ปวดท้องน้อยรุนแรงเฉียบพลัน อาจเป็น "ถุงน้ำรังไข่แตก" อันตราย มีโอกาสเสียชีวิต

12 พ.ค. 67

ถุงน้ำรังไข่แตก มีโอกาสเสียชีวิตได้ เตือนผู้หญิงต้องระวัง หลัง "อาย กมลเนตร. เล่าอุทาหรณ์ คิดว่าปวดโรคกระเพาะ ที่ไหนได้ ถุงน้ำในรังไข่แตก

“อาย กมลเนตร” เล่าอุทาหรณ์ ถุงน้ำในรังไข่แตก เลือดออกในช่องท้อง ทนปวดคิดว่าแค่โรคกระเพาะ


ปวดท้อง อย่าชะล่าใจคิดไปเองว่าเดี๋ยวก็หาย เพราะหากเป็นอาการปวดท้องรุนแรงเฉียบพลันจาก ภาวะ ถุงน้ำในรังไข่แตก หรือ ซีสต์แตก บอกเลยว่าอันตราย มีโอกาสเสียชีวิต

โรคถุงน้ำในรังไข่ หรือ ซีสต์ คืออะไร

เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติของรังไข่ มีทั้งประเภทที่หายไปเองได้ไม่ต้องรับการผ่าตัด และประเภทที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือถุงน้ำเกิดการแตก รั่ว บิดขั้ว จนอาจมีอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้

โรคถุงน้ำในรังไข่ หรือ ซีสต์ อาการ

1.มีอาการปวดท้องน้อย หรือรู้สึกหน่วงๆ บริเวณท้องน้อย
2.ประจำเดือนมาผิดปกติ เช่น ประจำเดือนมากะปริบกะปรอย หรือ ประจำเดือนมามากผิดปกติ
3.ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน อาจเกิดจากถุงน้ำรังไข่แตก รั่ว บิดขั้ว หรือติดเชื้อ
4.คลำพบก้อนที่บริเวณท้องน้อย และก้อนเนื้อนั้นไม่ยุบลง ท้องอืด แน่นท้อง
5.อาจมีปัสสาวะบ่อย ท้องผูก จากการกดเบียดของก้อน

ถุงน้ำในรังไข่แตก อาการเป็นยังไง

1. ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน บริเวณข้างใดข้างหนึ่งหรือตรงบริเวณปีกมดลูก
2. คลำได้ก้อนถุงน้ำบริเวณหน้าท้อง กดเจ็บ ในรายที่ผอมมากๆ
3. ตรวจพบเชิงกรานโป่งนูนเนื่องจากมีเลือดคั่งอยู่
4. มีอาการปวดทั่วทั้งท้อง ในกรณีที่มีเลือดออกมาก ร่วมกับอาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
5. ความดันโลหิตต่ำ ซีด เนื่องจากเสียเลือด

ถุงน้ำรังไข่แตก อันตราย มีโอกาสเสียชีวิต

ในกรณีถุงน้ำแตกและมีเส้นเลือดฉีกขาด อาจทำให้ตกเลือดในช่องท้องได้ เป็นภาวะอันตรายและมีโอกาสเสียชีวิตได้

ถุงน้ำในรังไข่ แนวทางการรักษา

1.การรักษาด้วยการผ่าตัด มีทั้งการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดผ่านกล้อง โดยแพทย์จะพิจารณาผ่าตัดเมื่อมีข้อบ่งชี้ ทั้งนี้ขึ้นกับชนิดของถุงน้ำรังไข่ ความเสี่ยงการเป็นเนื้อร้าย และอาการของผู้ป่วย มักทำการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มีถุงน้ำขนาดใหญ่ มีความเสี่ยงสูงในการเป็นเนื้อร้าย หรือรักษาด้วยยาไม่สำเร็จ สำหรับในผู้ป่วยที่สงสัยภาวะถุงน้ำรั่ว แตก หรือบิดขั้วอาจต้องทำการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน

2.รักษาด้วยยา ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยและชนิดของถุงน้ำ อาจมีทั้งการใช้ยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมน และยาฮอร์โมนแบบรับประทานหรือแบบฉีด ร่วมกับการตรวจติดตามอาการ และตรวจอัลตราซาวนด์ติดตามการเปลี่ยนแปลงของถุงน้ำอย่างใกล้ชิด

3.รักษาโดยการติดตามอาการ หากเป็นถุงน้ำรังไข่ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามรอบเดือน ถุงน้ำอาจหายไปเองได้ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดหรือให้ยา แต่ต้องตรวจติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาลวิมุต, รามา แชนแนล, โรงพยาบาลพญาไท

advertisement

สุขภาพและความงาม คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด