ในปัจจุบัน หนึ่งในเมืองที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้น ‘หางโจว’ สถานที่จัดงานแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 19 ที่มีขึ้นในระหว่างวันที่ 23 กันยายน- 8 ตุลาคมนี้ ได้เมื่อถูกถ่ายทอดออกมาสู่สายตาชาวโลกสร้างความประทับใจทันทีด้วยภาพลักษณ์สะอาดสะอ้าน ทันสมัย และที่สำคัญเต็มไปด้วย ‘เทคโนโลยีสีเขียว’ ล้ำยุคที่ทำให้เมืองดูคล้ายจะมาจากอนาคตมากกว่าทศวรรษนี้
ตลอดการแข่งขันเอเขี่ยนเกมส์ รัฐบาลจีน รัฐบาลเมืองหางโจว และคณะกรรมการผู้จัดการงานเอเชี่ยนเกมส์ได้นำเทคโนโลยีสีเขียวนี้มาอวดผู้ไปเยือน รวมไปถึงสื่อมวลชนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาที่ออกแบบมาอย่างดีเพื่อประหยัดพลังงาน
ระบบขนส่งทั้งสาธารณะและส่วนตัวแบบใช้ไฟฟ้า 100% โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้รถไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จที่ครบครัน
และที่สำคัญคือ “ไฟฟ้าสีเขียว” ภายในเมืองที่ผลิตจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จากโรงผลิตไฟฟ้าภายนอกเมือง
โดยถึงแม้บางอย่างในลิสต์นี้จะเป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนพัฒนาขึ้นมาเพื่องานเอเชี่ยนเกมส์โดยเฉพาะ เช่น สนามกีฬาแข่งขันต่างๆ ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด 100% แต่ความสำเร็จนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากขาดการวางแผนและการสร้างและพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบระเบียบในระยะยาวของรัฐบาลจีน ที่ค่อยๆ วางแผนพัฒนาทั้งเศรษฐกิจและเมืองให้เติบโตมาอย่างมีทิศทาง และมีคุณภาพ
ในวันนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่า รัฐบาลจีนนั้น พัฒนา ‘หางโจว’ ขึ้นมาอย่างไร ทำไมจึงได้กลายมาเป็นเมืองสีเขียวต้นแบบที่จีนใช้อวดสายตาชาวโลกแบบไม่อายแบบในปัจจุบัน ถือเป็นแบบอย่างที่น่านำไปเป็นต้นแบบให้กับหลายๆ ประเทศหรือ หัวเมืองใหญ่ได้ดีเลยทีเดียว
เมื่อการพัฒนาเมืองไปเร็ว การวางแผนให้มีทิศทางจึงสำคัญ
ช่วงปี 1980s เศรษฐกิจของจีนได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว หลังในปี 1978 เหมาเจ๋อตง อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเสียชีวิต ทำให้ เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำจีนแทน และประกาศนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจระบบตลาด ล้มเลิกระบบนารวมที่เหมาเจ๋อตงทำมาตลอดระหว่างดำรงตำแหน่ง
การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนในขณะนั้น ทำให้มีชาวจีนจากชนบทอพยพเข้าเมืองเป็นจำนวนมาก เพื่อไปทำงานหารายได้ ทำให้เมืองเศรษฐกิจใหญ่ๆ ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากจำนวนประชากรที่มากขึ้น แต่ก็มาพร้อมกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรภายในเมือง รวมถึง ความเสื่อมโทรม เสื่อมถอยของสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่ที่ถูกมนุษย์เบียดเบียน
โดยในปี 2009 มีรายงานว่าประชาชนและธุรกิจจีนใช้พลังงานเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้เมืองใหญ่ของจีนมีอัตราการใช้พลังงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2.5 เท่า และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก หากทางรัฐบาลไม่วางแผนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานในเมืองเหล่านี้
ดังนั้น ในช่วงปี 2010s รัฐบาลจีนจึงได้ริเริ่มใส่เป้าหมายในการลดและปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานของประชาชนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติปี 2011-2015 เพื่อผลักดันให้การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวาระระดับชาติ
โดยหนึ่งในโครงการริเริ่มสำคัญในช่วงนี้ก็คือ โครงการสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ (low-carbon) ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2010 โดยคณะกรรมาธิการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน (National Development and Reform Commission)
โดย คณะกรรมาธิการฯ ได้นำร่องโครงการนี้ใน 5 มณฑลซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของจีนก่อน ได้แก่ กวางตุ้ง เหลียวหนิง หูเป่ย ชานซี และ ยูนนาน และอีก 9 จังหวัดสำคัญในมณฑลอื่นๆ คือ เทียนจีน ฉงชิ่ง เซินเจิ้น เซียะเหมิน หนานชาง กุ้ยหยาง เป่าติ้ง รวมไปถึง ‘หางโจว’ ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่ที่มี GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ในหมู่เมืองที่ได้รับเลือกเป็นเมืองนำร่องด้วย
ข้อมูลของ UN ESCAP ระบุว่า หลักการในการสนับสนุนให้สร้างเมืองโลว์คาร์บอนของรัฐบาลจีน คือ การสนับสนุนและส่งเสริมให้เมืองเหล่านี้วางแผนการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองเสียใหม่ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนและผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อมล่วงหน้า และรัฐบาลจะให้เงินทุนสนับสนุน
โดยแม้แต่ละเมืองจะรับหลักการ เพื่อไปเขียนแผนพัฒนาที่เหมาะสมกับเมืองของตัวเองโดยเฉพาะ รัฐบาลและคณะกรรมาธิการฯ ก็ได้ให้แนวทางในการพัฒนาแผนเมืองโลว์คาร์บอนไว้อย่างหลวมๆ โดยหลักการดังกล่าวมี 5 ข้อหลักๆ ดังนี้
- สอดแทรกแผนพัฒนาเมืองโลว์คาร์บอนในแผนการพัฒนาหลัก โดยการปรับโครงสร้างการพัฒนาอุตสาหกรรมในเมือง โครงสร้างการใช้พลังงาน และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การทำธุรกิจต่างๆ ประหยัดพลังงาน และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
- ตั้งนโยบายที่สนับสนุนให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียวแบบโลว์คาร์บอน ด้วยการใช้กลไลทางการตลาดจูงใจให้ธุรกิจหันมาพยายามลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ รวมไปถึงแผนลงทุนในการสร้างสิ่งปลูกสร้างและระบบคมนาคมสาธารณะที่ดีใช้พลังงานสะอาด
- สร้างอุตสาหกรรมโลว์คาร์บอน และสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และส่งเสริมให้ธุรกิจที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หรือพลังงานหมุนเวียน เติบโตไปได้อย่างแข็งแรง
- สร้างระบบเก็บสถิติการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมภายในเมือง เพื่อให้ผู้พัฒนาระบบจัดการการใช้พลังงานสามารถนำไปวางแผนได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
- สนับสนุนให้ผู้ออกนโยบายและประชาชนปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตให้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการให้การศึกษาและการออกแคมเปญรณรงค์ให้คนทุกกลุ่มเข้าใจความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
จะเห็นได้ว่าจุดเด่นของแผนการพัฒนาเมืองโลว์คาร์บอนของจีน คือ การใส่หลักการนี้ในแผนระดับชาติ แล้วค่อยๆ ต่อยอดลงมาในแผนการสร้างเมืองระดับย่อย ทำให้การพัฒนามีแนวทางชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ และทำให้การแจกจ่ายเงินทุนสำหรับการพัฒนานำไปสู่ประสิทธิภาพสูงสุด
นี่ทำให้ในปัจจุบัน จีนมีเมืองจำนวนมากที่มีแผนการพัฒนาที่มีความยั่งยืนเป็นศูนย์กลาง ไม่ว่าจะเป็น เซินเจิ้น ที่มีชื่อเสียงในการฟื้นฟูแม่น้ำต้าชาที่เสื่อมโทรมลงจากการทำอุตสาหกรรม ผ่านการปรับภูมิทัศน์เมือง สร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับจักรยานและคนเดิน รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์ไม้ริมน้ำ
และ เฉิงตู ที่ในปี 2022 ได้ชื่อว่าเป็นเมืองสีเขียวที่มีความสุขที่สุดอันดับ 1 ของจีนต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 13 ด้วยความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่สีเขียวจำนวนมากในเมือง ที่สามารถรักษาคุณภาพชีวิตของคนในเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
‘หางโจว’ เมืองต้นแบบการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน
สำหรับเมือง ‘หางโจว’ จุดเด่นในการพัฒนาแบบยั่งยืน คือ การใช้ ‘เทคโนโลยี’ ต่างๆ เข้ามาทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตต่างๆ ในเมืองใช้พลังงาน ปล่อยมลพิษน้อยลง และดีต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ในปัจจุบันหางโจวเป็น 1 ใน 6 เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจดิจิทัลของจีน เพราะเป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีด้านต่างๆ เช่น e-commerce, AI, cloud computing จำนวนมาก รวมไปถึง Alibaba Group หนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของจีน
ดังนั้น เมืองหางโจวจึงได้มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงจำนวนมากมาช่วยทำให้การใช้พลังงานภายในเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์ข้อมูล Zhejiang Energy Big Data Center ที่รวบรวมข้อมูลการใช้พลังงานและปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกว่า 47,000 องค์กรในพื้นที่ ทำให้ทางการสามารถติดตามศักยภาพในการจัดการพลังงานของแต่ละองค์กร และให้องค์กรนำข้อมูลเหล่านั้นไปวางแผนปรับปรุงการใช้พลังงานในบริษัทได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม
หรือว่าการสร้างระบบคมนาคมขนส่งทั้งสาธารณะและส่วนตัวที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทบจะ 100% ที่เกิดขึ้นมาได้ด้วยทั้งการที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนให้ประชาชนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และการสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สถานีชาร์จ ที่ทำให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในหางโจวเป็นเรื่องสะดวกและเป็นเรื่องง่าย
นอกจากนี้ หางโจวยังมีการพัฒนาและอนุรักษ์ฟื้นฟูสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง ‘ทะเลสาบซีหู’ ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดย UNESCO ผ่านการช่วยการใช้เทคโนโลยีแก้ไขคุณภาพน้ำรอบทะเลสาบ และการรักษาความสะอาดในสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทัลเป็นสถานที่พักผ่อนของประชาชนภายในเมือง และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้
อ้างอิง: UN ESCAP, Pocacito, ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง