สงคราม “วิดีโอสตรีมมิ่ง” ปีนี้ไม่มีใครยอมใคร “Prime Video” บริการสตรีมมิ่งจาก Amazon ที่รั้งตำแหน่งเบอร์ 2 ระดับโลก รองจากเจ้าตลาดอย่าง Netflix เปิดเผยถึงการประสบความสำเร็จในการปิดดีลยักษ์ เข้าซื้อกิจการสตูดิโอภาพยนตร์ระดับตำนาน “MGM” (โลโกสิงโตคำรามที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ) ผู้ผลิตแฟรนชายส์ภาพยนตร์อมตะอย่าง เจมส์ บอนด์ 007, ร็อกกี้ และ เดอะ ฮ็อบบิท มูลค่ากว่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ (2.8 แสนล้านบาท) ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา
MGM หรือ Metro-Goldwyn-Mayer Studios เป็นบริษัทด้านสื่อบันเทิงของสหรัฐที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ. 1924 มีอายุ 98 ปีในปัจจุบัน แม้จะโด่งดังระดับตำนานจากการสร้างภาพยนตร์ แต่ MGM ก็ได้รังสรรค์ผลงานบันเทิงให้กับวงการมากมาย
การได้ MGM เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Amazon นี้ จะทำให้ Prime Video ได้ภาพยนตร์กว่า 4,000 เรื่อง ซีรีส์กว่า 17,000 ตอน มาอยู่ในครอบครอง จากสตูดิโอที่กวาดรางวัลออสการ์มาแล้วมากถึง 180 รางวัล และรางวัลเอ็มมี่อีกกว่า 100 รางวัล ซึ่งจะเสริมอานุภาพในการผลิตคอนเทนต์ ให้กับ Amazon Studios ยกระดับคอนเทนต์ออริจินัลของ Amazon ให้อยู่ในระดับเดียวกับหนัง Hollywood
ด้าน Prime Video เอง ก็มีภาพยนตร์และซีรีส์ดีๆ มากมาย ซึ่งผลิตขึ้นเฉพาะ สำหรับให้ผู้ชมที่สมัครสมาชิกรายเดือน และรับชมบนแพลตฟอร์มของ Prime Video เท่านั้น เช่น The Man in the High Castle ที่เล่าถึงโลกที่มี “นาซีและญี่ปุ่น” เป็นผู้ชนะสงคราม แทนที่จะเป็นสหรัฐ หรือ The Boys ซีรีส์ที่ว่าด้วยการรวมกลุ่มของคนธรรมดา เพื่อต่อต้าน ซูเปอร์ฮีโร่ ที่เบื้องหลังแอบใช้อำนาจในทางที่ผิด โดยในปีที่ผ่านมา Prime Video มียอดสมาชิกกว่า 175 ล้านคน รั้งอันดับ 2 ของผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งที่มียอดสมาชิกเยอะที่สุด ในขณะที่อันดับ 1 แน่นอนว่าตกเป็นของ Netflix ที่มียอดผู้ชม 221.84 ล้านคน
โมเดล “คอนเทนต์ออริจินัล” เป็นโมเดลที่ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งหลายเจ้า พยายามจะทำให้สำเร็จ เพื่อดึงลูกค้าให้อยู่กับแพลตฟอร์มได้อย่างยาวนาน และดึงดูดลูกค้าใหม่ๆ มาด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือซีรีส์เรื่อง “Squid Game” ซีรีส์ออริจินัลของ Netflix ที่โกยรายได้ให้กับ Netflix กว่า 3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าต้นทุนการผลิตถึง 40 เท่า แม้จะอยู่ท่ามกลางช่วงโควิด-19 และภาพยนตร์หลายเรื่อง ก็ถูกนำมาฉายในแพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิ่งไม่นานหลังจากที่ฉายในโรงภาพยนตร์ เป็นสัญญาณนัยๆ แล้วว่า ผู้บริโภคเริ่มเคยชินกับการ “เข้าแอพ” มากกว่าการ “เข้าโรงหนัง” เสียแล้ว
แต่การเข้าเทคโอเวอร์ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ของ Amazon ในครั้งนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นเสียทีเดียว เพราะหากพิจารณาองค์กรที่มีโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกันอย่าง “ดิสนีย์” ที่ภายใต้อาณาจักรสื่อบันเทิงขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วย สตูดิโอผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันของดิสนีย์เอง, ค่ายหนังยักษ์ใหญ่ 20th Century Fox, สำนักข่าว abc ของออสเตรีเลีย, ช่องกีฬา ESPN, ค่ายหนังและการ์ตูนซูเปอร์ฮีโร Marvel ฯลฯ จนเกิดการ “ผูกขาดทางคอนเทนต์” ทำให้แพลตฟอร์ม Disney+ ทรงอานุภาพเหนือผู้เล่นรายอื่น และเหนือผู้ชมด้วย
แม้จะสามารถผ่านการตรวจสอบของ “คณะกรรมาธิการต่อต้านการผูกขาดการค้าของยุโรป” เนื่องจากมองว่าธุรกิจของทั้ง Amazon และ MGM ไม่ได้ทับซ้อนกันเสียทีเดียว จนทำให้เกิดการผูกขาดจากการลดจำนวนผู้ให้บริการในตลาดคอนเทนต์บันเทิง และ “คณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ” ที่ดูแลเรื่องการผูกขาดทางการค้า จะยังไม่มีมาตรการคัดค้านการเข้าซื้อกิจการในครั้งนี้ แต่ Amazon ก็ยังวางใจไม่ได้
Lina Khan ประธานคณะกรรมาธิการฯ ก็มีท่าทีชัดเจนว่าไม่พอใจในการที่บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ อย่างเช่น Amazon มีอำนาจเหนือผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ และเธอเองก็ได้ออกจดหมายถึง Amazon สืบเนื่องจากดีลในครั้งนี้ ว่า คณะกรรมาธิการฯ จะดำนเนินการสืบสวนเกี่ยวกับดีลนี้ต่อไป