โดยตั้งอยู่บนหลักสำคัญสามประการ คือ ขับเคลื่อนสู่การเป็นธนาคารเพื่อความยั่งยืน เชื่อมโยงอาเซียนผ่านศักยภาพอันแข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับสากล และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจหลักของธนาคาร
เงินให้สินเชื่อจะเติบโตที่ 3-5% แบ่งเป็น สินเชื่อรายใหญ่ โต 4-6% มองภาคธุรกิจจะมีการขยายการลงทุนมากขึ้น สินเชื่อ SME โต 2-3% สินเชื่อรายย่อย โต 3-5% และสินเชื่อต่างประเทศ โต 13-15% แต่มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 14% ซึ่งมีการเติบโตที่ ตั้งเป้าจะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 25% ในอนาคต
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 3.8-4.1%
อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ราว 2.50-2.75%
อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (cost-to-income ratio) จะอยู่ในระดับ mid-40%
การเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โตตัวเลขหลักเดียวระดับกลาง
สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวม 180-200%
อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ 140-150%
ปี 2567-2569 เป็นแผนธุรกิจระยะกลาง โดยแก่นหลัก คือความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่การเป็น “ธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเพื่อความยั่งยืน”
นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กรุงศรีให้ความสำคัญกับการยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer-centric Approach) มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการผ่านการพัฒนาขีดความสามารถด้านดิจิทัลและนวัตกรรม ซึ่งได้บรรลุความสำเร็จมากมายตลอดการเดินทางของเรา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างธุรกิจและเครือข่ายที่แข็งแกร่งในอาเซียน การขยายศักยภาพการในด้าน ESG มากขึ้นตลอดจนเป็นผู้บุกเบิกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนของประเทศไทย
ปี 2573 จะมีพอร์ตสินเชื่อโครงการธุรกิจ ESG 100,000 ล้านบาท
กรุงศรีในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน เราได้วางเป้าหมายในการเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินให้แก่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมและความยั่งยืนที่ 100,000 ล้านบาทภายในปี 2573 และให้การสนับสนุนลูกค้าในการออกผลิตภัณฑ์การเงินเพื่อความยั่งยืน
โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา กรุงศรีมียอดสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้น 71,000 ล้านบาทจากฐานปี 2564 โดยแผนธุรกิจนี้ กรุงศรีจะมุ่งขยายบริการทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเพื่อเข้าถึงฐานลูกค้า SME และลูกค้ารายย่อยที่หลากหลายยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ได้มีการการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าธุรกิจ และ SME ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำ ควบคู่ไปกับการสนับสนุนในเรื่องกติกาด้านการเงินและภาษี(Taxonomy) ที่จำแนกประเภทกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับความเข้มของค่าคาร์บอนโดยใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรเป็นเกณฑ์
เครือข่ายของกรุงศรี และ MUFG ในปัจจุบันครอบคลุม 9 ใน 10 ประเทศในอาเซียน โดยกรุงศรีมีบริษัทในเครือ กระจายอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว ที่ให้บริการลูกค้าแล้วกว่า 17 ล้านราย
การดำเนินงานในอาเซียนของกรุงศรีส่งเสริมขีดความสามารถของธนาคารในหลายแง่มุม ตั้งแต่โมเดลธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอ ไปจนถึงการระดมทุน การบริหารความเสี่ยง โซลูชันดิจิทัล และนวัตกรรมที่หลากหลาย
รวมทั้ง การก่อตั้งบริษัทร่วมทุนที่แข็งแกร่งอย่างกรุงศรี ฟินโนเวต ที่ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มสตาร์ทอัพและบริษัทด้านเทคโนโลยีอีกด้วย ความสำเร็จต่าง ๆ ของกรุงศรีที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานั้นสะท้อนผ่านตัวเลขผลการดำเนินงานได้เป็นอย่างดี
โดยกรุงศรีสามารถทำรายได้สุทธิกว่า 30,000 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสามเท่าในเวลาหนึ่งทศวรรษ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ครองตำแหน่งผู้นำในอุตสาหกรรม ทั้งยังคงความเป็นผู้นำด้านคุณภาพสินทรัพย์มาโดยตลอดอีกด้วย”
กรุงศรีมุ่งมั่นที่จะสร้างความแข็งแกร่งและรักษาตำแหน่งผู้นำในธุรกิจหลักของธนาคาร เพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยจะเน้นเรื่องดิจิทัล ดาต้า ระบบนิเวศและการสร้างพันธมิตรเป็นแกนสำคัญในการดำเนินงาน สำหรับกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล กรุงศรียังคงเดินหน้ากลยุทธ์ One Retail โดยการใช้ดาต้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป็นหลัก สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจ กรุงศรีจะขยายขีดความสามารถด้านธุรกรรมการเงินทั้งในและต่างประเทศในรูปแบบ Banking as a Service โดยพัฒนาร่วมกับพันธมิตรจากทั้งในไทยและต่างประเทศ และสำหรับในด้าน IT และดิจิทัล กรุงศรีจะเดินหน้าลงทุนในดิจิทัลแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่ยึดความต้องการลูกค้าเป็นหลัก รวมถึงการใช้ AI และ Machine Learning เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และการให้บริการกับลูกค้าในทุกกลุ่ม ผ่านทุก Touchpoint ทั้งสาขา ออนไลน์ โมบายแอป และ Call Center
โดยข้อมูลจากวิจัยกรุงศรีระบุว่า ประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนเส้นทางของการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายสาธารณะ นโยบายสนับสนุนต่าง ๆ ของภาครัฐ ตลอดจนกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว และการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน อย่างไรก็ดีขณะที่แรงส่งภายนอกสร้างความท้าทายต่อโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืน ภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น และภัยแล้งที่เพิ่มความซับซ้อนขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลง
ถือเป็นการขยายฐาน สร้างรากฐานให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวไปสู่การยืนหนึ่งในระดับภูมิภาคได้ดีเลยทีเดียว และเป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ ในยามที่เศรษฐกิจภายในประเทศของเรามีการชะลอตัวลง หรือเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ และเป็นการใช้ประโยชน์จากเครือข่าย MUFG เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศไทยและภูมิภาค
ด้วยการนำเสนอโซลูชันการจับคู่ธุรกิจแบบครบวงจรด้วยแพลตฟอร์ม Krungsri Business Link และบริการ Krungsri ASEAN Link ที่จะช่วยเชื่อมโยงลูกค้าธุรกิจชาวไทยกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เชื่อถือได้เข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายของธนาคารที่มีอยู่ในอาเซียนและญี่ปุ่น