Fast Retailing บริษัทแม่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า 8 แบรนด์ใหญ่รวมถึง Uniqlo ไม่เคยขาดทุนเลยไม่ว่าจะเป็นปี 2020 ที่โควิดระบาดหนักแค่ไหนก็ตาม ที่น่าสนใจคือยุคเงินเฟ้อสูง เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ Fast Retailing กลับมีกำไรสูงกว่าก่อนโควิดเรียบร้อยด้วยตัวเลขคาดการณ์ 250,000 ล้านเยน จุดยืนสำคัญคือ ไม่ลดราคา ออกแบบเสื้อผ้าสวมใส่ได้ทุกวัน ในราคาไม่แพง
ในยุคนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะผู้ซื้อ หรือ ผู้ขาย ต่างก็ลำบากกันทั้งคู่ มุมผู้ซื้อบอกว่าของแพงค่าแรงเท่าเดิม ค่าครองชีพสูงอยู่ลำบากต้องประหยัด ส่วนในฝั่งคนขายบอกว่า ทำธุรกิจยากขึ้นต้นทุนผลิตสินค้าแพงขึ้นทุกอย่าง ปรับราคาขายยากเพราะคนซื้อไม่มีกำลังซื้อ ไหนจะเจอกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวอย่างหนักเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน
ธุรกิจแฟชั่น โดยเฉพาะหากเป็นแนว Fast Fashion ประเภทที่เปลี่ยนคอลเลคชั่นบ่อยๆเกือบทุกอาทิตย์ หลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในช่วงโควิดเกือบจะเอาตัวไม่รอด ไม่ว่าจะเป็น Zara ที่เป็นแบรนด์เสื้อผ้าเบอร์1 ของโลกที่ต้องมาเผชิญการขาดทุนในรอบหลายปี เช่นเดียว H&M ซึ่งต้องปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน
แต่สำหรับบริษัท Fast Retailing นี่คือชื่อของบริษัทแม่เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า 8 แบรนด์ใหญ่รวมถึง Uniqlo ด้วย นอกจาก GU, Theory, Helmut Lang, PLST (Plus T), Comptoir des Cotonniers, Princesse tam.tam และ J Brand ธุรกิจของ บริษัท Fast Retailing ไม่เคยขาดทุนเลยไม่ว่าจะเป็นปี 2020 ที่โควิดระบาดหนักแค่ไหนก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ยุคเงินเฟ้อสูง เสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ Fast Retailing กลับมีกำไรสูงกว่าก่อนโควิดเรียบร้อย
ทาเคชิ โอกาซากิ CFO ของ Fast Retailing ยังได้ปรับเพิ่มประมาณการณ์กำไรสุทธิทั้งปีของปีนี้เป็น 250,000 ล้านเยน (1.8 พันล้านดอลลาร์) หรือถ้าแปลงเงินบาทขณะนี้ที่ค่าเงิน 36.70 บาท เท่ากับประมาณ 66,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าการคาดการณ์กำไรสุทธิครั้งก่อนที่ 190,000 ล้านเยน นั่นเท่ากับว่า Fast Retailing ประมาณการว่ากำไรสุทธิสำหรับปีงบประมาณนี้จะเพิ่มขึ้น 47% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่คาดว่ายอดขายจะอยู่ที่ 2.25 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 5.5% จากปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ยอดขาย 2.2 ล้านล้านเยน
“การคาดการณ์รายได้และกำไรทั้งปีของเราจะสูงเป็นประวัติการณ์ แม้ว่าจะไม่ได้รวมผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยน ก็จะสูงเป็นประวัติการณ์” ทาเคชิ โอกาซากิ CFO ของ Fast Retailing กล่าว
โอกาซากิ บอกด้วยว่า Fast Retailing ก็ถูกกระทบจากปัญหาเงินเฟ้อสูงเช่นเดียวกัน แต่ยอดขายในต่างประเทศที่แข็งแกร่งทั้งในเอเชียและประเทศตะวันตก มีส่วนทำให้ Fast Retailing ต้องออกมาปรับประมาณการณ์รายได้และกำไรกันใหม่เลยทีเดียว
ส่วนเงินเยนที่อ่อนค่าหนักที่สุดในภูมิภาค หลายคนอาจจะมองว่า น่าจะเป็นประโยชน์กับยูนิโคลหรือไม่ โอกาซากิ อธิบายว่า มีทั้งข้อดี และ ข้อเสีย ให้กับบริษัท
ข้อดีคือเพิ่มผลกำไรที่ได้รับจากต่างประเทศเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินญี่ปุ่น แต่ข้อเสียที่คำนวณแล้วว่าดูเหมือนจะมีมากกว่าข้อดี เพราะค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงหมายถึงค่าขนส่งสินค้านำเข้าญี่ปุ่นที่สูงขึ้น ต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งที่เพิ่มขึ้นก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม
กลางปีแบบนี้หลานแบรนด์เสื้อผ้ามักจะจัดลงราคากลางปีครั้งยิ่งใหญ่ แต่สำหรับ Uniqlo หรือ แบรนด์อื่นในเครือ คงจะไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก โอกาซากิ อธิบายว่า Fast Retailing สามารถดูดซับค่าใช้จ่าย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้นมาได้ เพราะบริษัทปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดส่งและไม่จัดรายการลดราคาสินค้า ไม่ว่าจะตลาดญี่ปุ่น หรือ ตลาดต่างประเทศ ก็ตาม
โอกาซากิ เน้นย้ำว่า ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งเป็นผลมาจากจุดยืนในการทำธุรกิจโดยไม่ต้องพึ่งการลดราคา
ในช่วงไตรมาสที่ 3 สิ้นสุดเดือนพฤษภาคม (นับเป็นปีงบประมาณ) ธุรกิจหลักของ Uniqlo มียอดขายและกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นและตลาดต่างประเทศ ประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ รวมถึงอเมริกาเหนือและยุโรป ยอดขายสาขาเดิมได้พุ่งเกินระดับก่อนเกิดโควิดแล้ว เนื่องจากหลายประเทศยกเลิกมาตรการเข้มงวดเกี่ยวกับโควิด ขณะที่ยอดขายเกี่ยวข้องกับการเดินทางที่ฟื้นตัวในบางตลาดของเอเชียด้วยเช่นกัน
โอกาซากิ บอกว่า ยกเว้นตลาดเดียวคือ “จีน” ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สำหรับ Fast Retailing บริษัทได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ของ COVID-19 ในเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เซี่ยงไฮ้ถูกล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม และยกเลิกข้อจำกัดในวันที่ 1 มิถุนายน ทำให้ Fast Retailing ต้องการหน้าร้านชั่วคราวประมาณครึ่งหนึ่งของร้านค้าในเซี่ยงไฮ้ และมากถึง 169 สาขาในจีนถูกปิดชั่วคราวตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้อจำกัดต่างๆเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง ส่งผลให้ยอดขายในจีนได้แสดงสัญญาณการฟื้นตัว แม้ว่าบางพื้นที่ในประเทศยังถูกล็อกดาวน์ และสถานการณ์ในอนาคตยังคงต้องติดตาม Fast Retailing เชื่อว่าจะสามารถ กลับมามีกำไรได้อีกครั้งในตลาดจีน เมื่อเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถชดเชยยอดขายและผลกำไรที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา
ในเดือนมิถุนายน มีรายงานว่า Fast Retailing ได้ขึ้นราคาเสื้อผ้าฤดูหนาวหลักบางส่วน ในตลาดญี่ปุ่นแล้ว เช่น เสื้อแจ็คเก็ตฟลีซรุ่นเรือธงของยูนิโคล่ และแจ็กเก็ต ultralight down ทั้งนี้บริษัทเริ่มขายเสื้อแจ็คเก็ตผ้าฟลีซในปี 1994 และนี่เป็นครั้งแรกที่บริษัทจะขึ้นราคาสินค้า
ลูกค้ายังคงอ่อนไหวต่อราคาท่ามกลางปัยหาเงินเฟ้อ "เราไม่ได้มองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับการขึ้นราคาสินค้าแต่เราขึ้นราคาด้วยความจำเป็น ไม่ได้รู้สึกดีนัก" โอกาซากิกล่าว
ผลพวงของเงินเฟ้อ ลุกลามไปถึงต้นทุนแรงงานด้วยเช่นกัน และขณะนี้บริษัทประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกาเหนือ ขณะเดียวกันบริษัทต้องพยายามหาวิธีรักษาผู้มีความสามารถ มากขึ้นเรื่อยๆ และในญี่ปุ่นเองก็ต้องยอมเพิ่มค่าจ้างรายชั่วโมงสูงถึง 30% เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันต่อได้
LifeWear คือ การออกแบบเสื้อผ้าที่เรียบง่าย คุณภาพดี สวมใส่ได้ทุกวัน เป็นหลักคิดในการออกแบบเสื้อผ้าของ Uniqlo ก็ว่าได้ และมันคือความแตกต่างจากแบรนด์ Fast Fashion อื่นๆ โอกาซากิ เตือนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯเป็นตลาดที่ "ยากมาก" และมีแนวโน้มมากขึ้นที่ประเทศจะเข้าสู่ภาวะซบเซา stagflation การบริโภคไม่คึกคัก แต่นั่นคือเหตุผลที่เราพบโอกาสสำหรับเสื้อผ้า LifeWear ที่มีราคาจับต้องได้ ไม่แพง ดังนั้น จึงยังมีที่ว่างสำหรับบริษัทที่จะเติบโตในตลาดอเมริกาเหนือที่กว้างใหญ่
Fast Retailing ได้ประกาศความตั้งใจที่จะเปิดสาขาใหม่ 300 แห่งทั่วโลกในปีงบประมาณหน้า โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทยังคงรักษาเป้าหมายนี้ไว้แม้ว่าจะมีปัญหาเงินเฟ้อก็ตาม
สำหรับแบรนด์ Uniqlo ภายใต้บริษัท Fast Retailing มีตลาดใหญ่ที่สุดคือ ญี่ปุ่นและจีนเป็นตลาดหลักคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 75% ของรายได้ ตามข้อมูลของ QUICK-FactSet ขณะที่ Fast Retailing มีพนักงานประมาณ 56,000 คนทั่วทั้งกลุ่ม ณ วันที่ 31 ส.ค.2564
ทีมา https://asia.nikkei.com/Business/Retail/Uniqlo-owner-raises-profit-forecast-despite-China-woes