกรุงเทพฯ สมุทรสาคร และราชบุรี และช่วยย่นระยะทางไปภาคใต้ให้สั้นกว่า เส้นทางในถนนเพชรเกษมประมาณ 40 กิโลเมตร ทำให้ถนนพระรามที่ 2 ถือเป็นเส้นทางบกสำคัญที่เชื่อมภาคกลางสู่ภาคใต้ และหากใครจะเดินทางหรือขนส่งสินค้าทางรถยนต์ก็จะต้องแล่นรถผ่านเส้นทางนี้เป็นหลัก
แต่ก่อนจะมาเป็นถนนทางหลวงขนาดใหญ่แบบทุกวันนี้ ถนนพระราม 2 เคยเป็นเพียงถนนเล็ก 2 เลนมาก่อน โดยก่อสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร ในปี พ.ศ. 2513 และสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2516
ทั้งนี้ เนื่องจากพื้นที่ที่ถนนพระราม 2 ตัดผ่าน เป็นพื้นที่ที่มี ‘พื้นดินอ่อน’ ทำให้เมื่อมีผู้ใช้ถนนสายนี้สัญจรมากขึ้น พื้นถนนก็ทรุดตัวจนมีน้ำท่วมขัง ผิวถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
ดังนั้น รัฐบาลจึงได้จัดให้มีโครงการก่อสร้างขยายถนนพระราม 2 ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2532 เพื่อขยายช่องจราจรจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร พร้อมสร้างทางแยกต่างระดับอีก 4 แห่ง ได้แก่ บางขุนเทียน สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และวังมะนาว และสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2537
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2539 เมื่อเริ่มมีการก่อสร้างชุมชน รวมไปถึงย่านอุตสาหกรรมจนมีผู้ใช้ถนนสายนี้มากขึ้นจนการจราจรหนาแน่น รัฐบาลจึงได้ตัดสินใจขยายถนนพระราม 2 ครั้งใหญ่ ด้วยการขยายถนนช่วงสามแยกบางปะแก้วถึงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน เป็น 14 ช่องจราจร แบ่งออกเป็นช่องทางหลัก 8 ช่องจราจร และช่องทางขนานข้างละ 3 ช่องจราจร และสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2543
ทั้งนี้ แม้จะมีการขยายถนนครั้งใหญ่ไปแล้ว ถนนพระราม 2 ในฐานะเส้นทางสำคัญทั้งด้านการท่องเที่ยวและการขนส่ง ก็ต้องมีการปรับปรุงขยายเติมต่อเรื่อยๆ ในหลายช่วงถนน เพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้นของทั้งผู้สัญจร และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เกิดเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น รวมถึง ซ่อมแซมถนนที่ผุพังลงจากการใช้งาน ดังนั้น ถนนพระราม 2 จึงมีการก่อสร้างอยู่เรื่อยๆ จนกลายเป็นถนนที่เหมือนไม่มีวันสร้างเสร็จ
โดยนอกจากการขยายช่องทางจราจรใน 2 ครั้งแรกแล้ว ถนนพระราม 2 ยังมีการก่อสร้างใหญ่อีกอย่างน้อย 8 ครั้ง เพื่อขยายเส้นทางการจราจร ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปัจจุบัน ดังนี้
นอกจากโครงการก่อสร้างเหล่านี้แล้ว ถนนพระราม 2 ยังมีโครงการใหญ่ในอนาคตอีก 1 โครงการที่จะเข้ามาทำให้การเดินทางไปภาคใต้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น นั่นก็คือ โครงการก่อสร้างทางหลวงมอเตอร์เวย์สาย 8 (นครปฐม-ชะอำ) ซึ่งจะมีระยะทางรวม 109 กม. และมีการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 นครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. และช่วงที่ 2 ปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง 48 กม.
ในปัจจุบัน กรมทางหลวง (ทล.) อยู่ระหว่างเสนอแผนความต้องการเงินกู้ระยะปานกลาง 5 ปี (ปี พ.ศ. 2567-2571) ซึ่งหาก ครม. ใหม่พิจารณาเห็นชอบแล้ว กรมทางหลวงก็จะเริ่มจัดกรรมสิทธิ์และเวนคืนที่ดินภายในปี พ.ศ. 2568-2569
หลังจากนั้น จะเริ่มเปิดประมูลให้เอกชนร่วมลงทุนภายในปี พ.ศ. 2568 เริ่มดำเนินการก่อสร้างภายในปี พ.ศ. 2569 และคาดว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วที่สุดในปี พ.ศ. 2573
ฉะนั้น อาจจะเรียกได้ว่าชาวพระราม 2 และผู้ที่ต้องใช้ถนนเส้นนี้เป็นประจำไม่น่าจะมีหวังเห็นถนนพระราม 2 เสร็จสมบูรณ์ในเร็วๆ นี้ เนื่องจากต้องมีการก่อสร้างปรับปรุงเรื่อยๆ ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรจะปรับระยะเวลาและรูปแบบการก่อสร้างเพื่อให้กระทบกับผู้ใช้ถนนน้อยที่สุด ดูแลให้ถนนที่สร้างหรือปรับปรุงใหม่มีความทนทาน เหมาะสมกับปริมาณการใช้ รวมไปถึงควบคุมให้ผู้ใช้ถนนโดยเฉพาะ ‘รถบรรทุก’ ไม่บรรทุกน้ำหนักเกิน จนทำให้พื้นถนนทรุดและต้องมีการซ่อมแซมเรื่อยๆ
โดยในปัจจุบัน ย่านพระราม 2 ส่วนใหญ่ เป็นแหล่งงานอุตสาหกรรม มีโรงงาน และธุรกิจรายเล็กและรายกลางเกิดขึ้นจำนวนมาก ย่านนี้จึงเป็นทั้งแหล่งทำงาน และแหล่งที่อยู่อาศัย ที่ดึงดูดให้คนเข้าไป และทำให้มีการเดินทางสัญจรหนาแน่นตลอดเวลา