ในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ปี 2023 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหางโจว สิ่งหนึ่งที่เป็นถึงพูดถึงมากที่สุดนอกจากการแข่งขันเอง ก็คือ เทคโนโลยีสีเขียวต่างๆ ที่จีนและเมืองหางโจวได้แฝงไว้ในทุกกิจกรรมภายในงาน เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะทำให้การแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) เป็นครั้งแรกของโลก สมกับแนวคิด ‘Green, Smart, Economical and Ethical’ ซึ่งเป็นธีมหลักของการจัดงาน
ตั้งแต่ในพิธีเปิด เมืองหางโจวก็ได้โชว์ความตั้งใจและศักยภาพในการบูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ากับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการเปิดให้ผู้ชมร่วมเป็นผู้ถือคบไฟดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟนแห่งแรกของโลก ซึ่งสามารถดึงดูดผู้เข้าร่วมได้มากกว่า 100 ล้านคน การใช้เมทานอล ที่เป็นเชื้อเพลงสะอาดและเผาไหม้ได้สมบูรณ์ในการจุดคบไฟจริง และการงดจุดพลุเพื่อลดมลพิษ
ผู้จัดยังนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ มาใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วม และจัดการแข่งขัน ดังที่จะเห็นได้ในหมู่บ้านนักกีฬา หมู่บ้านนักข่าว ที่มีทั้งรถประจำทางไฟฟ้าแบบ 100% คอยรับส่ง รวมถึง เครื่องใช้และของที่ระลึกที่ทำมาจากวัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ไม้แขวนที่ทำจากฟาง ตัวตุ๊กตามาสคอตที่ทำมาจากผ้าพิมพ์แบบดิจิทัลที่สร้างคาร์บอนน้อยกว่าผ้าจริง
ที่สำคัญ เมืองหางโจวยังใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” หรือพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ จากพื้นที่ต่างๆ เช่น ลุ่มน้ำไกดัมในมณฑลชิงไห่, ช่องเขาเจียหยูในมณฑลกานซู่ และที่ราบสูงโลสส์ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เป็นแหล่งพลังงานหลักของกิจกรรมต่างๆ ภายในเมือง ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้สร้างขึ้นมาภายในปีสองปี และเกิดขึ้นมาไม่ได้หากรัฐบาลจีนและเมืองหางโจวไม่ได้วางแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมาอย่างยาวนาน
วันนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนไปดูกันว่า ไฮไลท์เทคโนโลยีสีเขียวสุดไฮเทคที่เมืองหางโจวได้นำมาใช้เพื่อทำให้งานเอเชี่ยนเกมส์ในครั้งนี้ มีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากที่สุดนั้น มีอะไรบ้าง และทำไม ‘หางโจว’ จึงกลายมาเป็นหนึ่งในต้นแบบเมืองสีเขียวที่มีเทคโนโลยีในการจัดการพลังงานที่ดีที่สุดในโลกแบบในปัจจุบัน
งานเอเชี่ยนเกมส์ที่มี ‘ความยั่งยืน’ เป็น DNA
นับตั้งแต่ได้รู้ว่า ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 19 นั้น “ความยั่งยืน” ก็เป็นแนวทางหลักในการออกแบบ วางแผน และจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ครั้งนี้ มาโดยตลอด ทำให้ไม่ว่าจะหยิบจับมุมไหนของการจัดงานเอเชี่ยนเกมส์ขึ้นมา ก็จะต้องพบว่า ล้วนแต่มีการคำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมมาแล้วทั้งสิ้น
Meng Xiangsheng รองผู้อำนวยการด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของ Asian Games Organising Committee (HAGOC) หรือคณะกรรมการจัดการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์หางโจว ซึ่งเป็นหัวหอกหลักในการจัดงานครั้งนี้ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการตั้งใจจะให้งานเอเชี่ยนเกมส์ในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันกีฬาที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนงานแรกของโลก และจะแฝงความยั่งยืนไว้ในทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารการใช้พลังงานภายในงาน การออกแบบสถานที่แข่งขัน หมู่บ้านนักกีฬา การผลิตของใช้และของที่ระลึก หมู่บ้านนักข่าว การคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการจัดการของเสียต่างๆ เช่น อาหาร และขยะมูลฝอย
ดังนั้น คณะกรรมการฯ ผู้จัดงานจึงได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้มากมายเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว โดยในงานได้มีไฮไลท์เทคโนโลยีที่น่าสนใจมากมาย อาทิ เช่น
-
สนามกีฬาประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ในการแข่งขันครั้งนี้ หางโจวเลือกใช้ ‘สนามกีฬา’ หลากหลายรูปแบบจำนวนทั้งหมด 54 แห่ง เป็นที่มีอยู่เดิม 41 แห่ง และสร้างใหม่เพียง 13 แห่ง และแต่ละแห่งล้วนแต่มีการออกแบบเพื่อส่งเสริมให้การแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และที่สำคัญ คือ ใช้ ‘ไฟฟ้าสีเขียว’ ที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด
โดยสถานที่จัดการแข่งขันที่เป็นไฮไลท์ของงาน ก็คือ Hangzhou Olympic Sports Center Stadium หรือ ‘สนามรูปกลีบบัว’ ที่เป็นสถานที่จัดพิธีเปิดของงานเอเชี่ยนเกมส์ในครั้งนี้ ซึ่งถูกออกมาเป็นรูปกลีบบัวเพื่อทำให้ใช้เหล็กในการก่อสร้างน้อยลง ซึ่งช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นอย่างมาก เพราะการผลิตเหล็กแต่ละตันจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 2 ตัน
นอกจากนี้ อีก 3 สนามแข่งที่โดดเด่นในการประหยัดพลังงานไม่แพ้กันก็คือ
- Fuyang Water Sports Center สนามจัดแข่งขันกีฬาทางน้ำซึ่งมีระบบเก็บน้ำฝนบนหลังคา ที่ช่วยลดการใช้น้ำได้ถึง 35% ในแต่ละเดือน และช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 1,000 ตันต่อปี
- Hangzhou Aquatic Sports Arena ที่มีระบบจัดการแสงสว่างอัจฉริยะที่ช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ถึง 100,000 กิโลวัตต์ต่อปี และมีช่องไฟ 210 ช่องบนหลังคาที่เปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาได้
- Gongshu Canal Sports Park Gymnasium สนามกีฬาในร่มที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำโดยรอบเพื่อลดอุณหภูมิและลดการใช้พลังงานเพื่อปรับอากาศ
-
ระบบขนส่งไฟฟ้า 100%
ในการอำนวยความสะดวกผู้เข้าร่วมงาน หางโจวใช้ยานพาหนะไฟฟ้า 100% ทั้งหมดในการขนส่งนักกีฬา นักข่าว และผู้เข้าชมงาน รวมไปถึงรถบัสไฟฟ้าอัจฉริยะไร้คนขับที่มีการติดตั้งกล้อง HD เรดาร์เลเซอร์ เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร เรดาร์อัลตราโซนิก และระบบกำหนดตำแหน่งเพื่อความปลอดภัย ทำให้สามารถเดินทางไปถึงที่หมายและจอดรับส่งผู้โดยสารได้เองโดยไม่ต้องใช้คนบังคับ
นอกจากนี้ ผู้จัดงานยังติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอีกถึง 102 แห่ง รวมทั้งหมด 2,024 จุดชาร์จ ในบริเวณสถานที่แข่งขัน หมู่บ้านนักกีฬา และหมู่บ้านนักข่าว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้พลังงานในพื้นที่ รวมไปถึงสถานีชาร์จไร้สายแบบ Vehicle-to-grid (V2G) กำลังแรงสูงอุปกรณ์ชาร์จไฟขนาด 500 กิโลวัตต์จำนวน 8 เครื่อง ที่จอดรถสำหรับชาร์จไร้สายจำนวน 8 คัน และเสาชาร์จ V2G จำนวน 8 เสา
-
ศูนย์ข้อมูลบริหารการใช้พลังงาน ระบบเก็บคะแนนคาร์บอนเพิ่มการมีส่วนร่วม
เมืองหางโจวเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงมายาวนานในการใช้ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และแพลตฟอร์มดิจิทัลในการบริหารการใช้พลังงานภายในเมือง
ปัจจุบัน หวงโจวมีศูนย์ข้อมูลใหญ่ที่เรียกว่า Zhejiang Energy Big Data Center ซึ่งมอนิเตอร์การใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนในเมือง และเก็บข้อมูลเพื่อนำมาบริหารการใช้พลังงานในเมืองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีจุดเด่น คือ การเป็นศูนย์ข้อมูลกลางที่รวบรวมและประมวลผลข้อมูลการใช้พลังงานได้ถึง 39 ประเภท จากถึง 47,000 องค์กร โครงการก่อสร้างและพัฒนา 2,168 โครงการ และบุคลากรกว่า 430,000 คน ผ่าน บัตร “carbon business card” ประจำตัว ซึ่งทำให้ผู้ถือสามารถเก็บคะแนนคาร์บอนเครดิต และใช้คะแนนเพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ
ดังนั้น ในงานเอเชี่ยนเกมส์ เมืองหางโจวจึงนำระบบนี้มาใช้เช่นกัน ด้วยการเปิดตัวแพลตฟอร์มการจัดการดิจิทัลเพื่อดูแลการจัดการการปล่อยคาร์บอนใน 6 เมือง และริเริ่มสร้างพฤติกรรมที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เข้าร่วมงาน ด้วยการออกแพลตฟอร์มให้ผู้เข้าร่วมงานเปิดบัญชีเพื่อเก็บคะแนนโลว์คาร์บอนที่สามารถนำไปแลกสินค้าและของที่ระลึกต่างๆ ได้
โดยผู้เข้าร่วมสามารถทำได้หลายกิจกรรมรักษ์โลกภายในเมืองเพื่อเอาคะแนน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกพักในห้องพัก วิธีการขนส่ง ร้านอาหาร ที่ช้อปปิ้งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม การแยกขยะ การลดขยะอาหาร รวมไปถึงการเข้าฟังการอบรมเรื่องความยั่งยืนในแพลตฟอร์ม
-
ของใช้และของที่ระลึกผลิตจากวัสดุที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากสถานที่และระบบการจัดการพลังงานในพื้นที่แล้ว ผู้จัดงานยังใส่ใจไปถึงขั้นตอนและวัสดุในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในงาน โดยแม้แต่ตุ๊กตามาสคอตที่มีจัดจำหน่ายภายในงานก็ผลิตขึ้นมาจากผ้าที่ผลิตโดยวิธีพิมพ์ดิจิทัลซึ่งปล่อยคาร์บอนและใช้พลังงานน้อยกว่าการใช้ผ้าจากพืชจริงๆ รวมไปถึงกระเป๋าเป้ที่ทำจากขวดรีไซเคิล 10 ขวด และจานร่อนที่ทำจากแกลบ 1,000 กรัม
สำหรับหมู่บ้านนักกีฬายังมีการใช้อุปกรณ์ที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้แขวนที่ทำจากฟางและชุดอุปกรณ์อาบน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยทางผู้จัดงานตั้งเป้าที่จะลดการสร้างขยะต่อหัวมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับงานที่มีขนาดใกล้เคียงกัน และใช้วัสดุรีไซเคิลและหมุนเวียนได้ 70% ในการผลิตสินค้าและตกแต่งสถานที่
ที่มา: Global Times (1), Global Times (2), Hangzhou Asian Games, China Daily