ความยั่งยืน

รู้จักงานด้านการอนุรักษ์ที่ไม่ใช่แค่'งานจิตอาสา'แต่เป็น'งานเพื่ออนาคต'

28 ก.ย. 65
รู้จักงานด้านการอนุรักษ์ที่ไม่ใช่แค่'งานจิตอาสา'แต่เป็น'งานเพื่ออนาคต'

สำหรับหลายๆ คน “งานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” อาจจะเป็น “งานอาสาสมัคร งานจิตอาสา” ที่ไม่สามารถยึดเป็นอาชีพจริงจังได้

แต่ในยุคที่เรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องเรื่องที่ทุกคนรวมไปถึงภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญ ความเชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์หรือด้านความยั่งยืน ได้กลายเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรและภาคธุรกิจต้องการ และอาจกลายเป็นงานสายหนึ่งที่คนที่สนใจสามารถยึดเป็นวิชาชีพจริงจัง และมี Career path ให้เห็นเส้นทางการเติบโตของอาชีพนี้ได้

ในการเสวนา “การอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา แต่คืออาชีพแห่งอนาคต” โดยนิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย ในงาน Sustainability Expo 2022 ในวันนี้ มืออาชีพด้านความยั่งยืนและการอนุรักษ์ธรรมชาติ 3 ท่าน จาก 3 สายงานความยั่งยืน ได้มาแชร์แรงบันดาลใจ ประสบการณ์ และปัญหาที่ได้พบระหว่างการทำงานของตัวเอง

779112

อเล็กซ์ เรนเดล นักแสดง และนักเคลื่อนไหวด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมกล่าวย้ำว่า เรื่องความยั่งยืนควรเป็นเรื่องที่ต้องประกอบสอดแทรกในระบบการศึกษา เพราะเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน และเมื่อเด็กในยุคปัจจุบันกลายไปเป็นผู้นำ และผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในอนาคต เรื่องความยั่งยืนจะถูกสอดแทรกเข้าไปในทุกภาคส่วนโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ ไม่ว่าจะเรียนจบสายไหนมา หรือทำงานในด้านไหน ทุกคนสามารถนำเรื่องความยั่งยืนไปแตะ ไปสอดแทรกในการทำงานได้หมด ไม่จำเป็นจะต้องเรียนจบด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตรง ทำให้การสร้างความตระหนักและสอดแทรกเรื่องความยั่งยืนไปในทุกกิจกรรมชีวิตของคนเป็นเรื่องสำคัญมาก

724876

ฝั่งทาง ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักชีววิทยา และช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ ก็กล่าวว่า ถ้าหากทำงานด้านสื่อ โดยเฉพาะในด้านภาพ หากเน้นทำในหัวข้อสิ่งแวดล้อมก็อาจจะลำบากในช่วงแรกเพราะสื่อที่เน้นด้านสิ่งแวดล้อมยังมีจำนวนไม่มาก แต่ถ้าหากสร้างผลงานจนเป็นที่รู้จักแล้วงานเล่าเรื่องจากภาพด้านสิ่งแวดล้อมเป็นที่ต้องการมาก

เขายังเน้นอีกว่าสื่อทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นงานภาพและงานเขียน มีความหมายและพลังในการขับเคลื่อนสังคมด้วยกันทั้งหมด เพราะในคราวแรก เขาก็ไม่คิดว่าภาพถ่ายของตัวเอง เช่น ภาพถ่ายพะยูนกำพร้า ‘มาเรียม’ ที่ทำให้คนจำนวนมากตระหนักเรื่องการใช้พลาสติก จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้ แต่เมื่อภาพออกไปและได้รับเสียงตอบรับจากทุกคนแล้ว เขาก็มีความหวังที่ได้เห็นว่า ทุกคนยังสนใจเรื่องเหล่านี้อยู่

680624

ในด้านฝั่งนักวิชาการและนักวิจัย ธงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย ห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ ก็กล่าวว่า งานด้านวิชาการสิ่งแวดล้อมยังต้องการกำลังบุคลากรมาช่วยวิจัยจำนวนมาก แต่สายงานด้านวิชาการยังคง ‘ขาดเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอ’ จากทางรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ในไทย และชี้ว่าหน่วยงานในไทยควรให้ความสำคัญกับงานด้านวิชาการและการเก็บข้อมูล เพราะโครงการและแผนงานการพัฒนาต่างๆ จะเกิดขึ้นมาได้ ต้องอาศัย ‘ข้อมูล’ มาช่วยในการวางแผนและการตัดสินใจทั้งหมด

251363

จะเห็นได้ว่าในยุคปัจจุบันที่ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสนใจเรื่องความยั่งยืน งานด้านอนุรักษ์และความยั่งยืน ‘สามารถ’ และ ‘ควร’ ถูกส่งเสริมให้เป็นวิชาชีพที่ได้รับค่าตอบแทนสมน้ำสมเนื้อเหมือนใน 'ต่างประเทศ' ที่เขาเห็นว่างานด้านนี้มีความสำคัญ เพราะจะช่วยเรื่องความอยู่รอดของทั้งมนุษย์และระบบเศรษฐกิจในอนาคต 

และไม่ควรถูกมองเป็นงาน ‘จิตอาสา’ เพราะถ้าหากคนในสังคมหรือเด็กรุ่นใหม่มองว่างานด้านนี้เป็นงาน ‘อาสาสมัคร’ ไม่สามารถยึดเป็นวิชาชีพจริงจังได้ การเคลื่อนไหวและการสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทยก็จะไม่เติบโต และจะทำให้ไทยขาดศักยภาพในการพัฒนาทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจในอนาคต

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT