เมื่อพูดถึงระบบขนส่งสาธารณะของไทย ‘รถเมล์สาย 8’ คงเป็นหนึ่งในภาพที่โผล่เข้ามาในหัวเป็นสิ่งแรกๆ สะท้อนถึงภาพจำของระบบขนส่งไทยที่ติดปัญหาเรื่องความปลอดภัย วินัยจราจร และ … ในขณะที่ประเทศไทย เริ่มเปลี่ยนผ่านจากรถเมล์น้ำมัน สู่รถเมล์ไฟฟ้า 100% กลุ่มประเทศผู้นำระดับโลกอย่าง ‘สหราชอาณาจักร’ กำลังก้าวไปสู่ขั้นถัดไป คือ การนำ ‘รถสาธารณะไร้คนขับ’ มาให้บริการกับประชาชนแล้วเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา
เปิดตัว ‘รถเมล์ไร้คนขับ’ สายแรกของโลก
‘AB1’ คือ บริการรถโดยสารสาธารณะไร้คนขับของสหราชอาณาจักร นับเป็นรถสาธารณะแบบไร้คนขับขนาดใหญ่ ที่ได้รับใบอนุญาตการให้บริการจริงเป็น ‘สายแรกของโลก’ โดย AB1 นี้เป็นส่วนหนึ่งของ Project CAVForth โดยบริษัท Stagecoach และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลของสหราชอาณาจักรด้วย
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘รถเมล์ไร้คนขับ’ แต่บนรถสายนี้ยังคงมีพนักงานให้บริการ 2 คนด้วยกัน โดยคนหนึ่งประจำอยู่ที่พวงมาลัย เพื่อคอยเฝ้าระวังความปลอดภัยของการให้บริการ ส่วนพนักงานอีกคนทำหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการขึ้นลงของผู้โดยสาร และการจำหน่ายตั๋ว คล้ายกับโชว์เฟอร์และกระเป๋ารถเมล์บ้านเรานั่นเอง
AB1 ได้เริ่มให้บริการแล้วในสกอตแลนด์ระหว่าง Ferrytoll Park, Ride in Fife และ Edinburgh Park Transport Interchange ครอบคลุมระยะทางราว 22.5 กิโลเมตร จำกัดความเร็วสู
สุดอยู่ที่ 80 กม./ชม.
รถเมล์ไร้คนขับสาย AB1 นี้ ใช้รถยี่ห้อ Alexander Dennis รุ่น Enviro200AV มีความสามารถในการขับขี่ในสภาวะที่การจราจรมีความซับซ้อน เช่น ขับผ่านวงเวียน ไฟจราจร และเปลี่ยนเลนบนถนนมอเตอร์เวย์ อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ในรถยนต์ไร้คนขับอย่าง AI เซนเซอร์ และกล้องรอบคัน
โดยในช่วงแรกของการให้บริการนี้ รถเมล์ไร้คนขับสาย AB1 มีรถให้บริการจำนวนทั้งหมด 5 คัน โดย Stagecoach ระบุว่า จะสามารถให้บริการผู้โดยสารได้ประมาณ 10,000 คนต่อสัปดาห์ สนนราคาอยู่ที่เที่ยวละ 7.20 ปอนด์ (ราว 309 บาท) จะเปิดให้บริการในระยะทดลองนี้จนถึงปี 2025
Paul Davies ประธานและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Alexander Dennis ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในสัปดาห์ก่อนการเปิดตัว AB1 ว่า “บริษัทมั่นใจว่ารถเมล์ไร้คนขับเช่นนี้ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับประชาชน และยังช่วยให้รถยนต์วิ่งในระดับความเร็วที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยประหยัดพลังงาน และยืดระยะการซ่อมบำรุงรถอีกด้วย”
ไทยติดท็อป ‘อุบัติเหตุบนท้องถนน’ สูงสุดในอาเซียน
ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ที่ 32.7 คน ต่อประชากร 1 แสนคน จาก รายงาน GLOBAL STATUS REPORT ON ROAD SAFETY 2018 ขององค์กรอนามัยโลก
นอกจากนี้ ข้อมูลสถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อนเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ยังระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน มีผู้บาดเจ็บสะสมจำนวน 314,370 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 6,057 ราย เพิ่มขึ้น 1.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน
แม้อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดจากรถจักรยนต์เป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว ระบบขนส่งสาธารณะก็จะดีตามไปด้วย ผลที่จะตามมา ก็คือ ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้รถส่วนตัวน้อยลง และอุบัติเหตุก็จะลดลงไปด้วยเป็นเงาตามตัว
ระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพจึงไม่เพียงทำให้ประชาชนเดินทางสะดวกมากขึ้น แต่ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยรักษา ‘ชีวิตของประชาชน’ ไว้ได้อีกด้วย หากในอนาคตอันใกล้ ประเทศไทยนำเทคโนโลยี ‘รถยนต์ไร้คนขับ’ ซึ่งจะช่วยยกระดับความปลอดภัย และความคล่องตัวของการจรจรมาใช้ ก็คงจะเกิดประโยชน์กับชีวิตของประชาชนได้ไม่น้อย
ที่มา : BBC, CNBC, Stagecoach, ThaiRSC