คุณดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by SEEK เผยว่า จากรายงานการจ้างงาน ค่าตอบแทน และสวัสดิการประจำปี 2567 โดยแบบสำรวจนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจาก 685 บริษัทในหลากหลายอุตสาหกรรมและตำแหน่งงานในประเทศไทย แนวโน้มสถานการณ์ปี 2567 การจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการสำหรับตลาดแรงงานในประเทศไทย โดย Jobsdb by SEEK ผลสำรวจพบว่า แนวโน้มการจ้างงานในปี 2567 ยังคงอยู่ในเทรนด์ชีวิตแบบวิถีใหม่หรือนิวนอร์มอล ที่เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานรวมถึงการทำงานระยะไกล โดยร้อยละ 54 ของผู้ประกอบการมั่นใจว่าใน ครึ่งปีแรกตลาดงานจะมีความคึกคักอันเนื่องมาจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจและการหางาน เชิงรุกของผู้สมัครงาน
ปี 2567 ธุรกิจไทยยังจ้างงานเพิ่มกว่าครึ่ง
ในปี 2567 ผลการสำรวจพบว่าบริษัททุกขนาดมีแนวโน้มที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานถึงร้อยละ 51 โดยพนักงานตามสัญญาจ้างและพนักงานชั่วคราวยังคงมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการควบคู่ไปกับพนักงานประจำ โดยคำนึงถึงเป้าหมายธุรกิจเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจ การจัดการจำนวนพนักงานอย่างเหมาะสม รวมถึงการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ซึ่งบริษัทขนาดเล็กตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนพนักงานถึงร้อยละ 54 เนื่องจากมีความมั่นใจในโอกาสการเติบโตและตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันบริษัทขนาดกลาง ร้อยละ 59 แม้จะไม่มีแนวโน้มเพิ่มพนักงาน แต่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาพนักงาน เพื่อดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยไม่ลดขนาดหรือหยุดชะงัก
การปรับค่าตอบแทนให้พนักงานประเมินจากเงินเฟ้อ
สำหรับการเพิ่มศักยภาพให้พนักงาน ค่าจ้างเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพนักงาน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็ส่งผลต่อกลยุทธ์การจ่ายค่าตอบแทนและสวัสดิการพนักงานของผู้ประกอบการ โดยร้อยละ 56 ใช้ตัวชี้วัดด้านเงินเดือนในการรักษาพนักงานไว้ ตามมาด้วยการเพิ่มหรือปรับสวัสดิการใหม่ที่ร้อยละ 52 รวมถึงการประเมินแนวทางหรือนโยบายการจ่ายเงิน การเปรียบเทียบสวัสดิการ การพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างการจ่ายเงินเดือน การใช้อัตราเงินเฟ้อในการคำนวณปรับเงินเดือน ซี่งจากการสำรวจพบจุดที่น่าสนใจว่าร้อยละ 24 ของผู้ประกอบการคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในการคำนวณส่วนเพิ่มและผู้ประกอบการเกือบทุกรายอ้างว่าอัตราที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นสอดคล้องหรือสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ
ทั้งนี้จากการฟื้นตัวต่อเนื่องหลังสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2566 บริษัทส่วนใหญ่ขึ้นเงินเดือนให้พนักงานเฉลี่ยที่ร้อยละ 6.69 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อของประเทศในปี 2565 ทำให้พนักงานได้เงินเดือนครอบคลุมในส่วนที่ต้องเสียไปและยังได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ส่วนการประเมินโบนัสตามผลการปฏิบัติงานในปี 2566 มีค่าเฉลี่ยการจ่ายโบนัสอยู่ที่ 1.5 เดือน โดยร้อยละ 72 ของบริษัทมีการอธิบายวิธีการคำนวณการจ่ายโบนัสให้กับพนักงาน ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ประกอบการและพนักงานในการการเปิดเผยอย่างโปร่งใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจและอนาคตที่ดีกำลังเกิดขึ้นในตลาดแรงงานของไทย
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ร้อยละ 99 บริษัทมีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 คน โดยร้อยละ 97 เป็นพนักงานประจำแบบเต็มเวลา แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างบุคลากรที่มีความมั่นคงและทำงานในระยะยาว ลำดับถัดมาร้อยละ 36 จะเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างหรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดตารางเวลา ต้นทุนด้านสวัสดิการ ปริมาณงาน ทักษะ ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้คนที่ต้องการความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว (Work life Balance)
จุดที่น่าสนใจคือพนักงานตามสัญญาจ้างหรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา ได้รับการจ้างงานเพิ่มขึ้นจากธุรกิจทุกขนาด คิดเป็นร้อยละ 17 ในธุรกิจขนาดเล็ก ร้อยละ 22 ในธุรกิจขนาดกลางและร้อยละ 20 ในธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งคาดว่ามาจากเหตุผลข้างต้น
ภาพรวมการจ้างงานในปี 2566 พบว่า ตำแหน่งธุรการ/ทรัพยากรบุคคลและตำแหน่งบัญชี มาเป็นอันดับหนึ่งที่ร้อยละ 42 ถัดมาคือตำแหน่งการขาย/พัฒนาธุรกิจ ร้อยละ 42 ตำแหน่งการตลาด/การสร้างแบรนด์ ร้อยละ 24 และตำแหน่งวิศวกร ร้อยละ 20 ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของตำแหน่งงานเหล่านี้ในธุรกิจยุคปัจจุบัน
ส่วนการลดจำนวนพนักงานในภาพรวมคิดเป็นร้อยละ 19 โดยร้อยละ 13 เป็นพนักงานประจำแบบเต็มเวลาในตำแหน่งการขาย/พัฒนาธุรกิจ ตำแหน่งธุรการ/ทรัพยากรบุคคล ตำแหน่งการบริการลูกค้า ตำแหน่งบัญชีและตำแหน่งการตลาด/การสร้างแบรนด์ ส่วนพนักงานตามสัญญาจ้างหรือพนักงานชั่วคราวแบบเต็มเวลา คิดเป็นร้อยละ 7 โดยส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีอัตราการลดสูงสุด คาดว่ามาจากการปรับโครงสร้างแผนก การลดขนาดและต้องการผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น