เพิ่งจะเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ แต่ปี 2025 นี้ เกิดอุบัติเหตุทางอากาศแล้วหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกว่า 100 คน ทั้งกรณีเหตุเครื่องบินชนเข้ากับเฮลิคอปเตอร์แล้วตกลงสู่แม่น้ำในกรุงวอชิงตันดีซีของสหรัฐฯ และเครื่องบินชนรถบัสบนถนนในเซาเปาโล รวมไปถึงกรณีล่าสุด อย่างอุบัติเหตุเครื่องบินที่สนามบินโตรอนโต แคนาดา ซึ่งถึงแม้จะไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็ทำให้ผู้โดยสารและลูกเรือได้รับบาดเจ็บ
ขณะที่ปี 2024 ที่ผ่านมา ถูกประกาศให้เป็นหนึ่งในปีที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางอากาศมากที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 318 คนจากอุบัติเหตุเครื่องบินพาณิชย์ 11 ครั้ง รวมถึงอุบัติเหตุร้ายแรงอย่างเครื่องบินเจจูแอร์ไถลออกนอกรันเวย์ที่สนามบินเกาหลีใต้ ก่อนจะชนเข้ากับกำแพงแล้วระเบิด
แม้ว่าอุบัติเหตุเครื่องบินชนร้ายแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ทำให้ผู้คนสนใจและเป็นกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย จนมีการตั้งคำถามถึงเรื่อง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI จะถูกนำมาใช้เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศได้หรือไม่
จริงๆแล้ว AI ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการบินอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพเส้นทางบินและการประหยัดเชื้อเพลิง ไปจนถึงการคาดการณ์การบำรุงรักษาและสร้างความยั่งยืน แต่จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ AI จะถูกสามารถนำมาใช้เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการบินและป้องกันอุบัติเหตุและการสูญเสียชีวิต?
เฟรชตา ฟาร์ซาม ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง LYTE Aviation ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีราว่า ขณะนี้มีความก้าวหน้ามาก และเชื่อว่ายังจะมีความก้าวหน้ามากกว่านี้ตามมาอีก โดย AI กำลังมีบทบาทสำคัญในการลดอุบัติเหตุทางอากาศและการสูญเสียชีวิต ด้วยการปรับปรุงการรับรู้สถานการณ์ การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ และกระบวนการตัดสินใจ ใช้ในการควบคุมจราจรทางอากาศ และการป้องกันการชน นับว่า AI กำลังช่วยเหลือได้มาก
อุบัติเหตุทางอากาศมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ โดยความผิดพลาดของนักบินมีสัดส่วนเป็นสาเหตุมากถึง 53 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม การเดินทางทางอากาศไม่ได้เป็นรูปแบบการเดินทางที่อันตรายที่สุด เพราะการเดินทางด้วยวิธีอื่นมีสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุที่สูงกว่านี้
การเดินทางทางอากาศจะปลอดภัยได้ก็ต่อเมื่อสายการบิน อุปกรณ์ และขั้นตอนการฝึกอบรมที่เป็นพื้นฐานของเที่ยวบินนั้น ๆ มีความปลอดภัย หากไม่มีการฝึกอบรมและการควบคุมความปลอดภัยทางการบินที่เข้มงวด การเดินทางทางอากาศก็จะไม่ปลอดภัยสำหรับผู้โดยสารทั้งการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวและเครื่องบินพาณิชย์
อามัด มาลิก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่าย AI จาก Airport AI Exchange เปิดเผยว่า แม้ว่าในอุตสาหกรรมการบินจะมีความก้าวหน้าด้าน AI อย่างมาก แต่หลายอย่างยังไม่ถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ เนื่องจากกระบวนการและการรับรองที่เข้มงวด โดยปัจจุบันนี้ มีการตั้งกฎระเบียบไว้ว่าจะต้องมีข้อมูลสะสมเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะนำ AI มาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้น สิ่งที่ใช้อยู่ตอนนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดเรื่อง AI ที่ทำหน้าที่เป็นระบบอัจฉริยะภายในเครื่องบิน ซึ่งสามารถตรวจจับและป้องกันความผิดพลาดได้ แม้นักบินหรือศูนย์ควบคุมจราจรทางอากาศจะทำผิดพลาดก็ตาม
ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการบินเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงตลาดแท็กซี่ทางอากาศ (Air Taxi) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอย่างมหาศาลภายในสิ้นทศวรรษนี้
จากข้อมูลของ Spherical Insights บริษัทวิจัยการตลาด คาดว่า ตลาดแท็กซี่ทางอากาศจะเติบโตจากมูลค่า 4,900 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว เป็น 80,300 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2029 โดยรายงานจาก Mordor Intelligence ระบุว่า ความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากผู้คนต้องการทางเลือกในการเดินทางและปัญหาการจราจรติดขัดที่เพิ่มขึ้นในเมืองใหญ่
บทความสำหรับ World Economic Forum ปี 2023 ได้เสนอแนวคิดว่า แม้ว่าแนวคิดเรื่องเครื่องบินอัตโนมัติอาจทำให้บางคนรู้สึกไม่สบายใจ แต่สิ่งสำคัญคือการมองว่าเทคโนโลยีอัตโนมัติสามารถเสริมความสามารถของมนุษย์ในอุตสาหกรรมการบินได้อย่างไร แทนที่จะมองว่าเป็นการแทนที่มนุษย์
อย่างไรก็ตาม อามัด มาลิก ซึ่งเป็นนักบินแย้งว่าการนำ AI เข้ามาใช้ในเครื่องบินตอนนี้ อาจทำให้เกิดปัญหามากกว่าการแก้ไขปัญหา เพราะเครื่องบินต้องสื่อสารกับภาคพื้นดินและเครื่องบินลำอื่น ๆ ซึ่งมีความซับซ้อนหลายด้าน
ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการนำ AI มาใช้ในเครื่องบินสามารถช่วยลดความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางอากาศ อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่ซับซ้อน ซึ่งอาจต้องอาศัยการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นของนักบินที่มีประสบการณ์
ดังนั้น แม้ว่าเครื่องบินที่บินได้เองและระบบนักบินอัตโนมัติจะมีศักยภาพในการเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการเดินทางทางอากาศ แต่การนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบอาจต้องใช้เวลาและการพัฒนาทางเทคโนโลยีและกฎระเบียบเพิ่มเติม