ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถยนต์ไฟฟ้าคือยานพาหนะแห่งอนาคตที่จะเข้ามาแทนที่รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาปภายในในท้ายที่สุด และผู้ที่เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็กลายเป็นเบอร์ใหญ่ในอุตสาหกรรม และประสบความสำเร็จกันไปแล้ว อย่าง Tesla ที่ถือว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกๆ ที่เปิดตัวเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100%
อย่างไรก็ตาม นอกจากผู้ผลิตรถยนต์แล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ ของรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำก็ได้รับประโยชน์จากเทรนด์นี้เช่นกัน และหนึ่งในนั้นก็คือ “ผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจีน” ที่ได้ประโยชน์และร่ำรวยจากเทรนด์นี้ไปเงียบๆ โดยในปัจจุบัน ผู้ผลิตจีนคือผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดกว่า 60.5% เพราะเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ทั้งหมด รวมไปถึง Tesla, Ford, Volvo, Volkswagen, Hyundai, Kia และรถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์จีน เช่น BYD, BAIC, Geely และ GAC
ทำไม “จีน” ที่ไม่เคยมีชื่อเสียงในทางวิศวกรรมมาก่อนถึงขึ้นมาเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ วันนี้ทีมข่าว Spotlight ชวนมาหาคำตอบ
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของรัฐบาล และการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
ความสำเร็จของจีนในการก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของจีนมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น 1) การวางแผนและการสนับสนุนของรัฐบาลเพื่อสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า 2) ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบสำคัญอย่างลิเธียม และโคบอลต์ 3) คุณภาพแบตเตอรี่ที่ดีเยี่ยมและมีข้อได้เปรียบด้านราคา
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของจีนในปัจจุบันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไร้วิสัยทัศน์และการสนับจากรัฐบาลจีนที่ได้ออกมาตรการและให้เงินสนับสนุนมหาศาลเพื่อสร้างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อน
ตั้งแต่ช่วงต้น 2010s เป็นต้นมา รัฐบาลจีนได้ลงเงินมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.3 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ที่ใช้ “พลังงานใหม่” ซึ่งรวมถึงพลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจน และให้เงินอีกถึง 214 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7.2 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแบตเตอรี่ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ในปี 2015 รัฐบาลจีนยังได้ออก “Made in China 2025” ซึ่งเป็นแผนที่จะทำให้การผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ทั้งหมดในจีนใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนทั้งหมดภายในปี 2025 โดยในแผนนั้นรัฐบาลยังได้ออกมาตรการกีดกันไม่ให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่จากต่างชาติเช่น เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เข้ามาตีตลาดในจีนด้วยการออกลิสต์บังคับให้ผู้ผลิตรถยนต์จากจีนทั้งหมดใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตโดยบริษัทจีน มิเช่นนั้นจะไม่ได้เงินสนับสนุนราคาจากรัฐบาล
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมดในจีนและหลายๆ ประเทศที่ต้องการตีตลาดผู้บริโภคในจีนหันมาใช้แบตเตอรี่จากจีนทั้งหมด ส่วนแบ่งตลาดของผู้ผลิตแบตเตอรี่จีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากเพียง 10% ในปี 2012 มาเป็น 50% ในปี 2019 และขึ้นมาเป็นมากกว่า 60% ในปัจจุบัน
นอกจากการสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ปัจจัยต่อมาที่ทำให้จีนกลายเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่สำคัญของโลกคือการสามารถในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน คือ ลิเธียม และโคบอลต์
จากข้อมูลจาก Statista ในปัจจุบัน ประเทศที่มีทรัพยากรลิเธียมสูงที่สุดในโลก 5 อันดับคือ ชิลี ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา จีน และสหรัฐอเมริกา สะท้อนว่าจีนยังเป็นแหล่งของวัตถุดิบสำคัญคือลิเธียมอยู่แล้ว เพราะมีลิเธียมในครอบครองสูงถึง 2 ล้านตัน สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
จากการรายงานของ The New York Times ลิเธียมมีอยู่มากในมณฑลชิงไห่ที่มีทะเลสาบแห้ง (salt flats) ซึ่งเป็นทะเลเกลือที่เป็นแหล่งของลิเธียม ซึ่งปัจจุบันผู้ที่ครอบครองแหล่งลิเธียมดังกล่าวคือ CATL ซึ่งในปี 2012 ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลและมณฑลชิงไห่ มูลค่าถึง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อจัดตั้งโรงงานสกัดและแปรรูปลิเธียม และผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าในมณฑลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ CATL เข้าถึงแหล่งวัตถุดิบราคาถูก และมีชัยเหนือคู่แข่งในด้านราคาได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากจะเป็นผู้ครอบครองแหล่งลิเธียมขนาดใหญ่แล้ว จีนยังเป็นผู้นำเข้าลิเธียมรายสำคัญจากชิลีและออสเตรเลียด้วย เพราะมากกว่า 50% ของโรงงานแปลงสภาพและสกัดแร่ลิเธียมจากน้ำเค็มเพื่อมาทำแบตเตอรี่ในโลกอยู่ในจีนซึ่งมีข้อได้เปรียบในด้านสถานที่และแรงงานที่ทำให้การแปรสภาพลิเธียมในจีนมีต้นทุนต่ำกว่าประเทศอื่น เพราะฉะนั้นแร่ลิเธียมจำนวนมากจึงต้องถูกนำเข้ามาสกัดในจีนก่อนส่งออกไปภายนอก
นอกจากนี้ จากการรายงานของ Bloomberg บริษัทจีนยังเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของบริษัทผลิตลิเธียมรายใหญ่ของชิลี โดยในปัจจุบัน ในชิลีมีบริษัทผลิตแร่ลิเธียม 2 รายเท่านั้น คือ Albemarle Corp บริษัทจากสหรัฐฯ และ SQM บริษัทชิลีที่มี Tianqi Lithium Corp บริษัทจีนถือหุ้นอยู่กว่า 20% ซึ่งถึงแม้อีกบริษัทจะเป็นบริษัทจากสหรัฐฯ ทั้งสองบริษัทมีฐานการแปรสภาพแร่ลิเธียมในจีนทั้งหมด
ถัดจากลิเธียม จีนยังมีความสามารถในการเข้าถึงอีกหนึ่งแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่คือ โคบอลต์ ที่เกือบทั้งหมดผลิตในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่เป็นแหล่งผลิตและส่งออกโคบอลต์ 70% ของโลก
จากการรายงานจาก The New York Times ปัจจุบันคองโกมีเหมืองผลิตโคบอลต์อยู่ทั้งหมด 19 แห่ง และ 15 แห่งในนั้นเป็นบริษัทที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของหรือได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารจีนที่ดำเนินการโดยรัฐบาลจีนหลายแห่ง
จากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบที่นับวันจะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ นี้ ทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่จากจีนมีข้อได้เปรียบเหนือเจ้าอื่นมากในด้านต้นทุน ซึ่งจะสามารถทำให้ทางผู้ผลิตควบคุมราคาให้ต่ำและเพิ่มขีดการแข่งขันของตัวเองได้ง่าย
และแน่นอนว่านอกจากจะต้องมีเงินทุน และวัตถุดิบพร้อมแล้ว แน่นอนว่าอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ก็คือ ‘คุณภาพของสินค้า’
จากที่กล่าวไว้ในช่วงแรก รัฐบาลจีนเห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยี และให้เงินสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านนี้อย่างเต็มที่ นี่จึงทำให้แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีคุณภาพ และและเป็นที่ไว้วางใจของทั้งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าระดับโลกอย่าง Tesla และแบรนด์รถหรูเก่าแก่อย่าง BMW และ Mercedes Benz
โดยจากการรายงาน SCMP แบตเตอรี่ของ CATL และ BYD มีชื่อเสียงในด้านความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และมีข้อได้เปรียบด้านราคา โดยถูกออกมาแบบมาให้มีขนาดกะทัดรัด น้ำหนักเบากว่าเจ้าอื่น
ในวันนี้ (14 ก.พ.) Bloomberg รายงานว่า ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Ford กำลังจะจับมือกับ CATL ลงทุนเงินถึง 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าในเมืองรัฐมิชิแกน เพื่อลดต้นทุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของ Ford ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2026 และสร้างแบตเตอรี่ป้อนรถยนต์ไฟฟ้าของ Ford ได้ถึง 400,000 คันต่อปี โดย CATL จะรับผิดชอบพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างแบตเตอรี่ทั้งหมดในโรงงาน สะท้อนอิทธิพลของ CATL ที่กำลังแผ่ขยายออกมาจากจีน
กล่างโดยสรุปแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีคุณสมบัติครบครันมากทีเดียวในการก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าแห่งอุตสาหกรรมแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า เพราะนอกจากจะมีการวางแผนและสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาลแล้ว ยังมีสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรส่วนมากของโลก และมีข้อได้เปรียบด้านสถานที่และแรงงานที่ทำให้คู่แข่งจากประเทศอื่นยากที่จะขึ้นมาอยู่เหนือผู้ผลิตจีนที่ได้เปรียบทั้งด้านเงินทุน ราคา และคุณภาพได้
ซึ่งเมื่อดูแล้วก็คล้ายกับความสำเร็จของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมบันเทิงของประเทศเกาหลีใต้ที่เกิดขึ้นได้ด้วยการวางแผนพัฒนาและการให้เงินสนับสนุนอย่างเป็นระบบของรัฐบาล เพราะทุกแชโบลที่ยิ่งใหญ่ในขณะนี้ไม่ว่าจะเป็น Samsung หรีือ Hyundai ก็เกิดขึ้นได้เพราะเป็นผู้ถูกเลือกจากรัฐบาลในแง่เดียวกับที่ CATL เป็นผู้ถูกเลือกของรัฐบาลจีนในการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่รถยนต์
นี่ก็ทำให้น่าคิดว่า ไทยเราล่ะมีอุตสาหกรรมใดบ้างหรือไม่ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจนเติบโตมาเป็นกำลังหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้บ้าง หรือมีอุตสาหกรรมใดบ้างที่กำลังตั้งไข่ มีศักยภาพในการเติบโต และสมควรได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
ที่มา: The New York Times, Grid, Statista, Finantial Times