"ศรีลังกา" เจอวิกฤตพลังงานหนัก สั่งตัดไฟทั่วประเทศวันละ 13 ชม. เพราะรัฐบาลไม่มีเงินซื้อน้ำมัน แต่ที่เลวร้ายกว่าก็คือ ประเทศนี้กำลังเสี่ยงเข้าสู่ภาวะ "ล้มละลาย" เพราะผู้นำบริหารผิดพลาดต่อเนื่องกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หากพ้นจากช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ปี 1997 - 1998 (พ.ศ. 2540 - 2541) เป็นต้นมา ก็อาจกล่าวได้ว่า "ศรีลังกา" นี่ล่ะ ที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่เข้าสู่ภาวะล้มละลาย
ศรีลังกา เป็นประเทศเกาะขนาดเล็กรูปทรงหยดน้ำ อยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักเพราะไม่ค่อยมีอะไรเกี่ยวข้องกัน สิ่งที่เกี่ยวกับศรีลังกาที่พอจะรู้จักบ้างก็คือ ชาซีลอน (Ceylon Tea) ที่นิยมเอามาทำชาไทยรสเข้มข้น, พระพุทธศาสนา (ลังกาวงศ์), และรู้ข่าวแค่ว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน จีนเข้าไปสร้างท่าเรือใหญ่โตในประเทศนี้ด้วยสัมปทานสุดฮือฮาอายุ 99 ปี พร้อมความฝันที่จะพลิกฟื้นเขตเศรษฐกิจของศรีลังกาขึ้นมาด้วย "โครงสร้างพื้นฐาน"
แต่วันนี้ ศรีลังกาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะประเทศ "ถังแตก" เมื่อรัฐบาลไม่มีเงินนำเข้าก๊าซและน้ำมันจากต่างประเทศ ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานครั้งใหญ่ รัฐบาลต้องใช้มาตรการตัดไฟทั่วประเทศวันละ 10 ชม. เพื่อลดการใช้ไฟ (ล่าสุดเพิ่มเป็นวันละ 13 ชม.) เราจะพาไป "สรุป 5 ข้อต้องรู้จากวิกฤตศรีลังกา" ในครั้งนี้
ปัจจุบัน เกิดอะไรขึ้นกับศรีลังกา ?
- วันนี้ (31 มี.ค. 65) รัฐบาลประกาศใช้มาตรการประหยัดพลังงานขั้นรุนแรง ด้วยการสั่งตัดไฟทั่วประเทศเป็นเวลา 13 ชม./วัน เพื่อบริหารพลังงานให้พอเพียงกับความจำเป็นที่ต้องใช้จริงๆ การตัดไฟเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ แม้แต่โรงพยาบาลหลายแห่งยังต้องหยุดการผ่าตัดคนไข้ เพราะมีไฟฟ้าใช้ไม่พอ
- บริษัทพลังงานที่รัฐเป็นเจ้าของ ซีลอน ปิโตรเลียม คอร์ปอเรชัน (CPC) แถลงว่า จะไม่มีน้ำมันดีเซลในศรีลังกา 2 วันเป็นอย่างน้อย และบอกให้บรรดานักขับที่ต่อแถวยาวรอหน้าปั๊มให้กลับไปก่อน จนกว่าจะมีน้ำมันนำเข้ามากระจายตามปั๊มน้ำมันต่อไป
- นับตั้งแต่ต้นปี 2022 ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวขึ้นไปแล้ว 92% และน้ำมันดีเซลแพงขึ้น 76%
- วิกฤตพลังงานส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อศรีลังกา พุ่งขึ้นจาก 4.3% ในปี 2019 มาอยู่ที่ 15% ในปัจจุบัน หรือสูงที่สุดในเอเชีย ประชาชนเผชิญภาวะข้าวยากหมากแพงถ้วนหน้า
ทำไมจึงเกิดวิกฤตพลังงานขั้นรุนแรง ?
- เดิมทีนั้น ศรีลังกาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำเป็นหลักกว่า 40% แต่ช่วงนี้เป็นฤดูแล้ง เขื่อนเก็บน้ำหลายแห่งมีปริมาณน้ำในระดับต่ำ ทำให้ต้องเปลี่ยนไปผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและน้ำมันแทน ซึ่งเป็น "วัตถุดิบที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ" แต่ปัญหาก็คือ รัฐบาลศรีลังกามีเงินสกุลต่างประเทศไม่เพียงพอที่จะซื้อเข้ามา โดยเฉพาะเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นสกุลเงินหลักที่ทั่วโลกใช้ซื้อขายน้ำมัน
ทำไมรัฐบาลถึงไม่มีเงินดอลลาร์ ?
- หากอธิบายให้ง่ายก็คือ
- รัฐบาลมีหนี้สาธารณะสูง โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศ เพราะรัฐบาลมักจะหาเงินด้วยการระดมทุนออกพันธบัตรสกุลเงินต่างประเทศ
- แต่รัฐบาลมีรายจ่าย มากกว่ารายรับ แถมรัฐบาลยังใช้นโยบายประชานิยมด้วยการลดภาษี รายได้ประเทศจึงยิ่งลด และยิ่งทำให้หนี้พุ่งขึ้น
- รายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว แต่ก็ต้องพังพินาศไปเพราะการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2020 และยังไม่ฟื้นจนถึงปัจจุบัน
- เงินดอลลาร์ที่มีอยู่ ถูกนำไปใช้เพื่อความจำเป้นอื่นๆ เช่น ชำระหนี้ต่างประเทศ และเอาไปพยุงค่าเงินรูปีศรีลังกาไม่ให้ล้ม
- ในเดือน ธ.ค. 2021 ทุนสำรองประเทศของศรีลังกา อยู่ที่ 3,100 ล้านดอลลาร์ และในเดือน ม.ค. 2022 ก็ยิ่งหดเหลือแค่ 2,360 ล้านดอลลาร์เท่านั้น (ทุนสำรองของประเทศไทย ณ สิ้นเดือน ม.ค. 65 อยู่ที่ 2.42 แสนล้านดอลลาร์) แต่ศรีลังกายังมีหนี้ต่างประเทศก้อนใหญ่รอชำระอีกประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ ในเดือน ก.ค. นี้ และหากรวมหนี้ที่ต้องจ่ายของทั้งปี 2022 จะอยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์
ทำไมรัฐบาลปล่อยให้ประเทศมาถึงขนาดนี้ ?
- รายงานของนักวิเคราะห์และสื่อต่างประเทศส่วนใหญ่ ให้ความเห็นตรงกันว่า วิกฤตเศรษฐกิจของศรีลังกา มาจากการบริหารของรัฐบาลที่ผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่ามาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจ และมาถูกซ้ำเติมภายหลังด้วยสถานการณ์โควิด-19
- ในปี 2019 เกิด Double Shock กับศรีลังกา 2 เรื่อง คือ 1. เหตุก่อการร้ายวินาศกรรมโบสถ์คริสต์หลายแห่งในโคลอมโบ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 253 คน จนกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง รายได้หดหาย ทุนสำรองประเทศลดลง
2. หลังจากนั้นในช่วงปลายปี ก็เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เป็นรัฐบาลพรรค SLPP ของนายโกตาพญา ราชปักษา ซึ่งนำไปสู่การลดภาษีและอุ้มชาวนาตามที่หาเสียงเอาไว้ โดยลดภาษี VAT จาก 15% เหลือ 8% และลดเกณฑ์เพดานเงินของผู้ที่ต้องจ่ายภาษี ภ.ง.ด. ผลคือ ทำให้มีจำนวนผู้เสียภาษีลดลงถึง 33.5% และจีดีพีประเทศหายไปถึงเกือบ 2% - สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายขึ้นในปี 2020 จากโควิด-19 เพราะทำให้รายได้ขาเข้าจากการท่องเที่ยวพินาศ การไปทำงานต่างประเทศส่งเงินกลับก็ลดลง ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรก็ถูกกระทบเพราะโควิดเช่นกัน จึงทำใประเทศขาดดุลการคลังทะลุ 10% ในปี 2020 และ 2021 ขณะที่หนี้ต่อจีดีพี พุ่งจาก 94% ในปี 2019 ไปแตะ 119% ในปี 2021
- นอกจากนี้ การเปลี่ยนนโยบายเกษตรแบบสุดโต่ง ด้วยการแบนการใช้สารเคมี และหันมาส่งเสริมนโยบายเกษตรออร์แกนิกครั้งใหญ่ ทำให้รัฐบาลต้องใช้เงินอุดหนุนถึง 260 ล้านดอลลาร์/ปี (ราว 0.3% ของจีดีพี)
รัฐบาลจะแก้ปัญหาอย่างไร ?
- รัฐบาลต้องเจรจาพักหนี้เดิม โดยเฉพาะกับ "จีน" และ "อินเดีย" ซึ่งเป็นสองเจ้าหนี้รายใหญ่ และเจรจาขอเงินกู้ใหม่กับ IMF และอาจรวมถึง World Bank
- เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ศรีลังกาเจรจากับรัฐบาลจีน โดยมีการทำข้อตกลงสวอปค่าเงิน 1,500 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการนำเข้าของศรีลังกา (จีนเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1) และก่อนหน้านี้ หยาง เจียฉี เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนก็เคยไปเยือนศรีลังกาและให้เงินกู้รอบหนึ่งมาแล้ว โดยศรีลังกาถือเป็น 1 ในพันธมิตรสำคัญของจีนภายใต้ยุทธศาสตร์ แถบและเส้นทาง (Belt and Road) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนปล่อยกู้ไปแล้วนับ 5,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้ศรีลังกาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
- ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา อินเดีย ก็เสนอให้ความช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งรวมถึงการให้เครดิตไลน์มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์แก่ศรีลังกา โดยรวมแล้ว อินเดียให้กู้ไปมากถึง 2,500 ล้านดอลลาร์
- ศรีลังกาจะเจรจากับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เดือน เม.ย. นี้ หลังจากเมื่อเดือน ส.ค. ปีที่แล้ว เพิ่งได้เงินกู้ช่วยสนับสนุนโควิดมา 787 ล้านดอลลาร์ - มีรายงานว่า รัฐบาลศรีลังกาอาจจะเจรจากับ ธนาคารโลก (World Bank) ในเดือน เม.ย. นี้ด้วย เพื่อขอความช่วยเหลือจากฝั่งสหรัฐอีกแรง