ข่าวเศรษฐกิจ

ส่องศักยภาพด้านการสร้างนวัตกรรม 4 ประเทศอาเซียน ใครพร้อมพัฒนาที่สุด?

13 ก.ค. 67
ส่องศักยภาพด้านการสร้างนวัตกรรม 4 ประเทศอาเซียน ใครพร้อมพัฒนาที่สุด?

ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจได้มากที่สุด ก็คือ อุตสาหกรรมเทคโนโลยี เพราะสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ กำลังเป็นที่ต้องการ และมีมูลค่าสูง โดยตัวอย่างประเทศที่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากที่สุดก็คือ สหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจคงความร้อนแรงอยู่ได้ เพราะมีบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จำนวนมากเป็น growth engine

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ประเทศที่มีศักยภาพในการพัฒนามากที่สุด ก็คือ ประเทศที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ มากที่สุด เพราะบริษัทต่างๆ ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ล้วนแต่กำลังมองหาเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลในการทำงาน ขณะที่คนทั่วไปก็กำลังมองหาอุปกรณ์หรือบริการแบบใหม่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น

ส่งผลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยต่างๆ ทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าไทยควรให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องของการวิจัยและพัฒนา หากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด และทำให้ไทยสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยทั้งทางตรง และทางอ้อมได้อีกครั้ง

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูศักยภาพด้านนวัตกรรมของไทย เปรียบเทียบกับอีก 3 ประเทศอาเซียน คือ เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์กันว่า กันเป็นอย่างไร เราอยู่ตรงไหนเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน? และเรายังมีจุดอ่อนในด้านใดบ้าง?

 

สวิตเซอร์แลนด์อันดับ 1 ของโลก ไทยอันดับที่ 43

สำหรับบทความนี้ ข้อมูลในการเปรียบเทียบศักยภาพด้านนวัตกรรมของทั้ง 4 ประเทศ มาจากรายงาน Global Innovation Index (GII) ประจำปี 2023 ซึ่งจัดทำโดย องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) เป็นประจำทุกปี 

GII มีจุดมุ่งหมายเพื่อวัดและเปรียบเทียบความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของ 132 ประเทศทั่วโลก ผ่านตัวชี้วัด 2 ประเภทเกี่ยวกับความก้าวหน้าและผลของการพัฒนาในด้านต่างๆ ได้แก่

1. ดัชนีทรัพยากรด้านนวัตกรรม (innovation input sub-index) โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของคะแนน 5 ปัจจัย ประกอบด้วย 

  • สถาบัน (institutions) เช่น เสถียรภาพทางการเมือง, ประสิทธิภาพของรัฐบาล และนโยบายในการทำธุรกิจและส่งเสริมการลงทุน เป็นต้น
  • ทุนมนุษย์และการวิจัย (human capital and research) เช่น การลงทุนในการศึกษา คะแนน PISA, จำนวนบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ และจำนวนนักวิจัยต่อประชากร 1 ล้านคน เป็นต้น
  • โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ, อัตราการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และคุณภาพโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
  • ศักยภาพทางการตลาด (market sophistication) เช่น การเข้าถึงเงินทุนและช่องทางในการระดมทุนของ SMEs และสตาร์ทอัพ, จำนวนและมูลค่าของ venture capital ที่บริษัทในประเทศได้รับ เป็นต้น
  • ศักยภาพทางธุรกิจ (business sophistication) เช่น การจ้างงานในตำแหน่งความรู้สูง (knowledge-intensive), รายได้ที่ได้จากทรัพย์สินทางปัญญา และ สัดส่วนและมูลค่าการนำเข้าและการส่งออกสินค้า High-Tech เป็นต้น

2. ดัชนีผลผลิตด้านนวัตกรรม (innovation output sub-index) โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยของคะแนน 2 ปัจจัย ประกอบด้วย 

  • ผลผลิตจากการพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี (knowledge and technology outputs) เช่น จำนวนสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร, จำนวนชิ้นงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้ตีพิมพ์ สัดส่วนการผลิตสินค้า High-Tech และ มูลค่ารวมของบริษัทยูนิคอร์นในประเทศ เป็นต้น
  • ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ (creative outputs) เช่น มูลค่าการส่งออกสินค้าด้านวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์ และ จำนวนภาพยนตร์ที่สร้างได้ในแต่ละปี เป็นต้น

จากการประเมินตัวชี้วัดต่างๆ ดังกล่าว พบว่า ประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงสุด 3 อันดับแรกคือ สวิตเซอร์แลนด์, สวีเดน และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ประเทศที่มีความสามารถด้านนวัตกรรมสูงสุดของเอเชียได้แก่ ‘สิงคโปร์’ ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 5 ของโลก รองลงมา คือ เกาหลีใต้ และจีน

ส่วนทางด้านของ ‘ประเทศไทย’ ความสามารถด้านนวัตกรรมอยู่ที่ 43 ของโลก จาก 132 ประเทศ เป็นปีที่ 3 ติตต่อกัน เป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง จาก 33 ประเทศ และอันดับที่ 9 ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และโอเชเนีย (SEAO) จาก 16 ประเทศ 

โดยจากผลการจัดอันดับ จะเห็นว่า หากเทียบกับกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ประเทศไทย ถือว่าทำได้เกินมาตรฐานในด้านผลผลิต ด้านความรู้และเทคโนโลยี แต่หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน ประเทศไทยถือว่า ทำได้ต่ำกว่ามาตรฐาน เพราะมีผู้นำด้านเทคโนโลยีมากมายในภูมิภาค เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

โดยรายงาน GII ระบุว่า ‘จุดแข็ง’ ด้านนวัตกรรมของไทย คือ การส่งออกสินค้าด้านวัฒนธรรม และ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (GERD) ในภาคเอกชนรายอุตสาหกรรม และ ‘จุดอ่อน’ คือ มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการด้านสารสนเทศ และ การนำเข้าสินค้าและเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ 

artboard1_9

 

ไทยยังขาดธุรกิจด้านนวัตกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้า High-Tech ต่ำ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านนัวตกรรมของไทยกับอีก 4 ประเทศอาเซียน จะพบว่า ไทยยังมีศักยภาพด้านนวัตกรรมค่อนข้างต่ำ ทั้งเมื่อเทียบประเทศที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจใกล้เคียงกันอย่างมาเลเซีย และประเทศที่มีศักยภาพด้านนวัตกรรมระดับสูงอย่างสิงคโปร์

ดังจะเห็นได้ว่า แม้ไทยจะมีการลงทุนกับการวิจัยและพัฒนาถึง 1.33% ของ GDP ทั้งหมด ซึ่งมากกว่าเวียดนาม และมาเลเซีย สัดส่วนการผลิตสินค้า High-Tech และมูลค่าการส่งออกสินค้า high-tech ของไทยกลับน้อยกว่ามาเลเซียมาก

กล่าวคือ ขณะที่ไทยผลิตสินค้า High-Tech ได้ในสัดส่วน 44.01% ของการผลิตสินค้าทั้งหมด มาเลเซียผลิตได้ 46.17% และขณะที่ไทยส่งออกสินค้า high-tech ได้ทั้งหมด 1.8 ล้านล้านบาท มาเลเซียส่งออกได้ถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นรองแม้แต่ เวียดนาม ที่แม้จะมีสัดส่วนการผลิตสินค้า high-tech น้อยกว่าประเทศอื่นๆ แต่กลับส่งออกสิงค้า high-tech ได้เป็นมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านบาท สะท้อนว่า สินค้า high-tech ที่เวียดนามผลิตได้นั้นอาจมีมูลค่ามากกว่าสินค้าที่ไทยผลิตได้

อีกปัจจัยที่สะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจด้านนวัตกรรมของประเทศได้ ก็คือ ‘อัตราการจ้างงานในตำแหน่งที่ใช้ทักษะความรู้สูง’ เพราะว่า อัตราการจ้างงานของงานตำแหน่ง knowledge-intensive ที่สูงจะสะท้อนว่า ในประเทศนั้นๆ มีธุรกิจที่ต้องการตำแหน่งงานระดับสูงเป็นจำนวนมาก เท่ากับว่ามีโครงสร้างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหญ่ และมีงานที่รองรับและดึงดูดแรงงานทักษะและความรู้สูงเป็นจำนวนมาก

โดยสำหรับตัวชี้วัดด้านนี้ พบว่า ไทยมีอัตราการจ้างงานแรงงานในตำแหน่งผู้ใช้ความรู้และทักษะสูงต่ำกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์อย่างเห็นได้ชัด โดยในขณะที่ไทยมีการจ้างงานความรู้สูงเพียง 13.66% มาเลเซียกลับมีการจ้างงานความรู้สูงถึง 28.24% และสิงคโปร์สูงถึง 59.87% ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ดึงให้ GDP per capita ของสิงคโปร์สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะงานความรู้สูงมักจะเป็นงานที่มีค่าตอบแทนสูงตามไปด้วย

สิงคโปร์ครบเครื่องเรื่องการพัฒนานวัตกรรม ไทยเรียนรู้อะไรได้บ้าง?

อย่างไรก็ตาม หากประเทศใดต้องการมองหาต้นแบบในการพัฒนาด้านนวัตกรรม คงไม่ต้องมองที่ไหนไกลนอกจาก ‘สิงคโปร์’ ซึ่งทำคะแนนนำโด่งทุกประเทศในเอเชียไปอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก ด้วยการพัฒนาที่ครบเครื่องทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนในการศึกษา การลงทุนในด้าน R&D ซึ่งสะท้อนออกมาในผลิตผลด้านเทคโนโลยีที่สูง

ข้อมูลในรายงาน GII ระบุว่า ในปี 2022 สิงคโปร์ลงทุนในการศึกษาถึง 2.55% ของ GDP ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมาก เพราะ GDP ปี 2022 ของสิงคโปร์ สูงถึง 4.67 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มีจำนวนบัณฑิตที่จบการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ถึง 36.27% ของจำนวนบัณฑิตทั้งหมด ขณะที่ไทยอยู่ที่เพียง 27.86% และมีแรงงานที่อยู่ในตำแหน่งความรู้สูงถึง 59.87% ของการจ้างงานทั้งหมด ขณะที่ไทยอยู่ที่เพียง 13.66%

นอกจากนี้ คุณภาพการศึกษาของสิงคโปร์ยังสะท้อนให้เห็นในอันดับคุณภาพมหาวิทยาลัยของ QS Ranking โดยขณะที่มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของสิงคโปร์ คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ อยู่ที่อันดับที่ 8 ของโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของไทย กลับอยู่อันดับไกลถึงอันดับที่ 229 ของโลก 

การส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้สิงคโปร์มีผลผลิตด้านนวัตกรรมที่ดี เช่น สัดส่วนการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงซึ่งอยู่ที่ 78.53% ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับไทยซึ่งอยู่ที่เพียง 44.01% และมีมูลค่าการส่งออกสินค้าระดับสูงที่สูงถึง 7 ล้านล้านบาท เทียบกับไทยซึ่งอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท 

สถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า หากไทยต้องการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมของประเทศ ไทยต้องลงทุนและสนับสนุนให้มีการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้มากขึ้น รวมถึง การส่งเสริมให้มีการลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อสร้างงานและดึงดูดคนมีความรู้สูงเข้ามาทำงานในประเทศ เพราะการส่งเสริมการศึกษาเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สร้างงานรองรับนั้นจะทำให้แรงงานที่มีคุณภาพเลือกออกไปทำงานต่างประเทศซึ่งให้ค่าตอบแทนที่ดีกว่า

ดังนั้น ถ้าหากประเทศไทยสามารถพัฒนาทั้งการศึกษาและการสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมรองรับแรงงานควบคู่กันไปได้สำเร็จ ไทยก็จะสามารถอุตสาหกรรมมูลค่าสูงขึ้นมาเป็น growth engine ใหม่ของประเทศ และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนได้

 

 

 

ที่มา: WIPO 





advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT