ในช่วงนี้เราก็เริ่มจะเห็นรถยนต์ใหม่ ๆ ออกสู่ถนนมากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า EV นับกันบนถนนแทบจะครึ่งต่อครึ่งเลยก็ว่าได้ เป็นคำถามที่น่าสนใจว่า รถยนต์ไฟฟ้า ต้อง RUN-IN กับเค้าด้วยหรือไม่?
ถ้าบอกว่าไม่ต้อง RUN-IN ก็คงจะยังไง ๆ อยู่ หลายท่านมองว่า ไม่มีชิ้นส่วนสึกหรอเลยเหรอ? ในรถคันนึง มันต้องมีแน่นอน อย่างเรื่องยางยังไงล่ะ เราก็ต้อง RUN-IN ผ้าเบรค หรือ Bedding in เพื่อให้หน้าสัมผัสเข้าที่ หน้าสัมผัสผ้าเบรกใหม่กับจานเบรกยังใหม่มาก ยังจับกันได้ไม่ดีเพราะรถใหม่ ไม่มีการถูกใช้งาน และยังไม่ควรใช้ความเร็วในการขับมากนัก ขับออกจากโชว์รูมครั้งแรกก็อย่าเพิ่งใช้ความเร็วสูง ให้ขับแบบปกติ สังเกตดูที่จานเบรก ให้ใช้เบรกบ่อยๆ ดูว่าผ้าเบรกกินเต็มหน้าจานหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นไปได้ขับเข้าเมือง ไปเจอรถติดนานๆ อย่างในกรุงเทพฯ ได้ใช้เบรกบ่อยแน่นอน รับรองว่ากลับบ้านมา หน้าสัมผัสเข้าที่ผ้าเบรกกินเต็มหน้าจาน ก็หายห่วงแล้ว
ส่วนรถยนต์ประเภทเครื่องยนต์สันดาป รถยนต์ลูกผสมต่าง ๆ ถือเป็นความสะดวกใจเฉพาะบุคคลจริง ๆ บางท่านยังเชื่อในเรื่องของการ RUN-IN รถใหม่อยู่ ส่วนบางท่านออกรถมาแล้ว ใช้รถเลยโดยไม่ RUN-IN แต่อย่างใด หากท่านที่สนใจเรืองการ RUN-IN รถใหม่ ก็ลองอ่านบทความนี้เป็นแนวทางดูก็ไม่มีอะไรผิด
สำหรับรถใหม่ออกห้างฯ หรือที่เรียกว่า “รถป้ายแดง” กับคำว่า RUN-IN นั้น ดูมีความเกี่ยวข้องและคุ้นหูกันมานาน เวลาที่ใครก็แล้วแต่ไปซื้อรถยนต์ใหม่เอี่ยมมาใช้ ก็มักจะได้ยินพนักงานขายหรือเซลส์ที่ขายรถ ให้คำแนะนำว่า “อย่าลืม!...RUN-IN ตามคู่มือด้วยนะคะ/ครับ” ซึ่งโดยปรกติแล้วก่อนที่เราจะรับมอบรถจากทางบริษัท ก็จะมีการตรวจสอบขั้นสุดท้ายอยู่แล้ว แผนกนี้จะทำการตรวจสอบทุกส่วนที่กำหนดมาจากโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นระบบเครื่องยนต์ สีรถยนต์ ตัวถังรถ ระบบไฟฟ้า และอื่น ๆ อีกมากมาย
และสิ่งที่เราควรจะทำก่อนรับมอบรถมาก็คือ ตรวจสอบทุกสิ่งทุกอย่างและทุกระบบของรถยนต์คันนั้นให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และปรกติที่สุด ก่อนจะรับมอบรถมา เช่น ดูว่าสีรถมีส่วนหนึ่งส่วนใดเพี้ยนไปหรือไม่ ระบบไฟฟ้าทำงานครบทุกส่วนหรือเปล่า?
หากเราตรวจดูแล้วพบว่าทุกอย่างเป็นปรกติดีเราก็รับรถมาได้ แต่หากพบสิ่งผิดปรกติ หรือดูแล้วพบว่ามันแตกต่างไปจากรถคันอื่น ๆ ที่จอดโชว์อยู่ในโชว์รูม ทั้ง ๆ ที่เป็นรถรุ่นเดียวกัน แบบเดียวกัน ก็แจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบทราบ เพื่อจะได้แก้ไขหรือเปลี่ยนคันใหม่ให้ต่อไป
และเมื่อรับมอบรถยนต์มาแล้ว ก็ไม่ควรขับด้วยความเร็วสูงนัก เพราะในขณะนี้รถยนต์ของท่านกำลังอยู่ในช่วงที่เรียกว่า RUN-IN ปรกติแล้วเครื่องจักรกลเครื่องยนต์ทุกชนิดต้องมีระยะ RUN-IN ทั้งสิ้น การ RUN-IN รถยนต์ก็คือ การปรับสภาพรถให้เข้ากับการทำงานตามปรกติ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์ ระบบช่วงล่าง ระบบเบรก หรือจะเป็นระบบไฟฟ้าก็ตามที ทุกอย่างทุกระบบอยู่ในช่วง RUN-IN หมด และถ้าจะถามว่าระยะ RUN-IN จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ก็โดยปรกติแล้วระยะ RUN-IN ของรถยนต์นั้นจะหมดใน 1,000 กิโลเมตรแรก
เราควรทำอะไรใน 1,000 กิโลเมตรแรก อย่างแรกเลย คือ ต้องขับรถด้วยความเร็วที่ไม่สูงมากนัก ทางที่ดีแล้วไม่ควรเกิน 100 กม./ชม. และไม่ควรลากรอบเครื่องยนต์เกิน 4,500 รอบ/นาที ไม่ควรเหยียบเบรกอย่างรุนแรงโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าหากมีรถหรือคนวิ่งตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด ถ้าจะไม่เบรกเสียเลยมันก็เกินไป และพยายามหาสิ่งผิดปรกติที่อาจเกิดขึ้นในขณะใช้รถ แต่ไม่ใช่การจับผิดว่ารถจะเป็นอย่างงี้อย่างนี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า รถยังไม่พ้น RUN-IN คนก็เพี้ยนไปซะก่อน เพราะหวาดระแวงเกินเหตุ และถ้าหากพบสิ่งผิดปรกติขณะใช้รถ ก็ควรนำรถเข้าศูนย์บริการทันที เพราะจะได้แจ้งให้ทางผู้ขายทราบ เผื่อว่ามีอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนบางชิ้นเกิดชำรุดเสียหายมาจากกระบวนการประกอบ ถ้าส่งเคลมได้ก็จะเคลมกันไป ถ้าเก็บไว้นานเกินไปเราอาจต้องเสียเงินเปลี่ยนเองก็ได้
การดูแลรักษารถป้ายแดงนั้นไม่ยุ่งยากเท่ารถที่ใช้งานมานานเกิน 5 ปีไปแล้ว สาเหตุที่รถใหม่ป้ายแดงบำรุงรักษาง่ายกว่าก็เพราะอุปกรณ์และชิ้นส่วนต่าง ๆ ยังใหม่อยู่ ไม่ต้องการการบำรุงรักษาที่มากมายอะไรนัก วิธีการง่าย ๆ ก็เพียงแค่ตรวจเช็กตามระยะทางที่กำหนดไว้ในคู่มือเท่านั้น ระยะทางที่ควรเข้ารับการตรวจเช็กมากที่สุด ก็มีอยู่ 3 ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ระยะ 1,000 กม.แรก, ระยะ 5,000 กม. หรือ 10,000 กม. และระยะ 15,000 กม. หรือ 20,000 กม.
อยากจะขอย้ำกันอีกสักนิดว่าการ RUN-IN รถยนต์ใหม่นั้นเป็นความสะดวกใจเฉพาะบุคคล จะทำหรือไม่นั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลจริง ๆ เรื่องราวของการ RUN-IN รถใหม่ก็คงมีเพียงเท่านี้ และขอฝากเรื่องของการประหยัดพลังงานไว้ด้วย เวลาจะกดคันเร่งทุกครั้งก็ให้นึกถึงเงินในกระเป๋า ตอนนี้น้ำมันเบนซินลิตรละหลายสิบบาท แต่ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่ปรับราคาลงอีก มีหวังได้จ่ายค่าน้ำมันกันจึ้งใจแน่ ๆ รถที่ใช้น้ำมันถ้าไม่รีบร้อนไปไหน ขับแค่ 70 หรือ 80 กม./ชม.ก็พอนะ อย่าลืมทำตามกฎหมายจราจรกำหนดกันด้วย
ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าก็ Booking การจองเวลาชาร์จไฟตามสถานีชาร์จกันดี ๆ ไม่ต้องตบตีแย่งชิง ให้มีดราม่ากันทุกวัน คนไทยด้วยกัน รักกันไว้นะ