ข่าวเศรษฐกิจ

CIMB มองสงครามการค้าดีกับอาเซียน เพราะมีสิทธิกลายเป็นฐานการผลิต ส่งออกสินค้าได้มากขึ้น

9 ส.ค. 67
CIMB มองสงครามการค้าดีกับอาเซียน เพราะมีสิทธิกลายเป็นฐานการผลิต ส่งออกสินค้าได้มากขึ้น

CIMB THAI มั่นใจ ASEAN มาเหนือ เลือกตั้งสหรัฐ-สงครามการค้า จะเป็นแต้มต่อของภูมิภาค เพราะทำให้ทั้งจีนและสหรัฐฯ พร้อมชาติพันธมิตร หันมาลงทุนและค้าขายกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนมากยิ่งขึ้น

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวในงานแถลงข่าว “Think ASEAN, Think CIMB” จัดขึ้นโดย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ว่า เศรษฐกิจหลายประเทศในอาเซียนมีโอกาสเติบโต ท่ามกลางสถานการณ์โลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่กำลังจะมาถึง

โดย ดร. อมรเทพ มองว่า ไม่ว่าใครจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ นโยบายภาพใหญ่ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนไม่น่าเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างกันมากนัก เพราะนับตั้งแต่เกิดสงครามการค้า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับจีนลดลงเรื่อยๆ เพราะมีการตั้งกำแพงภาษี รวมถึง การหันมาผลิตสินค้าเอง และนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นนอกจากจีนมากยิ่งขึ้น

หลายๆ ประเทศรวมถึง ‘อาเซียน’ ได้รับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงนี้ เพราะเมื่อจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ การค้าขายระหว่างจีนและอาเซียนก็เพิ่มเป็นทวีคูณ และในขณะเดียวกัน อาเซียนหลายประเทศก็ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ได้มากขึ้น ทำให้เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น แม้แต่สิงคโปร์ที่ขาดดุลการค้ากับสหรัฐก็ขาดดุลลดลง ส่วนสหรัฐฯ ก็ขาดดุลการค้ากับอาเซียนมากขึ้นเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี หากอาเซียนรับมือกับสงครามการค้าครั้งใหม่ได้ไม่ดีพอ การค้าโลกที่มีความเสี่ยงจะลดลงอาจกระทบกับการค้าและการเชื่อมโยงด้านการลงทุนของอาเซียนได้ และประโยชน์และผลกระทบที่แต่ละประเทศจะได้รับจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในของแต่ละประเทศ เช่น ความสามารถในการแข่งขัน ความน่าดึงดูดในการลงทุน และสิ่งอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ

อาเซียนรับเงินลงทุนมากขึ้น สิงคโปร์อันดับ 1 

ในปี 2566 หากมองในภาพรวมทั้งโลก ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ทั่วโลก ลดลงถึง 2% สู่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของทั้งโลก และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น 

แต่ถ้าพิจารณาไส้ใน จะพบว่า FDI ในประเทศสมาชิกอาเซียนสวนทางกับทิศทางการลงทุนนี้ เพราะในปี 2566 การลงทุน FDI ในประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 1% เป็น 2.26 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ 

โดยหากมองเป็นรายประเทศ ‘สิงคโปร์’ เป็นประเทศที่ได้รับ FDI มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ตามรายงานการลงทุนโลกปี 2567 โดย UNCTAD สะท้อนภาพชัดว่า โลกกำลังย้ายฐานการผลิตมา ASEAN

นายวุธว์ ธนิตติราภรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและธุรกรรมการเงิน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทำให้การพึ่งพาทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนลดลง และหันมาทำการค้ากับประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ทำธุรกิจกับคู่ค้าใหม่ๆ ในตลาดโลกมากขึ้น 

และเนื่องจากอุปสงค์ของทางสหรัฐฯ และของโลกยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สงครามการค้าจึงเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่มีความพร้อม ได้มีโอกาสที่จะเติบโตและขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นเดียวกัน

มาเลเซีย-อินโดนีเซีย-สิงคโปร์ 3 ประเทศน่าลงทุนในอาเซียน

น.ส. ปนิดา ตั้งศรีวงษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันการเงินประเทศไทย และ CLMV ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การเติบโตของธุรกิจในอาเซียน สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ เม็ดเงินที่จะเข้าไปสนับสนุน ทั้งการเข้าไปลงทุนโดยตรง (direct investment) การลงทุนผ่านหลักทรัพย์ต่างๆ หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หรือ หุ้นกู้ (indirect investment) 

โดยในปัจจุบัน 3 ประเทศอาเซียนที่ CIMB มองว่า มีความพร้อมและมีศักยภาพน่าเข้าไปลงทุนมากที่สุดก็คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

เริ่มจาก ‘มาเลเซีย’ ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่คนไทยเข้าถึงง่ายที่สุด CIMB มองว่า กำลังโดดเด่นในภาคบริการและการผลิตสินค้าที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตในอนาคต 

โดยในปี 2566 มีเงินลงทุนไหลเข้ามาเลเซียกว่า 3.29 แสนล้านริงกิต เติบโตสูงขึ้น 23% จากปีก่อนหน้า นับเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ส่วนสินค้าส่งออกของมาเลเซียหลักๆ คือ ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันปาล์ม และอุปกรณ์โทรคมนาคม 

ถัดมา ‘อินโดนีเซีย’ CIMB มองว่า เป็นประเทศที่มีจุดเด่นเรื่องของการเติบโตของประชากรที่ปัจจุบันมีกว่า 280 ล้านคน และมีการเติบโตของ GDP อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มความต้องการสินค้าอุปโภคและบริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ 

ในปี 2566 อินโดนีเซียบันทึกเงินลงทุนไหลเข้า จำนวน 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 6% โดยแหล่ง FDI ใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ได้แก่ สิงคโปร์ จีน และฮ่องกง โดยอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐานได้รับ FDI เยอะที่สุด สินค้าส่งออกหลักของอินโดนีเซีย คือ ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม เหล็กและเหล็กกล้า   

สุดท้าย คือ ‘สิงคโปร์’ ที่เป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าของภูมิภาค ในปี 2566 สิงคโปร์ มี FDI มูลค่าสูงถึง 2.14 แสนล้าน สิงคโปร์ดอลลาร์ เติบโต 10% สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของทุนจดทะเบียนและกำไรสะสม 

โดยประเทศที่มีการลงทุนในสิงคโปร์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง โดยส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดของ FDI อยู่ในภาคบริการทางการเงินและการประกันภัย ส่วนสินค้าส่งออกหลัก คือ ปิโตรเลียม เครื่องจักร และเคมีภัณฑ์

สำหรับ ‘ประเทศไทย’ ช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2567 นักลงทุนต่างชาติและในประเทศยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพิ่มขึ้น 35% มูลค่ารวม 4.58 แสนล้านบาท 

โดยในครึ่งแรกของปี 2567 ภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ครองอันดับหนึ่งด้วยมูลค่าการลงทุน 1.39 แสนล้านบาท (30.5% ของมูลค่าการขอลงทุนรวมของ BOI) รองลงมา คือ ภาคยานยนต์ 3.99 หมื่นล้านบาท (8.7% ของมูลค่ารวม) และ เกษตรกรรมขั้นสูง 3.31 หมื่นล้านบาท (7.2% ของมูลค่ารวม)



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT