หากพูดถึงงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หลายๆ คนอาจจะคิดถึงงานนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทีทำงานในพื้นที่ห่างไกลไม่เกี่ยวข้องกับผู้คน แต่แท้จริงแล้ว สายงานหนึ่งที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก็คืองานที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุดอย่าง ‘สื่อมวลชน’ ที่มีอิทธิพลกับทั้ง ‘ความรู้’ ‘ความคิด’ และ ‘ความรู้สึก’ ของคน อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
เพราะถึงแม้จะมนุษย์จะเป็นสัตว์ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต แต่เราก็ล้วนทำสิ่งต่างๆ เพราะเรา “รู้สึกว่า” มันเป็นสิ่งสำคัญ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ไปจนถึงอุดมคติของเรา
และสิ่งที่ทรงพลังที่สุดที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจ เห็นความสำคัญของสิ่งต่างๆ และลงมือปฏิบัติก็คือ ‘เรื่องเล่า’ ในรูปแบบต่างๆ
ดังที่ผู้เล่าเรื่องทั้ง 6 คนที่ทำงานคร่ำหวอดในวงการสื่อเพื่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากงานเสวนาหัวข้อ “Postcards from Planet Possible Impact” เมื่อวันที่ 29 ก.ย. ที่ผ่านมา ณ งาน Sustainability Expo 2022 (SX2022) แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘การเล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง ‘ภาพถ่าย’ ‘งานเขียน’ และ ‘งานศิลปะ’ นั้นมีอิทธิพลให้การสร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็น Impact Storytelling ที่ไม่ใช่แค่เล่าเรื่อง แต่ยังกระตุ้นให้คนตั้งคำถาม ได้อย่างไร
และทำไมผู้ที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมทุกคน ไม่ว่าจะในสาขาอาชีพไหนล้วนต้องมีทักษะในการสื่อสาร และเล่าเรื่องให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญของเรื่องที่เราขับเคลื่อนให้ได้
สำรวจให้รู้จักโลกและชีวิต
สำหรับคนที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คงไม่มีใครไม่รู้จัก National Geographic ซึ่งเป็นสื่อที่มีชื่อเสียงมายาวนานในด้านวิทยาศาสตร์ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของโลก และมักจะเป็นที่กล่าวถึงในความสามารถใน ‘การเล่าเรื่องผ่านงานเขียนสารคดีและภาพถ่าย’ ที่บางครั้งก็สวยงามตระการตา บางครั้งก็สร้างความสะเทือนใจจนทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจการรักษาสิ่งแวดล้อมตั้งแต่แรก
และแน่นอนว่างานเขียนดีๆ และภาพสวยๆ เหล่านั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาด ‘นักสำรวจ’ หรือ explorer ที่ดั้นด้นบุกป่าฝ่าดง ขึ้นเขาลงห้วยเพื่อทั้งเก็บภาพความสวยงาม และตีแผ่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมให้คนทั่วไปตระหนัก ซึ่งหลายๆ ปัญหาอาจจะไม่มีวันปรากฎขึ้นในสายตาชาวโลกหากไม่มีใครเขียนถึง
‘มอลลี แฟร์ริล’ (Molly Ferrill) ช่างภาพและนักสำรวจของ National Geographic กล่าวว่า สำหรับเธอแล้ว นักสำรวจไม่ใช่เพียงอาชีพ แต่เป็น ‘ชุดความคิด’ (mindset) ที่จำเป็นต่อการสร้างความยั่งยืนให้แก่โลก เพราะมันทำให้เราใส่ใจหันมองสิ่งรอบตัวที่อาจจะเคยมองข้าม และหัดตั้งคำถามกับกระบวนการต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นการผลิต หรือการบริโภค ว่าเป็นอย่างไร และสร้างผลกระทบอย่างไรให้โลก และสื่อที่เธอผลิตออกมาก็คือภาพสะท้อนของชุดความคิด และความใคร่รู้สงสัยในสิ่งต่างๆ เหล่านั้นออกมาเป็นงานที่จับต้องได้
ดังนั้นเธอจึงอยากให้ทุกคนทำตัวเป็น ‘นักสำรวจ’ และหัดใส่ใจมองสิ่งรอบตัว ตั้งคำถามกับหลายอย่างที่อาจจะเป็นสิ่งธรรมดารอบตัวว่ามาจากไหน การผลิตสิ่งเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อใคร ไม่ว่าจะเป็น อาหารที่เรากิน หรือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เพราะสิ่งที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่โครงการใหญ่โต แต่เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน
ปัจจุบันเธอทำงานเป็นทั้งนักถ่ายภาพ นักเขียน นักทำสารคดี และนักข่าวให้กับ National Geographic งานของเธอเน้นเล่าความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ เช่น มนุษย์กับช้าง รวมไปถึงเล่าปัญหาในสังคมต่างๆ ทั้งปัญหาการค้ามนุษย์ และปัญหาการค้าสัตว์ผิดกฎหมาย
ถัดมาจากมอลลี นักสำรวจของ National Geographic อีก 2 ท่านจากประเทศไทยที่มาร่วมเสวนาในครั้งนี้คือ ‘วัชรพงษ์ หงส์จํารัสศิลป์’ อาจารย์และนักวิจัยด้านชีววิทยา และ ‘ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย’ ช่างภาพสารดดีเชิงอนุรักษ์ ที่หลายๆ คนอาจเคยได้ยินชื่อจากชุดภาพถ่ายพะยูนมาเรียมที่ทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจปัญหามลพิษจากขยะพลาสติก
งานด้านสื่อของ ‘วัชรพงษ์’ เป็นตัวอย่างที่ดีของการที่คนในสาขาอาชีพอื่น ซึ่ง ณ ที่นี้หมายถึงนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการ หันมาใช้งานภาพและงานสารคดีเป็นตัวกลางสื่อสารงานที่เขาศึกษาให้แพร่เข้าสู่สาธารณชน และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้
ในอดีตและแม้แต่ปัจจุบัน นักวิจัยมักจะประสบปัญหาสำคัญคือ การที่ไม่สามารถสื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจ และเห็นความสำคัญได้ว่างานวิจัยของตนมีความสำคัญ และสามารถสร้างผลกระทบในทางบวกต่อสังคมได้ เพื่อแก้ปัญหานี้ ‘ศิลปะในการสื่อสารและเล่าเรื่อง’ จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากในการนำเสนอผลงานของวัชรพงษ์
และเมื่อดูการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องปัจจัยที่ทำให้เกิด ‘การเดินทางอพยพของกุ้ง’ จากที่ต่ำขึ้นที่สูงในจังหวัดอุบลราชธานี ของเขาในงานเสวนานี้แล้ว ทุกคนก็อาจไม่เชื่อว่านี่คืองานวิจัยทางวิชาการ หากแต่เป็นงานสารคดีที่ผ่านการค้นคว้ามาอย่างดี ที่นำเสนอเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่อาจไม่สลักสำคัญสำหรับคนทั่วไปออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจผ่านภาพถ่ายของขบวนกุ้งบนโขดหินท่ามกลางสายน้ำเชี่ยวกราก และภาพปฏิสัมพันธ์ของคนในพื้นที่กับการเดินขบวนของกุ้ง ที่กลายไปเป็นสิ่งที่ดึงดูดคนเข้าไปท่องเที่ยว สร้างรายได้ในพื้นที่
ซึ่งภาพเหล่านี้นอกจากจะมาใช้อธิบายพฤติกรรมของกุ้งที่ว่ายทวนกระแสขึ้นไปต้นน้ำ เพราะหนีผู้ล่าที่อยู่ปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่ามนุษย์และธรรมชาติมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันอย่างไร มนุษย์พึ่งพาธรรมชาติในการใช้ชีวิตอย่างไร และทำไมการรับประกันความอยู่รอดของธรรมชาติถึงเป็นการรับประกันความอยู่รอดของมนุษยชาติเองด้วย
ส่วนทางฝั่งของ ‘ศิรชัย’ งานของเขาคือการเล่าเรื่องสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล และแสดงถึงผลกระทบที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของมนุษย์เช่น การทำประมง มีต่อระบบนิเวศใต้ผืนน้ำของโลก
ในงานเสวนา เขาได้นำเสนอภาพของ ชาว ‘อูรักลาโวยจ’ ที่หมู่เกาะอารัง-ดาวี จังหวัดสตูล ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการทำประมง ‘แบบยั่งยืน’ โดยใช้เพียงกรงดักปลาเล็กๆ ที่ทำให้ชาวประมงสามารถ ‘เลือก’ สัตว์น้ำที่จะนำไปทำอาหารจริงๆได้ และปล่อยสัตว์ที่ยังเล็กหรือไม่ใช่อาหารไป
ต่างจากการใช้ ‘อวนลากขนาดใหญ่’ ที่ถึงแม้จะทำให้จับปลาได้คราวละปริมาณมากๆ ก็ทำให้พื้นทะเลเสียหาย และทำให้สัตว์น้ำบางส่วนที่ไม่ใช่อาหารของคนถูกร่างแหไปด้วย จนต้องตาย และกลายไปเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกให้กับสัตว์บนบก ซึ่งไม่คุ้มเลยกับการที่มันต้องหายไปจากระบบนิเวศ และทำให้ระบบใต้น้ำเสียสมดุล
และทั้งหมดนี้เขาเล่าออกมาผ่านภาพฉลามวาฬและสัตว์อื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ใต้ทะเลสีคราม ภาพการประมงที่เคารพระบบนิเวศใต้ทะเลของชาวอูรักลาโวยจ สลับกับภาพซากศพของฉลามวาฬที่ต้องตายเพราะอุปกรณ์ทำการประมงขนาดใหญ่ และภาพเรือประมงอวนลากที่กวาดทุกสรรพสิ่งขึ้นมาอย่างตะกละตะกลาม ถึงแม้นั่นจะไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ทั่วไปรับประทาน
ที่ทำให้เราเห็นเลยว่าอุตสาหกรรมประมงในปัจจุบันทำร้ายสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศใต้ท้องทะเลอย่างไม่จำเป็นเพียงใด และในขณะเดียวกันก็นำเสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยว่ายังมีทางเลือกที่ดีกว่าในการทำประมง และนำทรัพยากรธรรมชาติมาบริโภคได้อย่างยั่งยืนกว่าในวิธีปัจจุบัน
แต่ในขณะที่ปัญหาด้านความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่างานด้านความยั่งยืนยังเกี่ยวข้องกับปัญหาด้านสังคมและการเมืองด้วยอย่างแยกไม่ออก เพราะถึงแม้คนทุกคนจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ก็ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้มากที่สุดคือคนในประเทศกำลังพัฒนาหรือ Global South โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ผู้ที่อาศัยอยู่บนประเทศที่เป็นเกาะ’ ที่จะได้รับผลจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และปัญหามลพิษขยะในทะเลมากที่สุด ทั้งที่ผู้ที่ปล่อยมลพิษที่ทำให้สภาพอากาศแปรปรวนมากที่สุดเป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือ Global North
และการชูปัญหาทางสังคมการเมืองและความไม่เท่าเทียมนี้ก็คืองานของ “Emerging Islands” ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันของ ศิลปิน โปรดิวเซอร์ และภัณฑารักษ์ชาวฟิลิปปินส์ ที่ ‘นิโคลา เซบาสเตียน’ (Nicola Sebastian) ‘ซาแมนธา ซาแรนดิน’ (Samantha Zarandin) และ ‘เดวิด โลห์แรน’ (David Loughran) ตัวแทนผู้ก่อตั้งในงานเสวนา กล่าวว่ามารวมตัวกันเพื่อ ‘ชิงพื้นที่’ ในการบอกเล่าปัญหาที่คนในพื้นที่ชายฝั่งของฟิลิปปินส์เจอจากภาวะโลกร้อน แทนที่จะให้ ‘สื่อจากฝั่งตะวันตก’ มาทำข่าวและเล่าเรื่องของพวกเขาโดยที่พวกเขาไม่มีสิทธิบอกเล่าความเป็นอยู่และปัญหาที่เจอ ‘ด้วยตัวเอง’
ปัจจุบัน Emerging Islands ให้พื้นที่กับศิลปินในการสร้างสรรค์งานศิลปะ และงานที่ออกมาก็มีในหลายรูปแบบทั้งงานถ่ายภาพ งานปะติมากรรม หรืองานเพลง ที่บอกเล่าทั้งปัญหา วิถีชีวิต และความแข็งแกร่งของคนในพื้นที่ที่พยายามปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ
อีกทั้งเป็นการนำเสนออีกด้วยว่า ถึงแม้ในปัจจุบันเราจะแบ่งเขตพื้นที่การปกครองออกเป็นประเทศ และทวีป แท้จริงแล้วเราก็เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่อาศัยอยู่ใน ‘หมู่เกาะ’ เดียวกัน ที่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หรือเกาะแก่งหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่ในอีกพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการมองว่าเราเป็นประเทศ พื้นที่ หรือ เชื้อชาติที่อยู่แยกกันอย่างเป็นเอกเทศนั้นไม่ได้ส่งผลดีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจจากคนทั้งโลกเลย
ซึ่งงานสื่อที่ใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะเรียกได้ง่ายๆ ว่าเป็นการยกปัญหาเดิมๆ ที่สื่อทั่วไปนำเสนอในแบบธรรมดาจนคนอาจเริ่มไม่สนใจแล้วเช่น ปัญหาขยะพลาสติก ปัญหาสัตว์ทะเล มานำเสนอในรูปแบบ ‘งานภาพและงานศิลปะ’ ที่มีความสามารถในการสร้างความเข้าใจ อารมณ์ร่วม และกระตุ้นให้คนลงปฏิบัติได้มากกว่าการนำเสนอในรูปแบบข่าว บทความวิชาการ หรือรายงานธรรมดาที่ไม่ดึงดูดคน เข้าใจยาก และทำให้ปัญหามลพิษและสภาพอากาศกลายเป็นปัญหา ‘ไกลตัว’ และ ‘จับต้องไม่ได้’
นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม ในการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับโลก ต้องใช้คนที่มีความเชี่ยวชาญทั้ง ‘ศาสตร์’ และ ‘ศิลป์’ และ ‘ศิลป์ที่เป็นศาสตร์’ มาขับเคลื่อน เพราะหากขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่ส่งผลต่อความอยู่รอดมนุษยชาตินี้คงไม่สามารถประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน