Ford Ranger Raptor คือรถกระบะสมรรถนะสูงที่สุดในตระกูล Ranger การออกแบบเส้นสายด้านข้างตัวถังที่เน้นความแข็งแรง และการออกแบบที่คำนึงถึงหลักอากาศพลศาสตร์เพื่อลดแรงเสียดทาน เพิ่มสมรรถนะ และประสิทธิภาพ
“ตัวถังภายนอกใหม่ที่ดึงดูดสายตา และเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร V6 เทอร์โบคู่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน เพื่อเพิ่มสมรรถนะให้กับ Ford Ranger Raptor เจเนอเรชันใหม่ นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับรายละเอียดอีกมากมายที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่เป็นสิ่งที่จะทำให้ลูกค้าสัมผัสได้ถึงความแตกต่างของรถรุ่นใหม่อย่างแท้จริง” มร.เดวิด ไกรซ์ หัวหน้าวิศวกรแพล็ตฟอร์มเรนเจอร์และเอเวอเรสต์ กล่าว
หนึ่งในสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านั้นก็คือการออกแบบตัวถัง ซึ่ง Ford Ranger Raptor ผ่านการทดสอบระบบอากาศพลศาสตร์ ทั้งแบบเสมือนจริงและการทดสอบทางกายภาพราว 700 ชั่วโมง โดยอาศัยหลักพลศาสตร์การไหลเชิงคำนวณ ซึ่งสามารถคำนวณและรายงานผลจากการปรับการออกแบบได้ทันที
นักออกแบบและวิศวกรยังใช้ต้นแบบที่หลายคนนึกไม่ถึงมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบการไหลเวียนของอากาศบริเวณรอบล้อ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแรงเสียดทานที่สำคัญของรถ และแม้ว่า Ford Mustang กับ Ford Ranger Raptor จะเป็นรถยนต์ที่มีความแตกต่างกันมาก แต่ทีมพัฒนา Ford Ranger ในประเทศออสเตรเลียก็ได้นำเทคนิคที่ทีมพัฒนารถ Ford Mustang ในทวีปอเมริกา คิดค้นขึ้นมาปรับใช้เพื่อจัดการการไหลเวียนของอากาศบริเวณรอบล้อและซุ้มล้อของ Ford Ranger Raptor
ในอดีตการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนารถกระบะเลย แต่เมื่อความต้องการใช้งานรถกระบะแบบอเนกประสงค์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อทำงาน การใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน นักออกแบบจึงต้องพัฒนารถให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทั้งด้านรายละเอียดความประณีตและการประหยัดน้ำมัน
ดร. นีล ลูวิงตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและหัวหน้าฝ่ายอากาศพลศาสตร์ของ Ford ออสเตรเลีย กล่าวว่า การปรับดีไซน์พื้นฐานของรถกระบะให้เป็นไปตามหลักอากาศพลศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นักออกแบบต้องเอาชนะอุปสรรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ด้านหน้าขนาดใหญ่ ช่องซุ้มล้อ ท้ายห้องโดยสารแบบ 4 ประตูที่ตัดตรงในแนวตั้งเพื่อเชื่อมกับกระบะท้ายที่เปิดรับลม
“การปรับงานออกแบบเพียงเล็กน้อย อาจช่วยพัฒนาประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ได้เป็นอย่างมาก” ดร. ลูวิงตัน กล่าวเสริม
“สำหรับฟอร์ด เรนเจอร์ แร็พเตอร์ เจเนอเรชันใหม่ เราเน้นที่ส่วนสำคัญหลายอย่างทั้งการสร้างม่านอากาศกั้นบริเวณล้อหน้าและหลังเพื่อลดแรงเสียดทาน ปรับเสา C ใหม่เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของอากาศเหนือกระบะท้าย และการออกแบบฝาครอบขอบกระบะและสปอยเลอร์บนฝาปิดกระบะท้ายให้เสริมกัน”
ล้อรถยนต์คือแหล่งกำเนิดหลักของแรงต้าน หากใช้ผ้าจริงๆ มาทำม่านคลุมล้อเพื่อทำให้ลมไหลเวียนบริเวณรอบๆ ล้อนั้นได้ ก็คงดูตลก นักออกแบบและวิศวกรของ Ford Ranger Raptor จึงใช้แรงบันดาลใจเรื่องม่านอากาศจาก Ford Mustang มาพัฒนาต่อ โดยการออกแบบกันชนหน้าและไฟตัดหมอกเพื่อชาร์จลมที่ด้านหน้ารถและสร้างม่านอากาศที่บริเวณล้อหน้า
ชุดกันชนหน้าและกรอบไฟตัดหมอกได้รับการออกแบบให้ดักกระแสลมผ่านเข้าทางร่องข้างไฟตัดหมอกไปยังล้อหน้าและไหลไปตามด้านข้างตัวถัง ดร. ลูวิงตัน บอกว่าการออกแบบนี้มีข้อดี 2 ประการ คือ ช่วยลดแรงต้านสูงที่บริเวณด้านหน้ารถ และยังใช้กระแสลมที่มีโมเมนตัมสูงเข้าไปลดทอนลมที่เกิดโดยธรรมชาติจากล้อหน้า
“การจัดการการไหลของอากาศบริเวณรอบล้อสำคัญต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อเน้นสมรรถนะ การขับขี่ในเมือง หรือประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ แต่สำหรับฟอร์ด เรนเจอร์ นอกจากการเพิ่มม่านอากาศที่ล้อหน้าแล้ว เรายังพัฒนาสปอยเลอร์กันยางที่ส่วนหน้าของล้อหลังเพื่อลดแรงเสียดทานจากยางหลังอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความสี่ยงที่กระแสลมจะกระทบระบบช่วงล่างและบันไดเหยียบข้างกระบะท้าย” ดร. ลูวิงตัน กล่าว
บันไดเหยียบข้างกระบะท้ายนับเป็นการออกแบบอันชาญฉลาดที่ช่วยให้ผู้ใช้งานขึ้นลงจากด้านข้างกระบะได้อย่างง่ายดาย โดยไม่ต้องเหยียบล้อหลังเพื่อขึ้นกระบะอีกต่อไป ทีมนักออกแบบมั่นใจว่า บันไดเหยียบข้างกระบะท้ายแทบไม่ส่งผลกระทบต่อแรงเสียดทานตามหลักอากาศพลศาสตร์
ดร. ลูวิงตัน กล่าวว่า บันไดเหยียบข้างกระบะท้ายอยู่ก่อนล้อหลังเพียงเล็กน้อย จึงไม่มีผลกระทบต่อการต้านทานอากาศมากนัก อุปกรณ์นี้จึงเป็นประโยชน์ และตัวรถก็ไม่ได้รับผลกระทบด้านอากาศพลศาสตร์
ดร. ลูวิงตัน กล่าวว่า ทีมนักออกแบบได้ปรับรูปทรงของเสา C ฝาครอบขอบกระบะท้าย และสปอยเลอร์บนฝาปิดกระบะท้าย เพื่อให้การไหลเวียนของอากาศเหนือกระบะและรอบกระบะท้ายดีขึ้น ทำให้มั่นใจได้ว่ากระบะท้ายได้รับการออกแบบตามหลักอากาศพลศาสตร์อย่างดีที่สุด
“การไหลเวียนของอากาศเหนือกระบะท้ายส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพทางอากาศพลศาสตร์โดยรวมของรถ รูปทรงของรถจึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดปริมาณอากาศไหลเวียนในที่ว่างเหนือกระบะ” ดร. ลูวิงตัน กล่าว
“จากการปรับแต่งรูปทรงหลังคาและเสา C อย่างประณีตเพื่อให้สอดรับกับรูปทรงของฝาครอบขอบกระบะท้าย และสปอยเลอร์บนฝาปิดกระบะท้าย เราจึงควบคุมปริมาณอากาศไหลเวียน และลดการต้านทานตามหลักอากาศพลศาสตร์ลงได้”
ถึงแม้ Ford จะออกแบบส่วนหน้าของรถให้มีขนาดใหญ่ และดุดัน แถมยังมีซุ้มล้อที่กว้าง แต่แรงต้านอากาศโดยรวมของ Ford Ranger Raptor เจเนอเรชันใหม่ ลดลงไปถึง 3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มการยึดเกาะถนนและลดเสียงรบกวนในห้องโดยสารแล้ว ยังช่วยให้รถกินน้ำมันน้อยลง เนื่องจากแรงต้านอากาศจากการวิ่งบนทางหลวงที่ลดลงทุกๆ 3 เปอร์เซ็นต์ เทียบได้กับการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงลง 1 เปอร์เซ็นต์
เครื่องยนต์เบนซิน 3.0 ลิตร EcoBoost V6 เทอร์โบคู่ พละกำลัง 397 แรงม้า และแรงบิด 583 นิวตันเมตร และตัวเลือกเครื่องยนต์ดีเซล 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 210 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 500 นิวตันเมตร ทำงานกับเกียร์อัตโนมัติ 10 สปีด โหมดการขับขี่เลือกได้ 7 แบบ รวมถึงโหมดบาฮา จึงทำให้เรียกได้ว่าเป็นรถกระบะตระกูล Ranger ที่ทรงพลังที่สุดที่เคยมีมา
นอกเหนือจากระบบเชื่อมต่อการสื่อสารที่ล้ำสมัยแล้ว Ford Ranger Raptor รุ่นเครื่องยนต์ 3.0 ลิตร ยังมีระบบควบคุมเฟืองท้ายแบบ Locking Differentials ทั้งด้านหน้าและหลัง พร้อมโช้คอัพแบบ Live Valve จาก FOX และเทคโนโลยีช่วยในการขับขี่อัจฉริยะอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงระบบ Active Valve Exhaust ที่ปรับระดับเสียงท่อ 4 โหมดได้อีกด้วย