ในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนทั้งจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และภาวะเงินเฟ้อแบบในปัจจุบัน ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์เนื้อหอมที่ใครๆ ก็อยากซื้อมาเก็บใส่พอร์ต เพราะถือเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำที่เป็นที่พักเงิน หรือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่ถือไว้นานๆ อย่างไรก็ได้กำไร
ตั้งแต่ต้นปี 2024 จนถึงปัจจุบัน (26 เม.ย.) ราคาทองคำเพิ่มขึ้นมาแล้วประมาณเกือบ 300 ดอลลาร์สหรัฐ จาก 2,058.96 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ มาเป็น 2,342.57 ดอลลาร์สหรัฐต่ออนซ์ และเคยขึ้นไปสูงสุดที่ 2,431.52 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ในวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนราคาในไทยเองก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกวันจากการสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอน
แต่ก่อนจะมาเป็นทองอย่างที่เราเคยเห็นกันในร้าน เคยสงสัยหรือไม่ว่าทองคำเหล่านี้ผลิตมาจากไหน? และต้องผ่านกระบวนอะไรมาบ้างกว่าจะมาถึงมือผู้บริโภค
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองและแปรรูปทองกันว่าปัจจุบันประเทศใดเป็นผู้นำด้านการผลิตทอง ประเทศใดมีทรัพยากรทองที่ยังไม่ได้ขุดมากที่สุด และแร่ทองต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างกว่าจะมาเป็นทองที่เราซื้อมาเก็บสะสมไว้ได้
ทองคำ เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่พบได้ในหินเกือบทุกชนิด โดยเฉลี่ยแล้วมีประมาณ 0.0035 กรัมต่อตันในเปลือกโลก และมีประมาณ 0.00003 ตันในน้ำทะเล แต่จะมีบางบริเวณเท่านั้นที่มีสภาพทางธรณีวิทยาเหมาะสมต่อการสะสมตัวของทองคำ และเกิดเป็น “แหล่งแร่ทองคำ” ได้ ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดได้เป็น 2 แบบ คือ
ข้อมูลของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ระบุว่า โลกนี้มีทองที่ค้นพบแล้วทั้งหมด 244,000 ตัน ซึ่งถ้าเอามารวมกันทำเป็นลูกบาศก์ ลูกบาศก์นี้จะมีความกว้างและความยาวประมาณ 23 เมตรในทุกด้าน
ปัจจุบัน ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่ามนุษย์นำแร่ทองออกจากเปลือกโลกและน้ำทะเลมาแล้วกี่ตัน แต่จากการคาดการณ์ของสภาทองคำโลก (Word Gold Council) มนุษย์ได้ขุดแร่ทองคำออกมาใช้แล้วประมาณ 212,582 ตัน และประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณนั้นถูกขุดออกมาหลังปี 1950 เป็นต้นมา
นี่เท่ากับว่า โลกของเราเหลือแร่ทองที่ยังไม่ได้ถูกขุดออกมาใช้อีกเพียงไม่กี่หมื่นตัน และเนื่องจากทองเป็นธาตุที่ทำลายได้ยากจนแทบเป็นไปไม่ได้ ทองที่ถูกขุดออกมาก็จะถูกหมุนเวียนใช้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสินทรัพย์ในรูปแบบทองแท่ง ในรูปแบบเครื่องประดับ หรือเครื่องใช้เช่น เป็นส่วนประกอบในเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือสื่อสาร อากาศยาน หรือสินค้าอื่นๆ
จากข้อมูลของ Statista ในปี 2023 ประเทศที่มีทรัพยากรแร่ทองมากที่สุดในโลก คือ ‘ออสเตรเลีย’ ซึ่งมีจำนวนทรัพยากรทองเก็บไว้อยู่ 12,000 ตัน รองลงมาเป็น ‘รัสเซีย’ ที่มีทรัพยากรอยู่ 11,100 ตัน และ ‘แอฟริกาใต้’ ที่มีอยู่ 5,000 ตัน ทำให้จำนวนแร่ทองที่เหลืออยู่ในเปลือกโลกหรือธรรมชาติในขณะนี้ อยู่ในการครอบครองของ 3 ประเทศนี้ทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้ออสเตรเลียจะเป็นประเทศที่มีแร่ทองเก็บไว้มากที่สุดในโลก แต่ออสเตรเลียกลับไม่ใช่ผู้ผลิตทองรายใหญที่สุดในโลกในขณะนี้ แต่เป็น ‘จีน’ ที่ในปี 2023 ผลิตทองออกมาเป็นจำนวนถึง 370 ตัน โดยบริษัทที่รับผิดชอบผลิตทองในจีน 3 รายใหญ่ คือ China Gold International Resources, Shandong Gold และ Zijin Mining Group
ทั้งนี้ ข้อมูลของ OEC ระบุว่า ในปี 2022 จีนส่งออกทองเป็นมูลค่าทั้งหมด 5.03 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2024 จีนส่งออกทองเป็นมูลค่าถึง 234 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 231% จาก 70.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023
ถัดจากจีน ประเทศที่ผลิตทองมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือ ‘ออสเตรเลีย’ ที่ในปี 2023 ผลิตทองไปทั้งหมด 310 ตัน โดยทองถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญของออสเตรเลีย และทำรายได้ให้ออสเตรเลยไปทั้งหมดถึง 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือราว 5.8 แสนล้านบาทในปี 2022/2023
และอีกประเทศที่ผลิตทองได้มากไม่แพ้กัน คือ ‘รัสเซีย’ ที่ในปี 2023 ผลิตทองได้ทั้งหมด 310 ตัน เท่ากัน แต่ปัจจุบันรัสเซียกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะยังอยู่ในภาวะสงครามกับยูเครน และถูกหลายๆ ประเทศตะวันคว่ำบาตร ทำให้รัสเซียต้องขายทองให้กับกลุ่มประเทศอื่นแทน เช่น กลุ่มประเทศ BRICs (อินเดีย จีน และบราซิล) และคาซักสถาน
สำหรับรายชื่อประเทศเจ้าของแร่ทองและผู้ผลิตทอง 10 อันดับแรกของโลก ประเทศอาเซียนประเทศเดียวที่ติดอันดับ คือ ‘อินโดนีเซีย’ ที่เป็นประเทศที่มีแร่ทองมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ที่ 2,600 ตัน และเป็นประเทศที่ผลิตทองได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ของโลก ที่ 110 ตันในปี 2023
จากข้อมูลของสำนักทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีแหล่งแร่ทองทำจำนวนทั้งหมด 32 แหล่ง รวมปริมาณประมาณ 148 ตัน โดยสามารถแบ่งได้ทั้งหมดจํานวน 5 แนวหลัก คือ แนวเลย-เพชรบูรณ์-ปราจีนบุรี, แนวเชียงราย-แพร่-ตาก, แนวชลบุรี-นราธิวาส, แนวเชียงราย-ลําปาง-แม่ฮ่องสอน และแนวกาญจนบุรี – ประจวบคีรีขันธ์ - พังงา
ใน 5 แนวดังกล่าว แนวที่มีทรัพยากรแร่ทองสมบูรณ์ที่สุด คือ แนวเลย – เพชรบูรณ์ – ปราจีนบุรี โดยเริ่มตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย อุดรธานี เพชรบูรณ์ พิจิตร ลพบุรี ปราจีนบุรี สระแก้ว แนวนี้มีแหล่งแร่ทองคําจํานวน 7 แหล่ง ซึ่งมีปริมาณทรัพยากรแร่ทองคํารวมถึง 64 ตัน หรือประมาณ 43% ของปริมาณแร่ทองที่ไทยมีทั้งหมด
เช่นเดียวกับการผลิตสินค้าแบบอื่นๆ แร่ทองก็ต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ในซัพพลายเชน เช่นกัน กว่าจะออกมาเป็นทองคำที่เราหาซื้อได้ตามร้านทอง หรือนำไปใช้ในการผลิตสินค้าต่างๆ ได้ โดยต้องผ่านมือตั้งแต่ ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรทอง→บริษัทเหมืองแร่ที่ได้สิทธิเข้าไปขุดแร่→ผู้ค้าทองหรือผู้ส่งออกทอง→ผู้ขนส่งทอง→ผู้หลอมและสกัดทอง→ผู้ค้าทอง→ผู้ผลิตชิ้นส่วนจากทอง→ผู้รีไซเคิลทองที่จะส่งทองไปยังผู้หลอมและสกัดทองนำกลับมาขึ้นรูปและใช้ได้อีกครั้งหนึ่ง
ปัจจุบัน แต่ละประเทศที่มีทรัพยากรทองมีกฎหมายและระเบียบในการให้สัมปทานหรือสิทธิกับหน่วยงานรัฐหรือเอกชนเป็นผู้ขุดทองแตกต่างกัน เพราะบางประเทศอาจไม่เปิดให้เอกชนเข้าไปขุดและทำธุรกิจเหมืองแร่ทอง โดยปัจจุบันการทำเหมืองแร่ทองคำมีวิธีใหญ่ๆ 2 วิธีคือ
เมื่อได้แร่ทองออกมาแล้ว ทองที่ออกจากเหมืองแร่ส่วนมากจะผ่านผู้ค้าทองหรือส่งออกทองในประเทศที่จะส่งต่อทองให้ผู้หลอมและสกัดทองออกมาเป็นสินค้ารูปแบบต่างๆ ซึ่งสินค้าที่ได้ก็จะเป็นทองที่มีความบริสุทธิ์แตกต่างกันไป ส่งต่อไปให้ผู้ค้าทองที่จะนำทองไปขายให้กับผู้ซื้อ โดยอาจจะเป็นผู้บริโภครายย่อย หรือผู้ผลิตต่างๆ ที่จะนำทองไปผลิตสินค้าของตัวเองอีกทีหนึ่ง เช่น แผงวงตรไฟฟ้า และชิปเซ็ต เพราะทองเป็นธาตุที่นำไฟฟ้าได้ดี และไม่ขึ้นสนิมหรือถูกกัดก่อนเหมือนเงินหรือทองแดง
อ้างอิง: World Gold Council, Statista, USGS, OEC, MineSpider