ความยั่งยืน

Food Delivery ผู้ซื้อสะดวกสบาย เเต่แฝง 'ขยะพลาสติก’ ให้โลก

15 ก.ย. 67
Food Delivery ผู้ซื้อสะดวกสบาย เเต่แฝง 'ขยะพลาสติก’ ให้โลก

ยิ่งสั่ง Food Delivery เยอะเท่าไร ก็อาจเพิ่มภาระให้กับโลกมากเท่านั้น

ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาโลกได้ร้อนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อุณหภูมิของโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.1-1.2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับ ในช่วงปี ค.ศ. 1850 โดยขยะพลาสติก เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิด ภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก

และเช่นเดียวกัน ในช่วงที่สองปีที่ผ่านมานี้ความนิยมในการบริการสั่งอาหารแบบส่งตรงถึงที่พัก หรือ Food Delivery เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงมาตรการ work from home ที่ทำให้ประชาชนนิยมสั่งอาหารไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งการขยายตัวของ Food Delivery ดังกล่าว มาพร้อมกับ ผลกระทบต่อปริมาณขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น

ข้อมูลจาก WWF Thailand เผยว่า ในทุกปีมีการผลิตพลาสติกถึง 430 ล้านตันทั่วโลก ในประเทศไทย มีขยะพลาสติกถึง 75% หรือราว 1.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์อาหารแบบใช้ครั้งเดียว ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งเสี่ยงต่อการรั่วไหลสู่ธรรมชาติและสามารถตกค้างอยู่ในมหาสมุทรได้เป็นเวลาหลายร้อยปี ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์

คนใช้พลาสติกเยอะขึ้นหลังโควิด เฉลี่ย 9 ชิ้น

จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ในช่วงเดือน ม.ค.–เม.ย.2564 ปริมาณขยะได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ตัน/วัน จาก 8,800 ตัน/วัน เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอัตราการเกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจาก 96 กรัม/คน/วัน ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ในปี 2562 เป็น 139 กรัม/คน/วัน ในปัจจุบัน หรือหากเทียบเคียงจำนวนชิ้นของขยะพลาสติก พบว่าอัตราเฉลี่ยได้ เพิ่มขึ้นจาก 7 ชิ้น เป็น 9 ชิ้น ซึ่งขยะพลาสติกดังกล่าวสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เพียง 25% ของ ปริมาณขยะพลาสติกหลังการบริโภค

Food Delivery ปี 65 มีมูลค่า 7.9 หมื่นล้านบาท สร้างขยะกว่า 3,684 ล้านชิ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการการขยายตัวของธุรกิจ Food Delivery ในปี 2565 อยู่ที่ 4.5% โดยมีมูลค่าสูงถึง 7.9 หมื่นล้านบาท  ซึ่งการเติบโตของธุรกิจ Food Delivery ดังกล่าวนี้อาจมาควบคู่กับขยะพลาสติกที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2565 เป็นปริมาณสูงถึง 3,684 ล้านชิ้น หรือ คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 55,260 ตัน หรือเทียบเท่ากับน้ำหนักของช้างถึงจำนวน 13,815 เชือก ทั้งนี้ หากคิด Carbon Footprint หรือปริมาณ คาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการใช้พลาสติกจำนวนดังกล่าว จะอยู่ที่ 331,560 ตัน และคาดว่าขยะ พลาสติกจาก Food Delivery ที่จะไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์เนื่องจากไม่ได้รับการคัดแยกขยะจากต้นทางที่ ถูกวิธี (สัดส่วนประมาณ 75%) มีมูลค่าสูงถึง 174 ล้านบาท

WWF จับมือ LINE MAN Wongnai และ foodpanda ลดการพลาสติก

องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) ประกาศจับมือ 2 พาร์ทเนอร์ ฟู้ดเดลิเวอรี อย่าง LINE MAN Wongnai และ foodpanda มุ่งส่งเสริมการลดใช้พลาสติกในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรี ตั้งเป้า ลดขยะพลาสติกลง 30% ภายในปี 2573 ภายใต้แนวคิด ‘ลด-เพิ่ม-แลกเปลี่ยน’

  1. ลด: สนับสนุนการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในระบบการจัดส่งอาหาร

  2. เพิ่ม: ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ยั่งยืน บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ เพื่อทดแทนการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง

  3. แลกเปลี่ยน: แบ่งปันข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การดำเนินงานตามนโยบาย กรณีศึกษาและแนวปฏิบัติต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยที่ผ่านมา ทั้ง LINE MAN Wongnai และ foodpanda ได้เปิดใช้บริการฟีเจอร์ “ไม่รับช้อนส้อมพลาสติก” บนแอปพลิเคชัน โดยสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกในระบบไปแล้วกว่า 2,000 ตัน รวมถึงสนับสนุนให้ร้านค้าบนแพลตฟอร์มหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการจับมือกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ของไทย โดยตั้งเป้าว่าความร่วมมือภายใต้โครงการ Plastic ACTion จะเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญในการขยายผลการแก้ปัญหาพลาสติกในธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

552067

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT