ความยั่งยืน

TU เปิดตัวระบบลดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ นำร่องโรงงานสมุทรสาคร ใต้ SeaChange กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน

20 ก.ย. 66
TU เปิดตัวระบบลดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ นำร่องโรงงานสมุทรสาคร ใต้ SeaChange กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน

ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของไทย เปิดตัวระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียให้เหลือศูนย์ในโครงการ Zero Discharge Project ซึ่งจะเริ่มนำร่องระบบปฏิบัติการอย่างไม่เป็นทางการแห่งแรกที่โรงงานไทยยูเนี่ยน จังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่เดือนกันยายนนี้

วันที่ 19 กันยายน 2566 บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำโดย นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจปลา นายอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงในกลุ่มบริษัทไทยยูเนี่ยน ร่วมพิธีเปิดทดลองใช้งานระบบบำบัดน้ำเสียในโครงการ Zero Discharge Project เพื่อลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สิ่งแวดล้อมเป็นศูนย์ ซึ่งจะเริ่มนำร่องระบบปฏิบัติการอย่างไม่เป็นทางการแห่งแรกที่โรงงานไทยยูเนี่ยน จังหวัดสมุทรสาครตั้งแต่เดือนกันยายนนี้

โรงงานที่จังหวัดสมุทรสาครนับเป็นโรงงานแห่งแรกของอุตสาหกรรมประมงโลกที่สามารถบำบัดน้ำเสียจนสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ 100% โดยโรงงานนี้เป็น 1 ใน 5 โรงงานนำร่องภายใต้กลยุทธ์ความยั่งยืน SeaChange®2030 ที่มุ่งสร้างกระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ

 

กลยุทธ์ SeaChange ของไทยยูเนี่ยนคืออะไร?

กลยุทธ์ SeaChange 2030 คือกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของ  บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือ TU ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอาหารทะเลระดับโลก ซึ่งเป็นการสานต่อกลยุทธ์ SeaChange 2016 

กลยุทธ์ SeaChange มีจุดประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นกับทั้งอุตสาหกรรมอาหารทะเลโลก เพราะไทยยูเนี่ยนมองว่าท้องทะเลและอาหารทะเล มีบทบาทสำคัญต่อการจัดการกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดหาผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการ ให้กับผู้บริโภค 

ดังนั้น SeaChange 2030 จึงถูกออกแบบมาเป็นการแนวทางการดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของธุรกิจอาหารทะเล โดยครอบคลุมตั้งแต่วิธีการดูแลท้องทะเลไปจนถึงวิธีการจัดการของเสีย รวมถึงความรับผิดชอบที่บริษัทมีต่อพนักงานไปจนถึงการสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับชุมชนที่อยู่รอบบริเวณโรงงานของบริษัท 

ในกลยุทธ์ชุดใหม่ปี 2030 นี้ ไทยยูเนี่ยนได้ประกาศพันธกิจเพื่อความยั่งยืนทั้งสิ้น 11 ข้อ ครอบคลุมการดูแลทั้งผู้คนและโลกสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยได้วางแผนจัดสรรงบประมาณไว้สำหรับกลยุทธ์นับจากนี้ไปจนถึงปี 2030 เป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.2 พันล้านบาท

พันธกิจทั้ง 11 ข้อที่ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายจะบรรลุภายในปี 2030 ได้แก่

1. เส้นทางสู่ Net Zero: ไทยยูเนี่ยนมีเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 42% ทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ ภายในปี 2030 ก่อนจะเดินหน้าบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050

2. การทำประมงอย่างรับผิดชอบ: ไทยยูเนี่ยนจะดูแลให้อาหารทะเลถูกจับและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ นอกจากนี้ด้านแนวปฏิบัติด้านแรงงานจะต้องมีความปลอดภัย ได้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล

3. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ: กุ้งเพาะเลี้ยงทั้ง 100% จะต้องผลิตขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุด และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสวัสดิการและสภาพการทำงานของอุตสาหกรรมอาหาร

4. การฟื้นฟูระบบนิเวศ: ไทยยูเนี่ยนจะสนับสนุนงบจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น ปกป้องและฟื้นฟูป่าชายเลน แนวปะการัง และป่าดิบชื้น

5. เกษตรกรรมที่มีความรับผิดชอบ: วัตถุดิบถั่วเหลืองและน้ำมันปาล์มทั้งหมด 100% ได้รับการรับรองว่าจะปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนวัตถุดิบไก่จะได้รับการจัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ

6. กระบวนการผลิตที่เป็นเลิศ: ปรับปรุงระบบภายในโรงงานเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียเป็นศูนย์ ลดของเสียฝังกลบและของเสียอาหารเป็นศูนย์ โดยจะนำร่องในโรงงานหลัก 5 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ

7. งานที่ปลอดภัย มีคุณค่า และเท่าเทียม: เดินหน้าสร้างสถานที่ทำงานที่ปลอดภัย มีคุณค่า ยอมรับความแตกต่างและหลากหลาย มีความเท่าเทียม ให้กับพนักงานทุกคนและยังขยายผลให้ครอบคลุม โดยมีเป้าหมายหลักคือ 

  • 50% ของผู้บริหารองค์กรเป็นผู้หญิง
  • 100% ของเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม และไม่มีแรงงานทาสสมัยใหม่
  • 100% ของฟาร์มสัตว์น้ำที่จัดหาวัตถุดิบให้บริษัทจะต้องดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านแรงงาน

8. การลดขยะพลาสติกในทะเล: จัดการขยะพลาสติก 1,500 ตัน ไม่ให้มีสารเคมีลงไปปนเปื้อนสู่แม่น้ำลำคลองและทะเล

9. โภชนาการและสุขภาพ: ผลิตภัณฑ์ 100% ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้อง (เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลบรรจุกระป๋อง) ภายใต้แบรนด์ของบริษัทจะต้องยึดตามแนวทางด้านโภชนาการ และ 100% ของผลิตภัณฑ์ที่เก็บได้ในอุณหภูมิห้องที่ออกใหม่ทั้งหมดภายใต้แบรนด์ของบริษัท จะต้องส่งเสริมโภชนาการเชิงบวกเพื่อสุขภาพที่ดี

10. บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน: ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์สินค้าของบริษัท 100% จะต้องใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนภายในปี 2025 และจะสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผลิตให้กับคู่ค้าอย่างน้อย 60% ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน

11. การเป็นพลเมืองดีของสังคม:  สนับสนุนงบประมาณจำนวน 250 ล้านบาท (มากกว่า 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือและตอบแทนชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีงานบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเวลาวิกฤติอีกด้วย

การบรรลุเป้าหมายต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยลดปริมาณคาร์บอน จำกัดปริมาณของเสียให้น้อยที่สุด รวมถึงป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยไทยยูเนี่ยนได้ร่วมมือกับองค์กรด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมระดับโลกในการประกาศกลยุทธ์ความยั่งยืนในครั้งนี้ ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม พร้อมผนึกภาคีกับผู้ประกอบการหลายพันรายในภาคประมงและภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเรือประมงและฟาร์มสัตว์น้ำ องค์กรพันธมิตร ได้แก่ Sustainable Fisheries Partnership, Aquaculture Stewardship Council, The Nature Conservancy, IDH – the Sustainable Trade Initiative,และ The Global Ghost Gear Initiative

นอกจากนี้ บริษัทยังกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้สอดคล้องกับแนวทางขององค์กร Science Based Targets initiative (SBTi) และจะเริ่มใช้การเก็บข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ ไทยยูเนี่ยนเป็นบริษัทอาหารทะเลระดับโลกบริษัทแรกที่กำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยได้รับการรับรองจากองค์กร SBTi นับเป็นก้าวสำคัญเพื่อช่วยอุตสาหกรรมให้เกิดความยั่งยืน




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT