ตลาดรถยนต์ในประเทศ กำลังชะลอตัวภายหลังมีการรายงานยอดขายรถในเดือน พ.ค.67 ออกมาพบว่า ตกลงหนักกว่า 20% สาเหตุหลักมาจากอัตราการปฏิเสธสินเชื่อพุ่งสูงขึ้น20% ทั้งรถใหม่และรถมือสอง
มาดูกันที่ยอดขายรถในประเทศซึ่งข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งประเทศไทยได้สรุปไว้ พบว่า การขายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 ยอดขายตลาดรวม 49,871 คัน ลดลง 23.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็นการลดลงทุกกลุ่ม ทั้งตลาดรถยนต์นั่ง ที่มีปริมาณการขาย 18,686 คัน ลดลง 28.1% ในขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 31,185 คัน ลดลง 20.2% และรถกระบะขนาด 1 ตัน ยอดขายทั้งหมด 17,651คัน ลดลงถึง 35.4%
สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศ 5 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 260,365 คัน แบ่งเป็น เดือน ม.ค. 54,814 คัน / เดือน ก.พ. 52,848 คัน /เดือน มี.ค. 56,099 คัน / เดือน เม.ย. 46,734 คัน
สาเหตุยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งขึ้น
SPOTLIGHT ได้รับข้อมูลเพิ่มเติมจากคุณ บุญหนา จงถิ่นสุวรรณ นายกสมาคมผู้เช่าซื้อไทย พบว่า ขณะนี้ยอดการปฏิเสธสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีอัตราเพิ่่มสูงมากขึ้นกว่าอดีต โดยหากเป็นรถยนต์ใหม่จากเดิมมีอัตราการปฏิเสธ ที่ 15% ขณะนี้เพิ่มเป็น 20% ขณะที่รถมือสอง เดิมเคยถูกปฏิเสธ 20 % เพิ่มเป็น 30 % ทั้งที่จำนวนคนซื้อรถหรือต้องการเช่าซื้อรถไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด แต่ยอดการถูกปฏิเสธกลับสูงขึ้น
สาเหตุของการถูกปฏิเสธสินเชื่อ คุณบุญหนาระบุว่า สถาบันการเงินไม่ได้ปรับเกณฑ์ใหม่ให้เข้มงวดขึ้นแต่อย่างใด โดยการพิจารณาปล่อยสินเชื่อยังใช้ระบบเดียวกันที่เรียกว่า Credit Scoring โดยแต่มีเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาปล่อยกู้คือ ฐานะการเงินของผู้กู้ต่อยอดการผ่อน หากสถาบันการเงินพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้กู้มีความเสี่ยงในการผ่อน ก็จะถูกปฏิเสธสินเชื่อได้ โดยอัตราส่วนต่างดังกล่าวแต่ละสถาบันการเงินกำหนดไว้แตกต่างกัน ซึ่งนั่นหมายถึง ผู้ที่ยื่นกู้ซื้อรถในปัจจุบันไม่ผ่านเกณฑ์การปล่อย ฐานะทางการเงินไม่มีความพร้อมในการเช่าซื้อรถ
ทั้งนี้พบว่า การผ่อนรถเฉลี่ยของคนไทยตอนนี้ยาวขึ้นกว่าในอดีต จากเดิม 5 ปี เป็น 7-8 ปี และตัวเลขหนี้เสียในกลุ่มเช่าซื้อรถยังสูง โดยรถใหม่ NPL ขยับขึ้นมากกว่า 2% ส่วนรถมือ 2 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3% และจำนวนรถที่ถูกยึดเข้าสู่ลานประมูลสูงขึ้นเป็น 300,000 คันจากเดิมเฉลี่ยปีละ 200,000 ซึ่งรถเหล่านี้มาจาก คนที่คืนรถ และ รถที่ถูกยึด
ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มไฮบริดดีขึ้น แต่รถไฟฟ้า100% ลดลง
ขณะที่ข้อมูลจากทางโตโยต้า นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย รายงานสถิติการขายรถยนต์ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 พบว่า ลดลงทุกกลุ่ม แต่ในส่วนของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า มียอดขายทั้งหมด 17,228 คัน คิดเป็นสัดส่วน 34.5% ของตลาดรถยนต์ทั้งหมด เติบโตขึ้น 17.9% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรถยนต์ประเภทไฮบริดมียอดขาย 10,986 คัน เติบโตขึ้น 92.1% ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า100% หรือ BEV อยู่ที่ 5,573 คัน ลดลง 28.8%
สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของค่ายรถต่างๆในประเทศไทยพบว่า ในเดือน พ.ค.67 ยอดขายอันดับที่ 1 คือ โตโยต้า อันดับที่ 2 อีซูซุ อันดับที่ 3 ฮอนด้า
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ เดือนพฤษภาคม 2567
1.ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 49,871 คัน ลดลง 23.4%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 19,504 คัน ลดลง 8.4% ส่วนแบ่งตลาด 39.1%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 7,883 คัน ลดลง 40.6% ส่วนแบ่งตลาด 15.8%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 6,527 คัน ลดลง 2.5% ส่วนแบ่งตลาด 13.1%
2.ตลาดรถยนต์นั่ง ปริมาณการขาย 18,686 คัน ลดลง 28.1%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 5,761 คัน ลดลง 30.3% ส่วนแบ่งตลาด 30.8%
อันดับที่ 2 ฮอนด้า 3,610 คัน ลดลง 18.2% ส่วนแบ่งตลาด 19.3%
อันดับที่ 3 มิตซูบิชิ 1,572 คัน เพิ่มขึ้น 4.4% ส่วนแบ่งตลาด 8.4%
3.ตลาดรถเพื่อการพาณิชย์ ปริมาณการขาย 31,185 คัน ลดลง 20.2%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 13,743 คัน เพิ่มขึ้น 5.5% ส่วนแบ่งตลาด 44.1%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 7,883 คัน ลดลง 40.6% ส่วนแบ่งตลาด 25.3%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 2,917 คัน เพิ่มขึ้น 27.8% ส่วนแบ่งตลาด 9.4%
4.ตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน (Pure Pick up และ รถกระบะดัดแปลง PPV*)
ปริมาณการขาย 17,651 คัน ลดลง 35.4%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 7,855 คัน ลดลง 23% ส่วนแบ่งตลาด 44.5%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 6,873 คัน ลดลง 43.3% ส่วนแบ่งตลาด 38.9%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 1,699 คัน ลดลง 43.2% ส่วนแบ่งตลาด 9.6%
*ปริมาณการขายรถกระบะดัดแปลง (ในตลาดรถกระบะขนาด 1 ตัน) 2,819 คัน
โตโยต้า 1,016 คัน - อีซูซุ 898 คัน – ฟอร์ด 543 คัน – มิตซูบิชิ 331 คัน – นิสสัน 31 คัน
5.ตลาดรถกระบะ Pure Pick up ปริมาณการขาย 14,832 คัน ลดลง 33.9%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 6,839 คัน ลดลง 20.8% ส่วนแบ่งตลาด 46.1%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 5,975 คัน ลดลง 40.6% ส่วนแบ่งตลาด 40.3%
อันดับที่ 3 ฟอร์ด 1,156 คัน ลดลง 49.4% ส่วนแบ่งตลาด 7.8%
ส่วนตลาดรถยนต์ในเดือนมิถุนายน มีแนวโน้มจะดีขึ้นจากเดือนพฤษภาคม แต่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงฟื้นตัวช้า และอัตราการปฏิเสธสินเชื่อยังคงตัวในระดับสูง