สถานการณ์ราคาหมูแพงที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากราคาหมูเคยแตะกิโลกรัมละ 300 บาทมาแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2565 ผ่านมาราว 2 เดือนดูเหมือนแนวโน้มราคาสินค้าในหมวดโปรตีนจากเนื้อสัตว์น่าจะยังแพงต่อไปอีกนาน....สาเหตุเป็นเพราะต้นทางของอุตสาหกรรมนี้ นั่นคือ วัตถุดิบที่นำมาทำอาหารสัตว์ ราคายังแพงขึ้นไม่หยุด ขณะโครงสร้างในหมวดการผลิตอาหารสัตว์ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้
กว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ให้เราได้รับประทานกันห่วงโซ่ของการผลิตเนื้อสัตว์จะเริ่มตั้งแต่ “วัตถุดิบที่จะมาผลิตเป็นอาหารสัตว์” นี่คือต้นทาง! ที่พูดถึง และต้นทางที่ว่าเชื่อมโยงไปสู่ภาคการเกษตร คือคนปลูกพืชเหล่านี้ ส่งต่อไปยังโรงงานอาหารสัตว์ และนำไปยังภาคปศุสัตว์ เกษตรกรนำเอาอาหารมาเลี้ยงสัตว์ ส่งต่อไปสู่ภาคอุตสาหกรรม การผลิตเนื้อสัตว์และการผลิตอาหารของประเทศ รู้หรือไม่ว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานนี้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบหลายสิบ ล้านคน และปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 900,000 ล้านบาท และมีโอกาสเพิ่มเกิน 1 ล้านล้านบาทในอนาคต อย่าลืมว่า ไทยเราวางตัวเองเป็น “ครัวของโลก”
แต่ที่ผ่าน ครัวใหญ่แห่งนี้ กลับไม่สามารถผลิตวัตถุดิบเองได้เพียงพอ จึงต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ พอมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างสงครรามรัสเซีย ยูเครน ราคาวัตถุดิบก็พุ่งสูงขึ้นครัวแห่งนี้จึงต้องเจอกับราคาวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารแพงขึ้นนั่นเอง
เมื่อช่วงต้นปีเราได้ยินคำตอบว่าทำไมหมูแพง? มาจาก 2 สาเหตุ คือ โรคระบาด ราคาต้นทุนอาหารสัตว์พุ่งสูง ซึ่งสามารถย้อนกลับไปอ่านบทความที่ SPOTLIGHT เคยเขียนไว้ได้ [ อ่านต่อ ทำไมหมูแพง ?]
กลับมาที่ปัจจุบัน หนึ่งในสาเหตุของหมูแพงยังคงอยู่ นั่นคือ ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์แพง แถมตอนนี้ยังแพงขึ้นกว่าตอนต้นปี 2565 อีกด้วย แล้วแบบนี้จะหวังว่าราคาหมูจะเป็นปรกติได้อย่างไร ดูได้จากราคาวัตุดิบในหมวดให้พลังงาน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาต้นปี 11.10 บาท/กก. ปัจจุบัน 13 บาท/กก. และถ้าเทียบกับปี 2564 ราคาขึ้นมา 26.37 % ขณะที่ข้าวสาลี ขึ้นมา 45.90 % ส่วนพืชในหมวดให้โปรตีนที่นำมาเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ กากถั่วเหลืองจาก 18.76 บาท ปัจจุบัน ใกล้22 บาท/กก. และเทียบปีที่แล้วขึ้นมา 29.07%
ปริมาณความต้องการอาหารสัตว์ในปี 2565 อยู่ที่ 19.08 ล้านตัน ในขณะที่การเติบโตของวัตถุดิบหลักในอาหารสัตว์มีแนวโน้มทรงตัวหรือเติบโตไม่ทันต่อความต้องการใช้ และในการผลิตอาหารสัตว์ 19.02 ล้านตันนี้ กว่า 60% หรือประมาณ 11 ล้านตัน เป็นการใช้วัตถุดิบที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยวัตถุดิบที่นำเข้า คือเมล็ดถั่วเหลืองกากถั่วเหลือง ประมาณ 7 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตเมล็ดถั่วเหลืองในประเทศมีเพียง 30,000 ตัน ส่วนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นำเข้า 3.8 ล้านตัน จากความต้องการรวม 8.6 ล้านตัน ผลิตได้เองเพียง 4.8 ล้านตัน
โรงงานอาหารสัตว์ ได้รับผลกระทบด้านต้นทุนจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ตลอดจนกระทั่งปัจจุบัน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 25-30% ซึ่งสถานการณ์สงครามรัสเซียยูเครน เป็นปัจจัยเร่งให้ราคาวัตถุดิบยังคงอยู่ในระดับสูง
จากปัญหาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้วการบริโภคในประเทศที่เร่งตัวขึ้น แต่ต้นทางมีปัญหา และ ต้นทุน มากมาย ที่ผ่านมารัฐและเอกชนมีความพยามในการแก้ปัญหาร่วมกันแต่ก็ยังไม่ลงตัว สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย มองว่า มาตรการต่างของรัฐเป็นอุปสรรคในภาวะเช่นนี้และจะมีผลกระทบกับทุกภาคส่วน ส่วนเหตุที่ผู้ประกอบการอาหารสัตว์มีความจำเป็นต้องเลือกใช้วัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ จากต่างประเทศเพราะ มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับความต้องการของสัตวแต่ละประเภท อยู่บนราคาที่แข่งขันได้ และโครงสร้างของนโยบายหากไม่มีการปรับแก้สุดท้ายแล้วจะย้อนกลับมากระทบกับทุกภาคส่วน ทั้งประชาชนที่ยังต้องเจอสภาวะอาหารแพง ส่วนธุรกิจต้นน้ำไม่ว่าจะเป็นธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ เกษตรกร ผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้ผลิตอาหารสัตว์หรือแม้กระทั่งเกษตรกรผู้ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสตัวก็จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ที่มาข้อมูล สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เนื้อหมูขึ้นราคา 5 บาท/กก. ต้นทุนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ พุ่งขึ้น 30%
ไข่ไก่ขึ้นราคาอีก 10 สต./ฟอง เป็น 3.50 บาท/ฟอง มีผลพรุ่งนี้ ! อั้นไม่ไหวต้นทุนการเลี้ยงสูง