ผู้เชี่ยวชาญมองกว่า กระแส “ตื่นทอง (Gold Rush)” ของสตาร์ทอัปในภูมิภาคอาเซียน จะยังคงดำเนินต่อไปในปี 2022 สำหรับนักลงทุนทั้ง Private Equity (การลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์) และ Venture Capital (กองทุนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อไปลงทุนในบริษัทอื่น) ที่มองหาโอกาสในการทำกำไร แต่ปรากฏการณ์แห่เทขายหุ้นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นจากทิศทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป อาจส่งกระทบต่อมูลค้าของบริษัทสตาร์ทอัป
แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ทอัปสัญชาติสิงคโปร์ “DealStreetAsia” รายงานสรุปดีลที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ในปี 2021 ที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ทอัปสัญชาติอาเซียน ระดมทุนได้ รวมกันถึง 2.57 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 8.59 แสนล้าน) คิดเป็นปริมาณเงิน มากขึ้นถึง 2.7 เท่า จากปีก่อนที่มีมูลค่า 9.4 พันล้านดอลลาร์ (3.14 แสนล้านบาท) และ คิดเป็นเกือบ 2 เท่า ของปริมาณเงินสูงสุดที่เคยทำไว้ในปี 2018 ที่ 1.4 หมื่นล้านเหรียญ (4.68 แสนล้านบาท)
บทวิเคราะห์ระบุว่า “ในขณะที่กระแสเงินที่ไหลทะลักเข้ามา เป็นเอกลักษณ์ของตลาดที่เกิดใหม่และกำลังเติบโต และจุดนี้เอง ยังเป็นการตอกย้ำถึงความมั่นใจของนักลงทุนระดับโลก ในศักยภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมเทคโนโลยี”
การเติบโตของวงการสตาร์ทอัปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มก่อตัวขึ้นในช่วงปี 2010 ซึ่งเป็นยุคที่ “สมาร์ทโฟน” เริ่มเจาะตลาดเข้ามาในภูมิภาคนี้ ก่อนหน้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 เงินทุนส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่กับสตาร์ทอัปเบอร์ต้นๆ เพียงไม่กี่ราย เช่น Grab หรือ Gojek ซึ่งหนึ่งผู้ลงทุนรายสำคัญในยุคนั้น คือ SoftBank Group บริษัทโฮลดิ้งยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่น ที่ทุ่มทุนหลักพันล้านให้กับ Grab และ Tokopedia แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติอินโดนีเซีย
ตัดภาพมาที่ปี 2021 บริษัทเหล่านี้ยังคงเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในการระดมทุนจากนักลงทุน โดย Gojek และ Tokopedia ควบรวมกิจการกลายเป็นบริษัทเทคโนโลยี “GoTo” ระดมทุนไปได้รวม 1.6 พันล้านดอลลาร์ (5.35 หมื่นล้านบาท) กลายเป็นการระดมทุนที่มากเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาค ในขณะที่ Grab เป็นผู้ระดมทุนมากเป็นอันดับที่ 4 กวาดทุนเงินมูลค่า 675 ร้อยล้านดอลลาร์ (2.26 หมื่นล้านบาท) ก่อนที่จะเข้าเทรดในตลาด Nasdaq ของอเมริกาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ปี 2021 เป็นปีที่วงการสตาร์ทอัปของอาเซียน ครอบคลุมหลากหลายประเทศ และกลุ่มธุรกิจมากยิ่งขึ้น มีบริษัทสตาร์ทอัปจากฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ระดมทุนได้มากเป็นอันดับต้นๆ ในปีนี้ และมีกลุ่มธุรกิจ Ed-Tech (เทคโนโลยีการศึกษา) FinTech (เทคโนโลยีการเงิน) และ Data Analytics (วิเคราะห์ข้อมูล) ติด 1 ใน 10 บริษัทสตาร์ทอัปที่ระดมทุนได้มากที่สุดอีกด้วย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่า วงการสตาร์ทอัปในภูมิภาคนี้ กำลังขยายตัวขึ้นอีกครั้ง
Yinglan Tan ผู้ก่อตั้งและบริหารกองทุน Insignia Ventures Partners ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นในบทวิเคราะห์ฉบับนี้ว่า
“หากเทียบกับช่วงพีคของการระดมทุนในปี 2018 แล้ว เราเห็นแหล่งเงินทุน และบริษัทผู้ระดมทุนที่มีความหลากหลายขึ้นมาก ทั้งในแง่กลุ่มอุตสาหกรรม และตลาด ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความแข็งแกร่งของระบบนิเวศสตาร์ทอัป” ซึ่งเขาอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ว่า “การตื่นทองแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
หากแยกพิจารณาเป็นตามหมวดธุรกิจแล้ว “สาย Fintech” ระดมทุนได้เป็นจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 โดยระดมทุนได้ 5.83 พันล้านดอลลาร์ (ราว 1.95 แสนล้านบาท) ทะยานขึ้นถึง 4 เท่าจากปริมาณ 1.46 พันล้าน (4.88 หมื่นล้านบาท) ในปี 2020 จากการที่โควิด-19 กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด และบริการการเงินออนไลน์ ซึ่งหากเทียบกับในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว การเข้ามาของบริการเหล่านี้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะส่งผลกระทบเชิงสังคมมากกว่า เพราะในภูมิภาคนี้ ผู้เปิดบัญชีธนาคารยังถือน้อยกว่ามาก เป็นช่องว่างให้ธุรกิจเข้ามาพัฒนา
ตัวอย่างเช่น บริษัท “Mynt” จากประเทศฟิลิปปินส์ บริษัทสตาร์ทอัปด้าน FinTech ที่โด่งดังจากกระเป๋าเงินออนไลน์ “GCash” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Ant Group ยักษ์ใหญ่ด้าน Fintech ของแจ็ค หม่า สามารถระดมทุนไปได้ 475 ล้านดอลลาร์ (1.59 หมื่นล้านบาท) จากกองทุน Private Equity Warburg Pincus จากสหรัฐ
หรือบริษัท Fintech “M-Service” จากประเทศเวียดนาม เจ้าของ e-wallet “MoMo” ได้รับเงินทุนจากธนาคาร Mizuho สัญชาติญี่ปุ่น และนักลงทุนรายอื่นๆ รวมกว่า 300 ล้านดอลลาร์ (1 แสนล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา
หมวดธุรกิจที่ได้รับเงินลงทุนมากเป็นอันดับที่ 2 คือ “สายโลจิสติกส์” ที่กวาดเงินไปได้กว่า 5.56 พันล้านดอลลาร์ (1.86 แสนล้านดอลลาร์) จากการเติบโตของธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ที่ทำให้ความต้องการในการส่งสินค้าถีบตัวขึ้นสูงขึ้น ดันให้เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่ของกลุ่มธุรกิจ ไหลไปอยู่กับบริษัทขนส่งสัญชาติอินโดนีเซีย “J&T” พี่ใหญ่ของกลุ่มนี้ซึ่งระดมทุนได้ 4.5 พันล้านดอลลาร์ (1.5 แสนล้านบาท) ครองตำแหน่งธุรกิจที่ได้เงินระดมทุนสูงที่สุดในปี 2021 ตามมาด้วยบริษัทขนส่งจากสิงคโปร์ “Ninja Van” กับเงินระดมทุน 579 ล้านดอลลาร์ (1.9 หมื่นล้านบาท) อยู่ที่ลำดับ 7 ของปีที่ผ่านมา
และจากเงินระดมทุนที่ได้มาในปี 2021 ทำให้ทั้ง 4 บริษัทที่กล่าวมานี้ มีมูลค่าบริษัทเกินกว่า 1 พันล้านดออลาร์ กลายร่างเป็น “ยูนิคอร์น” หรือบริษัทสตาร์ทอัปที่มีมูลค่าบริษัทก้าวข้าม 1 พันล้านดอลลาร์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
หากนับย้อนไปตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2020 อาเซียนมีสตาร์ทอัปที่ถูกเรียกว่า “ยูนิคอร์น” 21 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่มากจากแหล่งผลิตสตาร์ทอัปของภูมิภาคนี้อย่าง อินโดนีเซียและสิงคโปร์ แต่ในปี 2021 เพียงปีเดียว DealStreetAsia รายงานว่า มีม้ายูนิคอร์นเกิดขึ้นมาในภูมิภาคนี้ถึง 25 ตัว จาก 6 ประเทศอาเซียน ซึ่งมีมูลค่าบริษัทรวมกันถึงกว่า 5.54 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.85 ล้านล้านบาท) ตัวอย่างบริษัทสตาร์ทอัปที่กลายเป็นยูนิคอร์นในปีที่ผ่านมา ได้แก่
แม้จะไม่ใช่ม้ายูนิคอร์น แต่สตาร์ทอัปในภูมิภาคนี้ก็ยังมีโมเมนตัมการระดมทุนที่ดี อย่างเช่น “Doctor Anywhere” สตาร์ทอัปด้านการรักษาทางไกลสัญชาติสิงคโปร์ เปิดเผยกับ สำนักข่าวนิกเกอิว่า ได้รับการติดต่อจากนักลงทุนหลายราย ที่แสดงความสนใจขอเข้ามาลงทุนด้วย ซึ่ง Doctor Anywhere ได้รับเงินจากการระดมทุน Series C มูลค่า 65 ล้านดอลลาร์ (2.17 พันล้านบาท) ในปีที่ผ่านมา
ม้ายูนิคอร์นที่มีต้นกำเนิดจากภูมิภาคนี้ ก็กำลังเติบใหญ่ขึ้นไปอีกเช่นกัน อย่างเช่นดีลการควบรวมระหว่างบริษัท SPAC (บริษัท “เช็คเปล่า” ที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนเข้ารวมกิจการกับบริษัทเป้าหมาย) กับ Grab เพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือแพลตฟอร์ม อี-คอมเมิร์ซ “Bukalapak” ที่นับเป็นการเข้า IPO ที่มีมูลค่าสูงสุด ในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นอินโดนีเซีย
ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่า กระแสการไหลของเงินทุนจากนักลงทุนทั่วโลก จะยังคงไหลบ่ามายังสตาร์ทอัปในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย Martin Tang ผู้ร่วมก่อตั้งและหุ้นส่วนกองทุน Genesis Alternative Ventures จากสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับนิกเกอิ ว่ากระแสการลงทุนกับสตาร์ทอัปในภูมิภาคอาเซียนจะยังคงแข็งแกร่ง เนื่องมาจากบรรดาไพรเวทอิควิตี้ และเวนเจอร์แคปิทัลหลายเจ้า “ตกรถ” ในการลงทุนกับธุรกิจในช่วงที่กำลังกลับมาฟื้นตัว พวกเขาจึงต้องเร่งลงทุนเพื่อทำผลกำไร
แม้จะมีสัญญาณที่ดี แต่ก็อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่ชะลอความร้อนแรงของการลงทุนสตาร์ทอัปอาเซียนในปีนี้ ซึ่งอาจกระทบในแง่มูลค่าตลาดหรือจำนวนบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน ดังเช่น การใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นของบรรดาธนาคารกลาง หลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเริ่มแผลงฤทธิ์กับหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่สัญชาติอาเซียนแล้ว
เช่น บริษัท “Sea” (บริษัทแม่ของ Shopee และ Gareena) ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก มีมูลค่ากิจการลดลงเกินครึ่งหนึ่ง เทียบกับจุดสูงสุดในเดือนตุลาคม หรือ บริษัท “Grab” ที่หลังจดทะเบียน เข้าซื้อขายหุ้นในตลาด Nasdaq ของสหรัฐ มูลค่าหุ้นร่วงเหลือครึ่งหนึ่งของที่เคยคาดการณ์ไว้
“การเทขายหุ้นเทคโนโลยีในครั้งนี้จะช่วยชะลอความร้อนแรงของมูลค่าหุ้นได้ และจะทำให้ตลาดมีเหตุมีผลมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีกับตลาดในระยะยาว” Tang จาก Genesis Alternative Ventures เสริม
ยิ่งไปกว่านั้น DealStreetAsia ยังชี้ให้เห็นถึง "การไหลกลับของกระแสเงินลงทุน" จากอุตสาหกรรมใหม่ กลับไปสู่อุตสาหกรรมดั้งเดิม เพื่อแก้ไขปัญหาความฝืดเคืองของซัพพลายเชน และเพื่อเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องชะลอไปในช่วงล็อกดาวน์
แม้เงินทุนที่ไหลสู่สตาร์ทอัปจะ ไม่แห้งเหือดไป เสียทีเดียว แต่ก็อาจจะ ชะลอตัวลงได้ จากการปรับกลยุทธของนักลงทุนสถาบัน เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป