บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เดินหน้าขยายสาขา Cafe Amazon ในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดกาแฟในกัมพูชา โดยในปี 2567 ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มอีก 31 สาขา จากปัจจุบันที่มี 231 สาขา
ร้าน Cafe Amazon ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ OR ประสบความสำเร็จในประเทศกัมพูชา เวลานี้เรียกได้ว่า Café Amazon เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่มีสาขาอันดับ 1 ในกัมพูชา โดยมีสาขามากกว่าแบรนด์ท้องถิ่นอย่าง Brown Cafe และ Tube Cafe รวมทั้งแบรนด์อินเตอร์อย่าง Starbucks โดยปัจจุบัน Cafe Amazon มีส่วนแบ่งการตลาด 44% ในกัมพูชา ทั้งนี้ ในปี 2567 คาดว่ารายได้ Cafe Amazon ในกัมพูชาจะเติบโตมากกว่า 20% เรียกได้ว่าทิ้งห่างอันดับ 2 ค่อนข้างมาก
โดยนายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) กล่าวว่า Cafe Amazon เข้ามาเปิดสาขาในกัมพูชาเมื่อปี 2556 รวมเวลา 10 ปี ปัจจุบันมี 231 สาขา และ สาขาส่วนใหญ่อยู่ในพนมเปญ 131 สาขา และจังหวัดอื่น 100 สาขา
โดยตัวร้านจะเปิดทั้งในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และสแตนด์อะโลน ในแหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยว เปิดไปแล้ว 22 จังหวัด (จาก 25 จังหวัด) มีราคาเริ่มต้นแก้วละ 1.2 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาเฉลี่ยแพงกว่าไทย 20% เนื่องจากต้องนำเข้าวัตถุดิบทุกอย่าง ขณะที่ยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 200 แก้ว ส่วนในสาขาใหญ่วันละ 500 แก้ว โดยบางสาขาเคยขายได้ถึง 900-1,000 แก้วต่อวัน สำหรับเมนูที่ขายดีสุดในกัมพูชาคือ Black Coffee และชาเขียวปั่น
แม้จะครองสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 1ในกัมพูชาแต่ OR เตรียมเจาะตลาดวัยรุ่นด้วย Cafe Amazon แบบ Concept Store หลังจากที่เคยเปิดในประเทศไทยมาแล้วหลายแห่ง เพื่อเป็นต้นแบบการลงทุนให้กับแฟรนไชส์ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านกาแฟที่เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยสาขาแรกจะตั้งอยู่ในย่านใจกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในต่างประเทศ ด้วยพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร (สาขาปกติ 150-200 ตารางเมตร)
Concept Store ของ Cafe Amazon ในต่างประเทศ เน้นการออกแบบให้เป็นจุดนัดพบและแหล่งแฮงเอาท์ของคนรุ่นใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัย โดยจะการตกแต่งแบบโมเดิร์น ทันสมัย มีพื้นที่สำหรับนั่งเล่น พักผ่อน ทำงาน รวมไปถึงกิจกรรมและโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่
การขยายสาขา Concept Store ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำกลยุทธ์การรีเฟรชแบรนด์ของ Cafe Amazon ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่มากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าหลักของแบรนด์จะเป็นวัยทำงานอายุ 30 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ร้าน Cafe Amazon สำหรับ ประเทศกัมพูชา จะไม่เน้นขยายสาขาเยอะ เฉลี่ยปีละ 20-30 สาขา โดยปี 2567 วางไว้ที่ 31 สาขา ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station พร้อมปรับรูปแบบร้านและรีโนเวทสาขาเดิมเพื่อรองรับการแข่งขันธุรกิจ F&B รายใหม่ๆ และตามเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค
ล่าสุด OR ยังร่วมมือกับ ดุสิตฟู้ดส์ ซึ่งถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการพัฒนาเมนูอาหารและเบเกอรี่สำหรับให้บริการในร้าน Cafe Amazon กัมพูชา โดยจะให้บริการแบบ Full Service เพื่อเพิ่มโอกาสทางการขายและขยายฐานลูกค้า
เมนูอาหารจะเน้นไปที่อาหารเช้าและอาหารเที่ยง เช่น ข้าวต้ม ข้าวผัด ขนมปัง เบเกอรี่ เป็นต้น โดยดุสิตฟู้ดส์จะเป็นผู้รับผิดชอบในการผลิตและจัดหาวัตถุดิบ รวมไปถึงการอบรมพนักงานของ Cafe Amazon กัมพูชา เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ
พฤติกรรมคนกัมพูชา กินก๋วยเตี๋ยวเป็นอาหารเช้า เริ่มเข้าร้านกาแฟตอนเที่ยง Cafe Amazon จึงต้องปรับมาเสิร์ฟเมนูอาหารเที่ยงด้วย เพื่อดึงลูกค้าให้ซื้อกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ต่อจากมื้อเที่ยง
ความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารและเครื่องดื่มของ Cafe Amazon กัมพูชาให้มีคุณภาพและรสชาติที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของ Cafe Amazon ที่ต้องการขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่มในกัมพูชา