เมื่อเป็นเช่นนั้น ธุรกิจสายการบิน เป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ โดยเฉพาะ AAV จะเป็นผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากประเด็นนี้ เพราะเส้นทางบินของ AAV มีเที่ยวบินไปจีนค่อนข้างมากและแนวโน้มเพิ่มขึ้น
บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า AAV ได้ประโยชน์เต็มๆ เนื่องจากมีจำนวนเที่ยวบินระหว่างไทย-จีน เฉลี่ยอยู่ที่ 84 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ถือว่ามีส่วนแบ่งการตลาดในแง่ของ Capacity Seat เส้นทางไทย-จีน ราว 30%
โดยมีมุมมองเป็นบวกต่อผลประกอบการปี 2024 คาดจะเห็นการฟื้นตัวตามจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และแนวโน้มต้นทุนน้ำมันที่ลดลง และประมาณการกำไรปี 2024 ที่ 1,300 ล้านบาท คงราคาหุ้น AAV ที่เหมาะสม ที่ 2.60 บาท/หุ้น
ด้านบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ประเมินว่า นโยบายดังกล่าวจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางระหว่างสองประเทศมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับการนำเม็ดเงินไหลเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ กระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากยิ่งขึ้น
โดย AOT คาดว่าในช่วงที่มีมาตรการ VISA FREE ในปี 2024 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 8 ล้านคน ฟื้นตัว 75% เมื่อเทียบกับปี 2019 คาดจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทย 11.1 ล้านคน
AOT ได้มีโครงการกระตุ้นตลาดด้านการบิน หรือ Performance-Based Incentive Scheme ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะดึงดูดให้สายการบิน เพิ่มปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ AOT จะสนับสนุนสายการบินที่ทำการบินในเที่ยวบิน แบบประจำระหว่างประเทศ (International Scheduled Flight) รวมถึง เที่ยวบินพิเศษ (Extra Flight) และเที่ยวบินแบบไม่ประจำหรือเช่าเหมาลำนอกเหนือจากจำนวนเที่ยวบินของสายการบินตนเองตามตารางการบิน ที่ได้รับการอนุมัติ ณ วันที่ 8 กันยายน 2566
โดยสายการบินจะได้รับส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน 175 บาทต่อผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น 1 คน ทั้งนี้ ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยานจะต้องไม่เกิน 75% ของค่าบริการขึ้นลงของอากาศยานของเที่ยวบินส่วนเพิ่ม ระยะเวลาของโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 – 31 มีนาคม 2567
รวมถึง โครงการสำหรับสายการบินที่เปิดให้บริการเส้นทางการบินใหม่ (New Routes Incentive) โดย AOT จะพิจารณาให้ส่วนลดค่าบริการในการขึ้นลงของอากาศยาน ค่าบริการที่เก็บอากาศยาน และค่าบริการใช้สะพานเทียบเครื่องบิน (Landing Charges, Parking Charges และ Boarding Bridge Charges) เพื่อดึงดูดให้สายการบินเปิดเส้นทางการบินใหม่มาที่ท่าอากาศยานหลัก และท่าอากาศยานในภูมิภาคของ AOT เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองด้วย