เรื่องปัญหาหม้อน้ำอุดตันจากตะกรันก็พบได้บ่อย ๆ ในรถที่ใช้มานาน ๆ สามารถดูได้จากช่องเติมน้ำจะเห็นมีตะกรันไปอุดอยู่ตามช่องรังผึ้งหม้อน้ำซึ่งเป็นหลอด ๆ เรียงกันอยู่ หากตันมากเข้าน้ำร้อนก็ไม่สามารถหมุนเวียนไปให้ลมเป่าได้ จึงมีปัญหาต้องให้ร้านหม้อน้ำถอดออกมาผ่าเอา แผ่นโลหะแบน ๆ ยาว ๆ ทะลวงเอาตะกรันออกและประกอบกลับเข้าไปใหม่ ค่าล้างหม้อน้ำต้องจ่ายหลายบาทขึ้นอยู่กับขนาดของหม้อน้ำ
แต่ถ้าเป็นหม้อน้ำอลูมิเนียมนั้น จะล้างแบบนี้ไม่ได้นะจ๊ะ เพราะส่วนมากฝาครอบด้านบนจะเป็นพลาสติก เมื่อถอดออกมาแล้วไม่สามารถใส่กลับให้เหมือนเดิมได้ เมื่อมีปัญหาจะต้องเปลี่ยนใหม่ ทำได้เฉพาะหม้อน้ำธรรมดาทั่ว ๆ ไปซึ่งสามารถบัดกรีได้
แต่ก็ยังพอมีทางออกหากไม่ค่อยมีตังค์ เพราะหม้อน้ำอลูมิเนียมของใหม่แกะกล่อง มีราคาค่อนข้างแพง เมื่อแพงมหาโหดอย่างนี้ ก็ต้องพึ่งพาของมือสองกัน ซึ่งก็สามารถไปหาซื้อตามเซียงกงมาใช้ได้ ราคาแล้วแต่รุ่นและยี่ห้อ ต้องเลือกดูที่สภาพดี
ส่วนมากแล้วคนที่ไปเอามาจากญี่ปุ่น มักจะคัดเลือกที่สภาพดีมาแล้ว ยิ่งถ้าเป็นรถที่ใช้เกียร์อัตโนมัติที่ใช้ออยล์คูลเลอร์รวมอยู่กับหม้อน้ำ เมื่อมีปัญหาต้องเปลี่ยนหม้อน้ำใหม่ หากยังไม่พร้อมที่จะใช้ของใหม่ของมือสองจะช่วยได้มาก ดีกว่าเสี่ยงใช้หม้อน้ำที่ทำขึ้นมาตามร้านหม้อน้ำ ถึงจะถูกกว่าของใหม่อยู่เป็นเท่าตัว แต่ความคงทนจะสู้ไม่ได้ หากน้ำรั่วเข้าไปในห้องเกียร์ทำให้น้ำมันเกียร์เสื่อมสภาพจนเกียร์พังขึ้นมา และค่าซ่อมเกียร์อัตโนมัติไม่ใช่ถูก ๆ เหมือนเกียร์ธรรมดาซะเมื่อไหร่ อย่างน้อย ๆ เดี๋ยวนี้ก็ต้องมีหลายหมื่นบาทขึ้นไป เพราะค่าแรงค่าฝีมือนั้นแพงเอาเรื่อง
อีกปัญหาก็คือ น้ำในหม้อน้ำหรือหม้อพักหายกันอยู่บ่อย ๆ บางทีต้องเติมกันทุกวันจนน่ารำคาญ นอกจากปัญหาเรื่องความร้อนสูงเกินหรือโอเวอร์ฮีทแล้ว ยังอาจมีสาเหตุจากการรั่วซึมตามท่อทางเดินต่าง ๆ ของน้ำหล่อเย็นที่ต้องค้นหา เพราะปกติน้ำจะไม่ค่อยหายไปจากระบบหล่อเย็นได้ง่าย ๆ ส่วนมากปกติจะเติมกันทีก็ประมาณอาทิตย์ละครั้งหรือนานกว่านั้น และน้ำที่ยุบหายไปจะไม่มาก เติมเพิ่มกันครั้งนึงก็ประมาณไม่เกิน 300 ซีซี. หรือประมาณ 1 กระป๋องน้ำอัดลม มากสุดก็ไม่น่าเกิน 1 ขวดน้ำเล็ก 500 ซีซี. หากต้องเติมมากว่านั้น ผิดปกติชัวร์!
ต้องไปหาจุดที่น้ำรั่ว ซึ่งอาจเกิดได้ตามร่อยต่อหรือท่อยางหม้อน้ำที่หมดสภาพ โดยเฉพาะรอบ ๆ ตัวเครื่องยนต์ ตามเสื้อสูบและฝาสูบจะมีช่องตาน้ำที่ปิดไว้ด้วยฝาโลหะ รถบางรุ่นมีการผลิตสำหรับใช้ในหลายภูมิภาค จะมีช่องทางสำหรับให้น้ำร้อนไหลผ่านฮีทเตอร์เพื่อทำความร้อนในประเทศที่มีอากาศหนาว เมื่อไม่ได้ใช้ก็จะอุดเอาไว้ พอใช้รถไปนาน ๆ เข้าตัวฝาที่อุดหรือบริเวณรอบช่องที่อุดไว้เป็นสนิมก็ทำให้รั่วได้ จะสังเกตเห็นมีรอยคราบสนิมสีแดง ๆ ไหลเป็นทางลงมาสู่ด้านล่างแสดงว่ามีการรั่ว เพราะบางทีตอนที่ดับเครื่องน้ำจะยังไม่รั่ว เพราะยังไม่มีแรงดันในระบบ จึงทิ้งไว้แต่รอยคราบดังกล่าว ถ้าพบเห็นแบบนี้ควรนำรถไปให้ช่างซ่อมโดยด่วน
บางครั้งหาเท่าไรก็ไม่เจอรอยรั่ว แต่น้ำก็หายและความร้อนขึ้น ให้ไปดูที่ปั๊มน้ำอาจมีการรั่วที่ซีลแกนปั๊มน้ำ โดยเฉพาะเครื่องที่ขับเพลาราวลิ้นหรือ CAM SHAFT ด้วยสายพานจะมีฝาครอบด้านหน้าเครื่องปิดอย่างมิดชิดทำให้มองไม่เห็นรอยน้ำรั่ว อาจจะต้องมุดลงไปมองใต้ท้องรถ หรือเอาแม่แรงยกรถขึ้นถึงจะเห็น และต้องติดเครื่องยนต์ด้วย เพื่อให้มีแรงดันในระบบหล่อเย็นถึงจะเห็นน้ำหยดออกมา
ปัญหาเรื่อง เทอร์โมสตัท ก็มีอยู่ไม่น้อย ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ ก็คือ ไม่ยอมเปิดตามปกติ ด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนานทำให้หมดสภาพ ซึ่งหน้าที่ของมัน จะปิดกั้นทางเดินน้ำหล่อเย็นไม่ให้น้ำไหลเวียนผ่านเข้าไปในหม้อน้ำตอนที่เครื่องยังไม่ร้อน เพื่อลดเวลาในการอุ่นเครื่องตอนเช้า ๆ ให้น้อยลง พอเครื่องร้อนถึงอุณหภูมิทำงานแล้ว มันถึงจะเปิดให้น้ำมีการไหลเวียนเข้าไประบายความร้อนผ่านหม้อน้ำ อุณหภูมิที่กำหนดให้เทอร์โมสตัทหรือวาล์วน้ำเปิดในรถแต่ละรุ่นอาจจะไม่เท่ากัน พวกรถยุโรปจะตั้งที่อุณหภูมิสูงกว่ารถญี่ปุ่น เพราะต้องการประสิทธิภาพในการเผาไหม้ในอุณหภูมิสูง ๆ และอากาศจะหนาวเย็น
การทดสอบเทอร์โมสตัท สามารถทำได้ด้วยการถอดออกมาต้มในภาชนะที่สามารถมองเห็น เมื่อน้ำเริ่มร้อนมันจะเริ่มเผยอเปิดออกทีละน้อยจนน้ำเดือดจะเปิดกว้างสุด เมื่อเทอร์โมสตัทเสียบางทีจะเปิดไม่หมด ทำให้น้ำไหลเวียนไม่สะดวก ทำให้เกิดปัญหาโอเวอร์ฮีทขึ้น ต้องเปลี่ยนใหม่ไม่ควรไปถอดออกเพราะในรถรุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้เครื่องยนต์หัวฉีดจะมีเซ็นเซอร์ตรวจเช็คอุณหภูมิน้ำหล่อเย็น เพื่อรายงานให้ ECU ทราบ ซึ่งใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดปริมาณการจ่ายเชื้อเพลิงเมื่อเครื่องเย็น จะสั่งจ่ายเชื้อเพลิงในอัตราส่วนผสมหนาทำให้เปลืองน้ำมันได้นั่นเอง