การเงิน

3 ข้อต้องรู้ ก่อนคิดลงทุนเพื่อลูก

11 ก.ย. 65
3 ข้อต้องรู้ ก่อนคิดลงทุนเพื่อลูก

เราต่างรับรู้และสัมผัสกับรสชาติเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นกันมาระยะหนึ่งแล้ว ผ่านราคาข้าวของเครื่องใช้ที่เพิ่มสูงขึ้น แม้หลายคนเชื่อว่าเมื่อเงินเฟ้อขึ้นมาถึงจุดพีกหนำใจแล้ว ก็จะไหลลงมาเอง และในทางเศรษฐศาสตร์ก็คาดการณ์ไว้เช่นนั้นเช่นกัน แต่สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ก็คือ เงินเฟ้อคงจะไม่กลับไปสู่ระดับต่ำดังเดิมอีกพักใหญ่ นั่นหมายความว่าเราต้องทำตัวให้ชินและปรับตัวให้ได้กับราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่เดินหน้าขึ้นมาแล้ว อาจไม่มีวันย้อนกลับไปสู่จุดเดิม

นอกเหนือจากค่าอาหารและค่าเดินทาง สิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันที่ถูกเงินเฟ้อกระหน่ำหนักสุด ทำเอาผู้บริโภคอย่างเราๆ โซซัดโซเซกันเลยทีเดียว แต่ยังมีอีก 2 ค่าใช้จ่ายที่ขึ้นมาเงียบๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ที่สำคัญขึ้นแรงมากๆ นั้นคือ ค่ารักษาพยาบาลและค่าการศึกษา แม้ไม่ได้จ่ายทุกวันแต่บิลออกมาแต่ละทีเล่นเอาหน้ามืดเหมือนถูกน็อค ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องวางแผนทางการเงินและการลงทุน เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในอนาคต และวันนี้ เราจะมาพูดคุยกันถึงการวางแผนทางการศึกษาให้กับลูกๆ เมื่อมีค่าใช้จ่ายมายืนรออยู่ตรงหน้า เราจะมีแนวทางบริหารเงินให้งอกเงยขึ้นได้อย่างไรบ้าง

เปิดเทอมใหญ่ หัวใจ (พ่อแม่) ว้าวุ่น

หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เราสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้มากขึ้นเด็กนักเรียนรวมถึงหรือลูกหลานของเราเองก็กลับไปเรียน On-Site ที่โรงเรียนได้ตามปกติ เมื่อโรงเรียนต่างๆ ทยอยเปิดเทอมใหญ่ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา และแน่นอนครับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีของฤดูกาลเปิดเทอมนั่นก็คือ ภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยเฉพาะในปีนี้ที่ราคาสินค้าพากันปรับตัวสูงขึ้นตามตัวเลขเงินเฟ้อ รวมทั้งค่าเทอม ค่าธรรมเนียม ค่ารถรับส่ง จนไปถึงเครื่องแบบนักเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านเริ่มรู้สึกว้าวุ่นใจไม่น้อยทีเดียว แต่เหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น เพราะคือ อนาคตของลูกเราเอง จริงไหมครับ

ผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน ของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2565 นี้ อาจมีมูลค่าสูงถึง 26,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มูลค่าการใช้จ่ายยังต่ำกว่าในช่วงผลสำรวจปี 2563

การศึกษาลูก

สำหรับค่าใช้จ่ายที่ปรับขึ้นในปีนี้มาจากปัจจัยเฉพาะ เนื่องจากในปีนี้เป็นการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ โดยนักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้อีกครั้ง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น เช่น ชุดนักเรียน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ากิจกรรม ค่าอาหาร เป็นต้น

ขณะที่งานวิจัยของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของเด็กในวัยเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงปริญญาตรี มีข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังวางแผนการศึกษาให้ลูกนะครับ ยค่าใช้จ่ายสำหรับสถานศึกษาของรัฐอยู่ที่ประมาณ 1.6 ล้านบาท เทียบกับสถาบันการศึกษาเอกชนซึ่งอยู่ประมาณ 4 ล้านบาท และหากเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงถึง 20.1 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาเล่าเรียน ซึ่งเป็นข้อมูลในปี 2562 แต่ตอนนี้ระดับราคาน่าจะเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ

อีกงานวิจัยของแบงก์ชาติ เมื่อปี 2563 เกี่ยวกับการลงทุนด้านการศึกษาของไทย ระบุว่า ไทยลงทุนทางการศึกษาจำนวนไม่น้อย หรือสูงถึง 6.2% ของ GDP เป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับมูลค่าการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วทั้งในออสเตรเลีย (5.8%) เบลเยี่ยม (5.8%) สหรัฐฯ (6.0%) และสหราชอาณาจักร (6.2%) ขณะที่ค่าเฉลี่ยขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) อยู่ที่ 5.0% โดยนอร์เวย์เป็นประเทศที่ลงทุนทางการศึกษาสัดส่วนสูงที่สุดในกลุ่ม OECD อยู่ที่ 6.5% ของ GDP

แต่ถ้าดูคุณภาพการศึกษา พบว่าคะแนนเฉลี่ยผลประเมิน PISA ของประเทศกลุ่ม OECD ด้านคณิตศาสตร์ 488 คะแนน วิทยาศาสตร์ 489 คะแนน และการอ่าน 489 คะแนน สูงกว่าคะแนน PISA ของไทยที่มีคะแนนคณิตศาสตร์ 419 คะแนน วิทยาศาสตร์ 426 คะแนน และการอ่าน 393 คะแนน ทั้งๆ ที่ไทยมีสัดส่วนการจัดสรรทรัพยากรลงทุนทางการศึกษาสูงกว่าของ OECD

การศีกษามรดกสำหรับลูก

เมื่อพ่อแม่ต่างต้องการคุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุดให้กับเด็กๆ เพราะเชื่อว่า ‘การศึกษา’ คือมรดกอันล้ำค่าสำหรับลูก เพื่อเป็นใบเบิกทางสู่อนาคตที่ดีกว่า และต้องยอมรับว่ากำลังทรัพย์เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำพาบุตรหลานไปสู่คุณภาพการศึกษาที่ดี ตามความพึงพอใจของแต่ละบ้านแต่ละครอบครัว ในทางกลับกันค่าใช้จ่ายสำหรับลูกอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนหนุ่มสาวยุคนี้เลือกที่จะอยู่เป็นโสด แต่งงานช้าลง แต่งงานแล้วก็ไม่อยากมีลูก หรือมีลูกน้อย ภาพเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำสังคมสูงวัยของไทยให้เด่นชัดขึ้น ต่างกับคนเจนเนอเรชั่นเบบี้ บูมเมอร์อย่างชัดเจนที่นิยมมีลูกหลายคน

ย้อนอดีตไปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาพบ้านเมืองทั่วโลกได้รับความเสียหายจากสงครามไม่มากก็น้อย ในหลายประเทศต่างส่งเสริมให้ประชากรมีลูกหลายๆ คน เพื่อเป็นกำลังและแรงงานในการสร้างบ้านเมืองขึ้นมาใหม่อีกครั้ง และกลายเป็นค่านิยมของคนที่เกิดในช่วงพ.ศ. 2489–2507 หรือที่เรียกกันว่า Baby Boomer ปัจจุบันบางคนในกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งคิดเป็น 16.7% ของประชากรในประเทศไทย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการสำรวจถึงความอยากมีลูกของคนไทยไว้เมื่อปี 2560 พบว่า คนไทยอยากมีลูก 1.69 คน ลดลงประมาณ 9% จากที่เคยสำรวจเมื่อปี 2544 เมื่อเริ่มมีลูกน้อยลง หลายครอบครัวเริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาบุตรมากขึ้น การศึกษาจึงเป็นเหมือนสมบัติที่พ่อแม่ให้ไว้กับลูก แต่การศึกษานั้นก็มีราคาที่ต้องจ่ายนะครับ พ่อแม่จึงควรวางแผนเพื่อเป็นแนวทางสร้างสมบัติล้ำค่าไว้ให้ลูกตั้งแต่เนิ่นๆ

วางแผนการเงินเมื่อมีลูก 

3 เรื่องควรรู้ ลงทุนเพื่อลูก

การลงทุนเพื่อลูก โดยทั่วไปแล้วกินเวลาค่อนข้างยาวนาน แต่ขึ้นอยู่กับพ่อแม่แต่ละคนว่าจะวางแผนระยะยาวแค่ไหน จะเริ่มต้นเก็บออมหรือลงทุนสำหรับเด็กๆ เมื่อลูกของท่านอายุเท่าไหร่ และจะลงทุนไปให้เขานานแค่ไหน ซึ่งถ้าเป็นสูตรพื้นฐานก็อาจเริ่มลงทุนตั้งแต่แรกเกิด หรือเมื่อลูกเข้าเรียนอนุบาล จนจบปริญญาตรี เพราะเมื่อลูกเรียนจบ มีงานทำ มีรายได้ พ่อแม่ก็จะปล่อยให้โบยบินไปใช้ชีวิตของตัวเอง

ส่วนตัวผมเองก็ได้วางแผนการลงทุนเพื่อลูกทั้ง 2 คนเช่นกัน และได้ทำบันทึกการลงทุนเป็นประจำทุกปี ผู้ที่สนใจสามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ครับ https://jitta.co/3QgRv1S  ซึ่งหลายครั้ง ผมมักได้รับคำถาม หรือขอคำแนะนำจากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ หรือคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นลงทุนเพื่อลูก วันนี้ผมขอให้หลักการคร่าวๆ ที่จะเป็นตัวตั้งต้นการลงทุนเพื่อลูกของคุณ ผ่านคำถาม 3 ข้อนี้ที่คุณต้องตอบให้ได้อย่างชัดเจนเพื่อเป็นเข็มทิศลงทุนไปสู่เป้าหมายของคุณเอง นั่นก็คือ ระยะเวลาที่ลงทุน สินทรัพย์ที่ลงทุน และผลตอบแทนที่คาดหวัง ซึ่งแท้จริงแล้ว ทั้ง 3 ข้อนี้ล้วนเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับการลงทุนในทุกวัตถุประสงค์นั่นเอง

#เรื่องแรก คือ ต้องตอบให้ได้ว่าคุณจะวางแผนเก็บเงินและลงทุนให้ลูกเป็นเวลากี่ปี

เพราะระยะเวลาในการลงทุน จะเป็นตัวกำหนดว่าคุณควรลงทุนในสินทรัพย์อะไร ซึ่งจะส่งผลต่อมูลค่าเงินลงทุนที่คุณตั้งใจไว้เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าคุณวางแผนลงทุนระยะยาวเป็นเวลา 10-20 ปี ก็สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ แต่ถ้าหากมีเวลาลงทุนประมาณ 5-10 ปี อาจต้องเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่มีความเสี่ยงและความผันผวนน้อยลง เพื่อรักษาเงินต้นให้ปลอดภัยมากขึ้น

สำหรับบ้านที่วางแผนลงทุนเพื่อลูกตั้งแต่แรกเกิดไปจนเรียนจบปริญญาตรี ตามแผนการเรียนปกติลูกของคุณจะเรียนจบเมื่ออายุประมาณ 21-23 ปี และแผนลงทุนของคุณก็จะมีระยะเวลาเท่ากันนี่แหละครับ แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ระหว่างทาง เช่น เมื่อลูกสนใจไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนในต่างประเทศซึ่งต้องใช้เวลา 1 ปี เมื่อกลับมาอาจต้องเรียนซ้ำชั้นหรือสามารถใช้ผลการเรียนจากโรงเรียนที่ไปแลกเปลี่ยนเพื่อขึ้นชั้นถัดไปได้เลย ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละโรงเรียนและความสมัครใจของเด็กด้วยนะครับ

หรือเมื่อลูกเข้าเรียนปี 1 แล้ว เมื่อถึงเทอม 2 หรือขึ้นชั้นปีที่ 2 เกิดเปลี่ยนใจอยากไปเรียนสาขาวิชาอื่น หรืออยากสอบเข้าใหม่เพื่อเลือกมหาวิทยาลัยที่ต้องการมากกว่า อาจต้องใช้เวลามากขึ้นอีก 1 ปีกว่าจะเรียนจบปริญญาตรี คุณจึงต้องวางแผนเพื่อเหลือเผื่อขาดกับสถานการณ์เหล่านี้ด้วย

#เรื่องที่ 2 จะเลือกลงทุนด้วยวิธีใด

อย่างที่กล่าวไปตอนต้นนะครับ ว่าการลงทุนเพื่อลูกเป็นแผนระยะยาวนับ 10 หรือ 20 ปี ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกสินทรัพย์ที่มีคุณภาพเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว มีโอกาสเติบโตในอนาคต มีความผันผวนต่ำ โดยราคาไม่ได้อ่อนไหวไปตามสถานการณ์ต่างๆ มากนัก ถ้าเป็นการลงทุนในหุ้นอาจเลือกลงทุนในกลุ่มหุ้นมั่นคง หรือ Defensive Stock ถ้าเป็นรายอุตสาหกรรมธุรกิจเฮลท์แคร์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือธุรกิจในกลุ่มเมกะเทรนด์โลกก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีทีเดียวครับ

หากเลือกลงทุนเป็นรายประเทศหรือภูมิภาค ก็มีหลายตลาดที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นตลาดพัฒนาแล้วที่มีความแข็งแกร่งและมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ระดับโลกอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกตลาดพัฒนาแล้วที่กลับมาเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปคือตลาดญี่ปุ่น ก็นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และที่ไม่ควรละจากพอร์ตลงทุนคือตลาดจีน ที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต รวมทั้งตลาดน้องใหม่มาแรงที่กำลังเนื้อหอมสุดๆ ในตอนนี้คือเวียดนาม

คุณพ่อคุณแม่ท่านใด ที่กล้าได้-กล้าเสีย-กล้าเสี่ยงมากกว่านี้ ก็สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้ ในทางกลับกัน ท่านที่เน้นรักษาพอร์ตให้ปลอดภัย ก็สามารถกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ไม่ว่าจะป็นตราสารหนี้ หรือแพ็กเกจเงินฝากเพื่อลูกก็น่าจะตอบโจทย์เช่นกัน

 วางแผนการเงินเพื่อลูก

#เรื่องสุดท้าย ผลตอบแทนที่คาดหวัง

ระยะเวลาและสินทรัพย์ที่ลงทุนถือเป็นตัวแปรหลัก ที่จะทำให้พอร์ตของคุณเติบโตถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งการกำหนดอัตราผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนต่อปี จะเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่พอจะคำนวณได้ว่า เมื่อสิ้นสุดจุดหมายปลายทางของแผนลงทุนเพื่อลูกแล้ว มูลค่าพอร์ตลงทุนจะจบลงที่ตัวเลขประมาณเท่าไหร่ โดยในการตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในแต่ละปี อาจศึกษาจากข้อมูลและสถิติย้อนหลังเพื่ออ้างอิง หรือถ้าง่ายกว่านั้น สามารถเลือกลงทุนในแผนการลงทุนที่เหมาะกับระดับความเสี่ยงของตัวเองด้วย ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้หรือ ETF

ระหว่างทางสู่เป้าหมาย

‘ศาสตร์’ ขั้นพื้นฐานที่ควรรู้ก่อนการตัดสินใจลงทุน เป็นเพียงจุดสตาร์ทก่อนออกตัวจริง เมื่อลงมือปฏิบัติแล้วยังมี ‘สูตร’ การลงทุนอีกหลากหลายที่นักลงทุนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับไลฟ์สไลต์การลงทุนของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการลงทุนที่แตกต่างกันออกไป โดยคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจใช้วิธีลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่เพียงครั้งเดียว แล้วปล่อยให้เงินลงทุนของคุณทำงานไป

หรือบางท่านที่มีเวลาติดตามภาวะตลาดและข่าวสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด ก็อาจสามารถปรับพอร์ตลงทุนให้เหมาะกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป สำหรับท่านที่ไม่มีเวลาติดตามตลาดมากนักอาจใช้วิธีลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน หรือ DCA เพื่อความสะดวกในการบริหารพอร์ต ซึ่งแต่ละวิธีไม่มีสูตรตายตัว และไม่สามารถชี้ผิดชี้ถูกได้นะครับ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและไลฟ์ไตล์ของนักลงทุนแต่ละท่านเลย เช่น ถ้าคุณทำงานประจำก็อาจใช้วิธีแบ่งเงินมาลงทุนแบบ DCA แล้วเก็บเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้จ่ายสำหรับจุดประสงค์อื่นๆ หรือถ้ามีเงินเย็นก้อนใหญ่ที่พร้อมสำหรับลงทุนเพื่อลูกอยู่แล้ว ก็จัดไปได้เลยครับ

หลักการกระจายความเสี่ยงและการปรับพอร์ตลงทุน หรือ Asset Allocation ก็เป็นอีกหนึ่งศาสตร์พื้นฐานและเป็นสูตรการลงทุนที่สำคัญ ที่จะช่วยให้เป้าหมายการลงทุนของคุณเดินไปสู่ความจริงได้มากขึ้น หรือถ้ามีผู้ช่วยปรับพอร์ตลงทุนให้คุณอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทุกๆ 3 เดือน เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่ดียิ่งขึ้น และลดภาระการติดตามสภาวะตลาดที่แสนจะวุ่นวาย พลาดพลั้งไปจับจังหวะผิด พอร์ตเสียหายไปก็จิตตกกันไปหลายวัน ซึ่งสินทรัพย์การลงทุนทั่วโลกเวลานี้มีความหลากหลาย การกระจายลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท ก็ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่นักลงทุนแต่ละคนจะยอมรับได้ และย่อมส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนที่จะได้รับเช่นกัน ตามหลักการ high risk-high return นั่นเอง

การวางแผนทางการเงินหรือวางแผนการลงทุน ควรเป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับทุกคนทุกครอบครัว ไม่เพียงแค่การลงทุนเพื่อลูกเท่านั้น แต่ยังสามารถปรับใช้ได้กับวัตถุประสงค์อื่นๆ ได้อีกมากมาย ขอเพียงตอบคำถาม 3 ข้อนี้ได้แล้วก็ไม่มีอะไรที่ยากหรือต้องกังวลครับ

วางแผนการเงินเพื่อลูก

เพราะโลกการลงทุนอาจจะมีความซับซ้อนก็จริง แต่ทุกวันนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ  เข้ามาเพิ่มทางเลือกและเอื้อต่อนักลงทุนหน้าใหม่หน้าเก่า โดยเฉพาะเทคโนโลยีการลงทุนที่ช่วยให้ชีวิตการลงทุนเป็นเรื่องง่าย ทั้งคัดสรรสินทรัพย์ลงทุนคุณภาพที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว บริหารพอร์ตลงทุนงอกเงย เวลาที่เหลือของคุณพ่อคุณแม่ควรใช้ไปกับการจัดการหน้าที่การงานและพัฒนาศักยภาพลูกรักได้อย่างเต็มที่ หากคุณยังไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองศึกษาข้อมูลก่อนได้ที่ https://blog.jittawealth.com/

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานะพ่อ-แม่-ลูก หรืออื่นใด.. มาวางแผนลงทุนกันเถอะครับ

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ. จิตตะ เวลธ์ จำกัด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT