ในช่วงนี้ สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนและนักธุรกิจในเอเชียจับตามองก็คือ ‘ค่าเงิน’ เพราะในปัจจุบันสกุลเงินเอเชียนั้นอ่อนค่าลงอย่างมาก โดยเฉพาะค่าเงิน ‘เยน’ ของญี่ปุ่นที่เมื่อวันที่ 29 เมษายน อ่อนค่าทะลุระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปีที่ 160 เยนต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ
แม้ปัจจุบันเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นมาแล้ว หลังธนาคารกลางญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซง สถานการณ์ก็ยังไม่นิ่ง เพราะถ้าปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินเอเชียอยู่อย่างอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นยังไม่มีทีท่าที่จะลดลง และถ้าปล่อยให้อ่อนค่าลงไปอีกโดยไม่แทรกแซง ก็อาจจะเป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ เพราะจะเพิ่มต้นทุนในการนำเข้าสินค้า และเพิ่มมูลค่าหนี้ต่างประเทศ
ดอกเบี้ยธนาคารกลางของสหรัฐฯ เกี่ยวอะไรกับสกุลเงินในเอเชีย?
ทำไมค่าเงินที่อ่อนลงจึงเพิ่มต้นทุนในการนำเข้าสินค้า และเพิ่มมูลคาหนี้ต่างประเทศ?
เพื่อให้ทุกคนเข้าใจคอนเซปและความสำคัญของค่าเงินกันมากขึ้น ในวันนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปรู้จักกลไกค่าเงินกันว่าทำงานอย่างไร อะไรทำให้ค่าเงินผันผวน และหากอ่อนค่าหรือแข็งค่ามากเกินไปจะส่งผลเสียอย่างไรบ้างต่อระบบเศรษฐกิจของสกุลเงินนั้นๆ
‘สกุลเงิน’ ปัจจัยสะท้อนสภาพเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบัน แต่ละประเทศจะมีสกุลเงินเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยน และเป็นตัวกำหนดมูลค่าราคาสินค้าและบริการภายในประเทศ
ทั้งนี้ ในเมื่อปัจจุบันแต่ละประเทศมีการติดต่อค้าขายกันอย่างแพร่หลาย และต้องมีการแปลงมูลค่าสินค้าในสกุลเงินหนึ่งมาเป็นอีกสกุลเมื่อมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า สกุลเงินจึงกลายสภาพเป็นสินค้าหนึ่งตามไปด้วย ซึ่งจะมีมูลค่าและราคาขึ้นลงตามดีมานด์หรือความต้องการของคนที่จะถือค่าเงินนั้นๆ
โดยหากกล่าวเปรียบเทียบง่ายๆ ‘ค่าเงิน’ ก็คือ ราคาในการซื้อเงินสกุลหนึ่งด้วยการใช้เงินสกุลอื่น เช่น ถ้าในตอนนี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มีค่าเท่ากับ 37 บาท ก็เท่ากับว่าเราต้องใช้เงิน 37 บาท ในการซื้อเงินหนึ่งดอลลาร์ และถ้าหากเงินดอลลาร์เป็นที่ต้องการมากขึ้นจนมีค่ามากขึ้น เช่น มีค่า 40 บาท คนไทยก็จะต้องจ่ายแพงขึ้นในการซื้อเงินดอลลาร์ ซึ่งเราเรียกการเพิ่มขึ้นของค่าเงินนี้ว่า “การแข็งค่า”
ในทางกลับกัน หากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีค่าลดลง เช่น ลดลงเหลือ 34 บาท คนไทยก็จะสามารถจ่ายถูกลงในการซื้อเงินหนึ่งดอลลาร์ ซึ่งเราเรียกการลดลงของค่าเงินนี้ว่า “การอ่อนค่า”
ดังนั้น จากกลไกนี้จะเห็นได้ว่า เมื่อมีสกุลเงินหนึ่งแข็งค่าขึ้น อีกสกุลเงินหนึ่งที่ถูกนำมาเปรียบเทียบจะอ่อนค่าลงทันที ทำให้สภาพเศรษฐกิจของทั้งภายในและภายนอกประเทศสามารถส่งผลกระทบต่อค่าเงินในแต่ละประเทศได้ทั้งหมด
ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เงินแข็งค่าหรืออ่อนค่า?
อย่างที่ได้เกริ่นไป ค่าเงินนั้นจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเป็นที่ต้องการมากขึ้น และอ่อนค่าลงเมื่อไม่เป็นที่ต้องการตามกลไกตลาด และปัจจัยที่จะทำให้เงินแต่ละสกุลเป็นที่ต้องการมากขึ้นหรือน้อยลงก็มีทั้ง สภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อภายในประเทศ นโยบายการเงินของธนาคารกลาง นโยบายการคลังของรัฐบาลในการดำเนินเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมต่างๆ
โดยทั่วไป เงินจะแข็งค่าขึ้นเมื่อมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าไปในประเทศจำนวนมาก ทำให้เงินสกุลนั้นเป็นที่ต้องการ เช่น
- ในเวลาที่เศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ กำลังเติบโตได้ดี มีศักยภาพในการเติบโตสูง มีเสถียรภาพทางการเมือง ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปได้มาก
- มีการดำเนินนโยบายการเงินแบบหดตัว หรือดอกเบี้ยสูง ทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนสูงกว่า
- มีการเกินดุลการค้า คือมีการส่งออกสินค้ามากกว่านำเข้า ทำให้มีการแลกสกุลเงินอื่นเป็นสกุลเงินของประเทศส่งออกมากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับกรณีนี้ก็คือ เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ที่กำลังแข็งค่า เพราะเศรษฐกิจกำลังเติบโตได้ดี ทั้งด้านการบริโภคและการผลิต มีภาคเทคโนโลยีที่เติบโตได้ดีและมีมูลค่าสูง อีกทั้งยังมีเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งตัวคงระดับได้ในขณะนี้คือทีท่าของเฟดที่น่าจะคงระดับดอกเบี้ยนโยบายไปอีกระยะเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ
ในทางกลับกัน เงินจะอ่อนค่าลงเมื่อมีเงินทุนไหลออกจากประเทศนั้นๆ ทำให้เงินสกุลนั้นไม่เป็นที่ต้องการ เช่น
- เมื่อเศรษฐกิจในประเทศนั้นๆ อ่อนแอ ไม่น่าดึงดูดสำหรับนักธุรกิจและนักลงทุน เช่น มีปัญหาโครงสร้าง มีศักยภาพในการเติบโตต่ำ ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง มีปัญหาหนี้สาธารณะสูง
- มีการดำเนินนโยบายการเงินแบบขยายตัว คือมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ให้ผลตอบแทนในการลงทุนที่ต่ำกว่า
- มีการขาดดุลการค้า คือมีการนำเข้าสินค้ามากกว่าการส่งออก ทำให้ต้องมีการแลกเงินสกุลผู้นำเข้าเป็นเงินสกุลอื่นๆ มากเพื่อซื้อสินค้า
ค่าเงินแข็งค่าและอ่อนค่าส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร? ยิ่งแข็งยิ่งดีจริงหรือ?
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะคิดว่า ค่าเงินต้องแข็งเท่านั้นถึงจะถือว่าดี แต่แท้จริงแล้ว การขึ้นลงของค่าเงินเป็นการเปลี่ยนแปลงตามปกติตามกลไกตลาด และช่วยสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ไม่ว่าค่าเงินจะแข็งขึ้นหรืออ่อนลง ก็จะมีผู้ที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์แตกต่างกันไป โดยเฉพาะในภาคส่วนหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงิน และการค้าระหว่างประเทศ เช่น ภาคธนาคาร และภาคการนำเข้าส่งออก
โดยหากค่าเงินแข็งค่าขึ้น ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ก็คือ
- ผู้นำเข้าสินค้าที่จะนำเข้าสินค้าได้ในราคาที่ลดลง
- ผู้นำเข้าอุปกรณ์เครื่องจักรจากต่างประเทศที่จะมีต้นทุนจากการนำเข้าอุปกรณ์ และต้นทุนในการทำธุรกิจลดลง
- ผู้ที่มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพราะมูลค่าของหนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับเงินในประเทศ
- คนทั่วไปที่ต้องการซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศ ที่ซื้อได้ในราคาจะถูกลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินในประเทศ
แต่ในทางกลับกัน ผู้ที่จะเสียประโยชน์จากการที่ค่าเงินแข็งขึ้นก็คือ
- ผู้ส่งออก เพราะจะทำให้รายได้ที่รับมาเป็นสกุลต่างประเทศมีมูลค่าลดลงเมื่อแลกเป็นเงินในประเทศ
- ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่รับเป็นสกุลเงินต่างประเทศ เพราะจะสามารถแลกเป็นเงินในประเทศลดลง
- ผู้ที่ทำงานในต่างประเทศ เพราะแรงงานเหล่านี้จะนำรายได้ที่หามาได้จากต่างประเทศแลกกลับเป็นสกุลเงินในประเทศได้ลดลง
ดังนั้น การที่ค่าเงินแข็งค่าขึ้นหรืออ่อนลงนั้นจึงมีผลดีและผลเสียกับเศรษฐกิจแตกต่างกันไป และไม่สำคัญเท่ากับ ‘เสถียรภาพของค่าเงิน’ เพราะถึงการที่ค่าเงินเพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นจะเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเร็วหรือมากเกินไปก็ย่อมสร้างความเสียหาย เพราะทำให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคภายในประเทศไม่สามารถปรับตัวและรับมือได้ทัน
หนึ่งในตัวอย่างวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการผันผวนของค่าเงินก็คือ วิกฤติต้มยำกุ้งปี 1997-1998 ที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวอย่างรวดเร็วจาก 25 บาท เป็น 55 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ เพราะมีนักลงทุนต่างชาติโจมตีค่าเงินบาทด้วยการทำลายความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย โดยอาศัยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยที่อ่อนแอในขณะนั้น เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หนี้ระยะสั้นที่สูง และเงินสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำ จนทำให้ต่างชาติเทขายเงินบาท และแบงก์ชาติประกาศลอยตัวค่าเงิน
ดังนั้น ความท้าทายของการควบคุมค่าเงินคือ การที่กระทรวงการคลังและธนาคารกลางต้องวิเคราะห์สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจให้รอบคอบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินอ่อน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งจากแรงกดดันจากค่าเงินประเทศ หรือสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอ ต้องอ่อนระดับไหนถึงเรียกว่าอันตราย และต้องใช้วิธีการแทรกแซงเวลาไหนอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจในภาพรวม
ธนาคารกลางสามารถแทรกแซงค่าเงินได้อย่างไรบ้าง?
ในปัจจุบัน ธนาคารกลางควบคุมค่าเงินได้ด้วยการซื้อขายเงินตราต่างประเทศโดยใช้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อชะลอความผันผวนของค่าเงิน
เช่น หากธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป แบงก์ชาติก็จะเข้าซื้อเงินตราต่างประเทศและขายเงินบาท ทำให้เงินต่างประเทศเป็นที่ต้องการมากขึ้น ขณะที่ถ้าเงินบาทอ่อนเกินไป แบงก์ชาติจะเข้าซื้อเงินบาท และขายเงินต่างประเทศ เพื่อทำให้เงินบาทเป็นที่ต้องการมากขึ้น
นี่ทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากในการควบคุมค่าเงิน และยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็ยิ่งปลอดภัยเท่านั้น โดยจากข้อมูลวันที่ 19 เมษายน เงินสำรองระหว่างประเทศสุทธิของไทยอยู่ที่ 9.21 ล้านล้านบาท ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าการผันผวนของค่าเงินไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว เพราะสามารถคาดเดาและเตรียมตัวรับมือได้ หากการแข็งค่าหรืออ่อนตัวไม่เกิดขึ้นเร็วเกินไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางของแต่ละประเทศที่จะต้องควบคุม และซื้อเวลาให้นักธุรกิจ นักลงทุน รวมไปถึงผู้บริโภคภายในประเทศปรับตัวได้ทัน