ความยั่งยืน

แก้ปัญหาขยะประเทศไทยกับ 'วรรณสิงห์' จิตสำนึกแย่ หรือระบบไม่ดี?

27 ก.ย. 65
แก้ปัญหาขยะประเทศไทยกับ 'วรรณสิงห์' จิตสำนึกแย่ หรือระบบไม่ดี?

ในเมืองไทย ปัญหาขยะมักจะถูกจัดให้เป็นเรื่องของระดับจริยธรรมของแต่ละคน เป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคลต้องจัดการ เพราะฉะนั้นวิธีแก้ก็คือต้อง ‘ปลูกจิตสำนึก’ ให้ทุกคนช่วยกันแยกขยะ จึงจะช่วยให้การจัดการขยะเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยโลกได้อย่างยั่งยืน

แต่ในมุมมองของ ‘วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล’ ปัญหาขยะ ‘ไม่ใช่แค่ปัญหาปัจเจก’ ที่แก้ได้ด้วยการพูดรณรงค์ซ้ำๆ ให้คนรู้จักแยกขยะ 

หากแต่เป็น ‘ปัญหาเชิงระบบ’ ที่แก้ได้ด้วยการสร้างโครงสร้าง และระบบกฎหมายที่เอื้อให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมจนการลด แยก และจัดการขยะอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่ทำได้จริง ทำได้ง่าย และสร้างรายได้ในชีวิตประจำวัน

 

‘จิตสำนึก’ สร้างได้ด้วย ‘ระบบและโครงสร้าง’ ที่ดี

วรรณสิงห์กล่าวในงาน Sustainability Expo 2022 (SX2022) ว่า การแยกขยะตั้งแต่ต้นทางว่าเป็นขยะที่รีไซเคิลได้ รีไซเคิลไม่ได้ และขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร นั้นเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะมันช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในกระบวนการจัดการขยะในปลายทางได้อย่างมหาศาล

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

 

แต่การจูงใจให้คนแยกขยะนั้นไม่ควรทำเพียง ‘สร้างจิตสำนึก’ หรือผลักให้เป็นเรื่องจริยธรรมที่ทำแค่ให้ตัวเองเป็นคนดี แต่ ‘ควรเป็นเรื่องที่คนรู้ทั่วไปว่าควรทำและต้องทำ’ ไม่ใช่การทำความดีที่เลือกจะทำหรือไม่ทำก็ได้ และทำให้มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำได้สะดวกในชีวิตประจำวัน

และการจะทำให้ผู้คนติดนิสัยแยกขยะเป็นปกติได้ หน่วยงานรัฐต้อง ‘สร้างระบบโครงสร้างที่เอื้อให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม’ และ ‘สร้างศรัทธาในระบบการจัดการขยะของรัฐ’ เพราะตอนนี้รัฐยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ ทำให้คนทั่วไปมองว่าถึงจะลงมือแยกขยะเองสุดท้ายรัฐก็ ‘เทรวม’ ไม่มีประโยชน์อยู่ดี

โดยในปัจจุบัน หากเรามี ‘จิตสำนึก’ และไม่อยากให้ขยะเราไปลงเอยที่หลุมฝังกลบ เราต้องแยกขยะที่รีไซเคิลได้ออกมาเอง และออกไปวางให้ซาเล้งเก็บไปขาย (ซึ่งสุดท้ายอาจจะไม่ใช่ซาเล้งเก็บไปก็ได้) หรือขับรถเอาขยะไปส่งโรงแยกเอง ส่วนขยะอินทรีย์ถ้าอยากทำให้เป็นปุ๋ยก็ต้องหัดทำถังหมัก หรือซื้อถังหมักไฟฟ้าราคาเป็นพันเป็นหมื่นมาใช้ ซึ่งการจะทำได้ต้องมีทั้งเวลา ทั้งเงินทุนในการจัดการขยะ ทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีกำลังทรัพย์หรือเวลาว่างมาทำ

แต่ถ้าหากภาครัฐจัดการทำให้การแยกขยะสะดวกขึ้น เช่น สร้างโรงแยกขยะหลายแห่งทำให้ประชาชนเข้าถึงสะดวกขึ้น สร้างการเก็บขยะที่เป็นระบบ เช่น กำหนดวันเก็บขยะแต่ละประเภท หรือสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจ เช่น ให้เงินกับประชาชนที่แยกขยะไปขาย หรือออกโทษปรับประชาชนที่ไม่แยกขยะ ประชาชนก็จะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปเอง

โดยจะเห็นได้ว่าการทำให้ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่สามารถอาศัยแค่โครงสร้างระบบจัดการขยะที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องมี ‘ระบบกฎหมาย’ ที่สร้างแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรม และทำให้การจัดการขยะมีมาตรฐานเหมือนกันทั้งประเทศด้วย 

เพราะปัจจุบันเรายังไม่มีแผนการจัดการขยะระดับชาติ ทำให้การจัดการขยะในบางพื้นที่ไม่มีประสิทธิภาพ บางพื้นที่ไม่มีรถขยะเข้าทำให้ประชาชนกำจัดขยะเองด้วยการเผา หรือในพื้นที่แออัดใกล้แม่น้ำที่รถขยะเข้าไม่ถึง ทำให้แม่น้ำในประเทศไทยมีขยะและปริมาณมลพิษสูงแบบในปัจจุบัน

 

‘ลด’ ดีกว่า ‘กำจัด’

นอกจากนี้ เขายังพูดอีกด้วยว่าถึงแม้การจัดการขยะจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่นั่นก็เป็น ‘การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ’ เท่านั้น เพราะสิ่งที่ควรทำเพื่อแก้ปัญหาขยะล้นจริงๆ ก็คือ ‘การลดขยะ’ โดยเฉพาะ ‘ขยะพลาสติก’ ที่กำจัดยากที่สุด เพราะปัจจุบันประเทศไทยยังรีไซเคิลพลาสติกได้เพียงบางประเภท ที่รีไซเคิลไม่ได้ก็ต้องกำจัดด้วยการ ‘เผา’ ที่ถึงจะลดปริมาณขยะและนำพลังงานทีไ่ด้ไปสร้างไฟฟ้าได้ก็สร้างมลพิษมหาศาล 

ซึ่งการจะลดการผลิตขยะได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาคส่วนธุรกิจและผู้บริโภค เพราะในขณะที่ธุรกิจห้างร้านต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบกับขยะที่ตัวเองก่อในห่วงโซ่การผลิต ผู้บริโภคก็ต้องกดดันให้บริษัทเหล่านี้เปลี่ยนแปลงด้วย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT