ศักดิ์สยาม กบร.เห็นชอบ ทอท.ขยายเวลาลดค่าบริการสนามบินอีก 1 ปีจาก ธ.ค. 64 เป็น ธ.ค. 65 ส่วน บวท.ยืดเวลาชำระค่าบริการ จาก 90 วันเป็น 180 วันช่วยบรรเทาผลกระทบสายการบิน และเห็นชอบเพิกถอนใบอนุญาต “นิวเจนแอร์เวย์ส” หลังขาดทุนมีหนี้กว่า 2 พันล้าน และหยุดบินตั้งแต่ ส.ค. 62
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 4/2564 วันที่ 28 เมษายน 2564 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการประกาศใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบของสายการบิน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระยะที่ 3 ไตรมาสที่ 2/2564 โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขประกอบการดำเนินการ 3 หน่วยงาน ได้แก่
1. มาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. โดยให้ขยายระยะเวลาสิ้นสุดจากวันที่ 31 ธันวาคม 2564 เป็นวันที่ 31 มีนาคม 2565
2. มาตรการปรับลดและยกเว้นค่าบริการสนามบินของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดย ทย.สามารถดำเนินการได้เมื่อได้รับเงินชดเชยเข้าเงินทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานจากรัฐบาลแล้ว และจะดำเนินการคืนเงินค่าบริการส่วนต่างดังกล่าวที่เรียกเก็บมาแล้วคืนให้แก่สายการบินต่อไป
3. มาตรการปรับลดค่าบริการการเดินอากาศของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ได้มีการพิจารณาคำขอของสมาคมสายการบินประเทศไทยที่ขอขยายระยะเวลาชำระหนี้ค่าบริการการเดินอากาศในงวดเดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 จาก 90 วัน เป็น 180 วัน เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบที่สายการบินได้รับจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดย บวท.ได้เสนอทางเลือกว่าจะขยายระยะเวลาชำระหนี้ค่าบริการให้แก่สายการบิน ซึ่ง กบร.ให้ กพท.ประสานไปยังสมาคมฯ เพื่อทราบข้อเสนอของ บวท.ต่อไป
และให้ กพท.พิจารณาทบทวนการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศฯ และการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับค่าบริการต่างๆ ของผู้ประกอบการด้านการบิน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการเดินอากาศเมื่อสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ
@เห็นชอบเพิกถอนใบอนุญาต “นิวเจน แอร์เวย์ส”
นอกจากนี้ กบร.ยังมีมติให้ความเห็นชอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสั่งเพิกถอนใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ หรือ AOC (ใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน) เลขที่ 5/2560 ที่ออกให้แก่บริษัท นิวเจน แอร์เวย์ส จำกัด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 41/129 แห่ง พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562 ประกอบข้อ 50 ของข้อบังคับของคณะกรรมการการบินพลเรือนฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์และประเภทการทำงานทางอากาศเช่น ไม่สามารถดำเนินกิจการอย่างต่อเนื่อง (ยกเลิก/เลื่อนเที่ยวบินจำนวนมาก) ไม่มีอากาศยานให้บริการมีผลขาดทุนมากมีหนี้สินถึงกว่า 2 พันล้าน ขาดสภาพคล่องขาดแหล่งเงินทุน โดยมีการหยุดทำการบินตามสิทธิในเส้นทางบินที่ได้รับอนุญาตแล้วทั้งหมด โดย กบร.กำชับให้ กพท.ตรวจติดตามให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย
นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยและในต่างประเทศมีความรุนแรงขึ้น จึงได้สั่งการให้ กพท.ดำเนินมาตรการต่างๆ ด้วยความรอบคอบรวดเร็ว และสอดคล้องกับมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล โดยให้ กพท.ประสานงานกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อย่างใกล้ชิด และให้ กพท.รายงานผลการดำเนินมาตรการให้ กบร.ได้รับทราบเพื่อจะได้ช่วยทำความเข้าใจต่อสาธารณชนได้ถูกต้อง และในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 คลี่คลายลง ให้ กพท.ตรวจสอบการดำเนินการเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือนและการส่งเสริมเศรษฐกิจ การขนส่งทางอากาศเพื่อให้พร้อมต่อการเปิดประเทศและเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ ให้ กพท.ติดตามการดำเนินการสนามบินเบตงของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยให้ประสานกับท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประกอบการสายการบินที่จะทำการบิน ณ สนามบินเบตง เพื่อให้มีความพร้อมในการเปิดใช้งานสนามบินเบตง โดยให้รายงานความคืบหน้าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมทราบด้วย