ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดนโยบายเดโมแครตภายใต้ ‘คามาลา แฮร์ริส’ เหมือนหรือต่างกับ ‘ไบเดน’ อย่างไร?

24 ก.ค. 67
เปิดนโยบายเดโมแครตภายใต้ ‘คามาลา แฮร์ริส’ เหมือนหรือต่างกับ ‘ไบเดน’ อย่างไร?

ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า ‘คามาลา แฮร์ริส’ หรือ ‘กมลา แฮร์ริส’ (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ จะได้เป็นตัวแทนชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปีนี้ 

หลังล่าสุด สำนักข่าว AP ออกมารายงานว่า แฮร์ริสได้เสียงรับรองจากผู้แทนเลือกตั้งของพรรคถึง 2,668 เสียงแล้ว ซึ่งมากกว่า 1,975 เสียง ที่แฮร์ริสต้องได้ในการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครต (Democratic National Convention) ซึ่งกำลังจะถูกจัดขึ้นในวันที่ 19-22 สิงหาคม นี้ ในเมืองชิคาโก

นอกจากนี้ ทีมทำแคมเปญเลือกตั้งสำหรับแฮร์ริสยังออกมาเผยอีกว่า ในเวลาเพียง 1 วัน หลังจากได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตของเดโมแครตสำหรับชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พรรคสามารถรวบรวมเงินสนับสนุนเพิ่มจากผู้บริจาคได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากผู้บริจาคบางส่วนหยุดไปเพราะมองว่า ‘โจ ไบเดน’ ไม่ใช่ตัวแทนที่เหมาะสมสำหรับพรรคเดโมแครต

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่า ภายใต้การนำของ ‘คามาลา แฮร์ริส’ นโยบายของพรรคเดโมแครตจะดำเนินไปในทิศทางไหน? และมีความเหมือนหรือแตกต่างกับนโยบายของไบเดนอย่างไรบ้าง?

เปิดนโยบายเดโมแครตภายใต้ ‘คามาลา แฮร์ริส’ เหมือนหรือต่างกับ ‘ไบเดน’ อย่างไร?

‘คามาลา’ กล้าชนเรื่องสิทธิมากกว่า ‘ไบเดน’ อาจเป็นข้อได้เปรียบ

จากโพลของ Reuters และ Ipsos ชี้ให้เห็นว่า‘คามาลา แฮร์ริส’ เป็นแคนดิเคตที่ได้รับความนิยมมากกว่าไบเดน และได้รับความนิยมพอๆ กับ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ โดยทั้งคู่ได้คะแนนนิยม 44% เท่ากัน เนื่องจากแฮร์ริสมีความพร้อมมากกว่าในด้านอายุ และสุขภาพร่างกาย โดยมีอายุเพียง 59 ปี และมีบิดามารดาเป็นผู้อพยพจากจาไมกาและอินเดีย ทำให้มีฐานเสียงเป็นกลุ่มคนผิวดำและผิวสีฝ่ายซ้ายอยู่แล้ว

ในด้านผลงาน แฮร์ริสยังมีประสบการณ์การทำงานเป็นอัยการเขต และอัยการสูงสุด และมีท่าทีแข็งกร้าวเด็ดขาดในการปราบปรามอาชญากรรม อีกทั้ง ยังออกตัวสนับสนุนสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชนมาตลอด เช่น สิทธิในการทำแท้ง ความเท่าเทียมทางเพศ ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และการต่อต้านการใช้ความรุนแรงของตำรวจ โดยเฉพาะกับประชากรผิวดำ

จากผลงานและการเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ แฮร์ริสจึงเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าทรัมป์อย่างเห็นได้ชัดในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีแนวคิดทางการเมืองเอนไปทางฝั่งซ้าย และให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ แฮร์ริสก็ยังมีจุดอ่อนอยู่ เห็นได้จากการหาเสียงสนับสนุนเพื่อเป็นแคนดิเดตของเดโมแครตในการเลือกตั้งปี 2020 ที่ความนิยมของแฮร์ริสลดลงอย่างรวดเร็วจนต้องถอนตัวไปในปลายปี 2019 เพราะ ‘ไปไม่สุด’ ในจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชน และเปลี่ยนใจความสำคัญในการหาเสียงบ่อยครั้งจนผู้ฟังสับสน และไม่ให้การสนับสนุนให้แฮร์ริสเป็นแคนดิเดตเดโมแครตแข่งกับไบเดนในขณะนั้นที่มีชื่อเสียงและหนักแน่นในการหาเสียงมากกว่า

นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฝ่ายซ้ายบางส่วน อาจลังเลที่จะเลือกแฮร์ริสเป็นประธานาธิบดี เพราะไม่เห็นด้วยกับการที่แฮร์ริสเคยออกตัวสนับสนุนอิสราเอลมาในอดีต และไม่คัดค้านที่ไบเดนออกเงินงบประมาณสนับสนุนอิสราเอลในการโจมตีกาซา

อย่างไรก็ตาม แฮร์ริสก็ไม่ได้มีจุดยืนด้านเดียวสำหรับประเด็นอิสราเอล เพราะแฮร์ริสเป็นนักการเมืองสหรัฐฯ คนแรกๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการหยุดยิงในการกาซา และเรียกความขัดแย้งนี้ว่าเป็น ‘หายนะ’ สำหรับประชาชนทั้งสองฝ่าย

ดังนั้น ในอนาคตแฮร์ริสอาจพยายามดึงเสียงประชาชนกลุ่มนี้ด้วยการแสดงจุดยืนที่แข็งแรงขึ้นในด้านสิทธิมนุษยชน และการลดการสนับสนุนอิสราเอลในการโจมตีกาซา

เปิดนโยบายเดโมแครตภายใต้ ‘คามาลา แฮร์ริส’ เหมือนหรือต่างกับ ‘ไบเดน’ อย่างไร?

เทียบนโยบาย ‘คามาลา - ไบเดน’ เรื่องต่อเรื่อง

โดยพื้นฐาน นโยบายของ คามาลา แฮร์ริส และ โจ ไบเดน ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะเป็นนโยบายจากฝั่งเดโมแครตเช่นเดียวกัน แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกันบ้างในประเด็นต่างๆ โดยหากเทียบ แนวคิดในเรื่องต่างๆ ของแฮร์ริสและไบเดนอาจมีจุดแตกต่างดังนี้

  • การค้าระหว่างประเทศและข้อตกลงการค้า

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ แฮร์ริสและไบเดนมีความเห็นไปในทางเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่มีจุดแตกต่างคือ การเข้าร่วม Trans-Pacific Partnership (TPP) หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ที่กำหนดขึ้นเพื่อเพิ่มการค้า การบริการและการลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิก ซึ่งดั้งเดิมประกอบไปด้วย 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา สิงคโปร์ มาเลเซีย และ เวียดนาม

โดยในปี 2016 ขณะที่แฮร์ริสเป็นผู้สมัครตำแหน่งวุฒิสภา แฮร์ริสได้แสดงความไม่เห็นด้วยที่สหรัฐฯ จะเข้าร่วมกับ TPP เพราะมองว่าจะเป็นการทำให้การผลิตและงานย้ายไปอยู่ที่เวียดนาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่ไบเดนเป็นผู้สนับสนุนของ TPP และต้องการให้สหรัฐฯ กลับเข้าไปเจรจากับ TPP ใหม่เพื่อปรับข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงานที่เป็นปัญหา หลังทรัมป์ถอนสหรัฐฯ ออกจาก TPP ในปี 2017 

ดังนั้น หากแฮร์ริสได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เธอก็ไม่น่าจะมีความพยายามที่จะนำสหรัฐฯ เข้าสู่ข้อตกลงนี้อีกครั้ง เพราะมองว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและแรงงานของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ แฮร์ริสยังต่อต้าน United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) หรือ ข้อตกลงการค้าแถบอเมริกาเหนือ ระหว่างประเทศสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา ที่ทรัมป์ตั้งขึ้นมาแทน NAFTA เพราะมองว่าจะส่งผลเสียต่องานและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ 

โดยไบเดนแม้ในตอนแรกจะมีท่าทีต่อต้าน USMCA แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนจุดยืนหลังจาก ‘แนนซี เพโลซี’ ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เจรจาข้อตกลงใหม่ให้เป็นไปตามความต้องการของเดโมแครตได้สำเร็จ

  • สิทธิในการทำแท้ง

เมื่อเทียบกับไบเดน แฮร์ริสมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากกว่าไบเดนอย่างเห็นได้ชัดในการสนับสนุนให้ผู้มีมดลูกในสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงบริการทำแท้งอย่างถูกกฎหมายได้ทั่วถึงในทุกรัฐ 

สิทธิในการทำแท้งในสหรัฐฯ ถูกลิดรอนไปในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2022 หลังศาลสูงสุดหรือศาลฎีกาสหรัฐอเมริกา (Supreme Court of the United States: SCOTUS) พิพากษายกเลิกคำตัดสินคดี Roe v Wade ที่เคยพิพากษาเมื่อปี 2516 ว่าการทำแท้งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ทำให้การทำแท้งกลายเป็นสิ่งขัดรัฐธรรมนูญ หรือผิดกฎหมาย

ก่อนหน้าที่จะเสนอชื่อแฮร์ริส ไบเดนเผยแผนที่จะนำคำตัดสินคดีนี้กลับมา และทำให้การทำแท้งกลายเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญในสหรัฐฯ อีกครั้ง 

ทั้งนี้ การนำกฎหมาย Roe v Wade กลับมาใช้นั้นไม่เพียงพอสำหรับแฮร์ริส เพราะกฎหมายนี้ยังเปิดให้แต่ละรัฐสามารถจำกัดการทำแท้งของประชากรในรัฐได้อยู่ เช่น การกำหนดคุณสมบัติแพทย์ที่สามารถทำแท้งได้ การจำกัดคุณสมบัติและจำนวนคลินิก และการกำหนดอายุครรภ์ที่สามารถทำแท้งได้ เป็นต้น

ดังนั้น แฮร์ริสจึงคิดที่จะทำให้กฎหมายสิทธิในการทำแท้งแข็งแรงมากกว่านั้น ด้วยการเสนอกฎหมายให้อำนาจแก่กระทรวงยุติธรรมให้มีสิทธิดูแลกฎหมายด้านการทำแท้งในแต่ละรัฐได้ โดยถ้าหากรัฐใดต้องการจำกัดสิทธิในการทำแท้งของประชากรในรัฐ จะต้องมาขออนุญาตกับกระทรวงยุติธรรมก่อน เพื่อให้กระทรวงฯ ตรวจสอบว่ากฎข้อจำกัดที่จะบังคับใช้นั้นขัดกับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ หรือไม่

  • เรื่องสิ่งแวดล้อมและการป้องกันผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน

สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งไบเดนและแฮร์ริสมีจุดยืนที่ดำเนินไปในทางเดียวกันคือการสนับสนุนให้มีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เพื่อให้การผลิตและใช้พลังงานในสหรัฐฯ เปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลเป็นพลังงานสะอาดโดยเร็ว

ทั้งนี้ เช่นเดียวกับเรื่องสิทธิในการทำแท้ง แฮร์ริสมีจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างสุดโต่งกว่าของไบเดน เพราะขณะที่แผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสีเขียวของไบเดนมีมูลค่าเพียง 1.6 ล้านล้ายดอลลาร์สหรัฐ แผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของแฮร์ริสจะมีมูลค่าถึง 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเพิ่มการเก็บค่าปล่อยมลพิษ และลดการให้เงินสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงฟอสซิลด้วย

นอกจากนี้ แตกต่างจากไบเดน แฮร์ริสยังสนับสนุนการแบนไม่ให้มีการขุดน้ำมันแบบ fracking หรือ การฉีดน้ำ ทราย และสารเคมีด้วยกำลังอัดแรงสูงเข้าไปที่ชั้นหินลึกใต้ดิน เพื่อให้ชั้นหินปล่อยน้ำมันและแก๊สในชั้นหินออกมา ที่มีมากในรัฐอย่าง นอร์ธดาโกต้า เท็กซัสใต้ และเพนซิลเวเนีย ด้วย

จุดนี้เองที่นักวิเคราะห์มองว่า ทรัมป์ อาจนำมาโจมตีแฮร์ริสได้ เพราะการขุดน้ำมันจากชั้นหินดังกล่าวเป็นธุรกิจที่สำคัญในรัฐเหล่านี้ และแน่นอนว่าการแบนจะส่งผลกระทบต่อทั้งรายได้และงานในพื้นที่ และถ้าหากแฮร์ริสเลือกหาเสียงด้วยนโยบายนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเสียฐานเสียงในรัฐเพนซิลเวเนีย ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน Swing State

  • การกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ (AI)

สำหรับการกำกับดูแล AI แฮร์ริสก็มีจุดยืนที่ค่อนข้างสุดโต่งกว่าไบเดนเช่นเดียวกัน เพราะขณะที่ไบเดนต้องการให้มีการออกแนวทางและมาตรฐานในการควบคุมแบบไม่มีการบังคับตามหฎหมาย แฮร์ริสต้องการให้มีการกำกับดูแล AI จากภาครัฐอย่างจริงจังเพื่อปกป้องผู้บริโภค และคนกลุ่มอื่นที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ AI 

แฮร์ริสให้ความสำคัญกับการควบคุมการพัฒนาและการใช้ AI เพราะ ปัจจุบัน ผู้กระทำผิดอาจใช้ AI ในการสร้างรูปปลอมหรือคลิปปลอม เพื่อทำร้ายหรือให้ร้ายคนอื่นได้ อีกทั้งยังมีปัญหาการบิดเบือนข้อมูลและอคติในการสร้างข้อมูล รวมไปถึงประเด็นที่ AI ขโมยงาน ทั้งงานภาพและงานเขียน ของผู้อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตาม นโยบายนี้ก็อาจจะทำให้แฮร์ริสเสียฐานเสียงในหมู่คนที่ทำงานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเช่นเดียวกัน เพราะทรัมป์มีทีท่าสนับสนุนและให้อิสระในการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่า เพราะปัจจุบัน อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ 




 

อ้างอิง: Politico, The Washington Post, AP, The Guardian

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT