Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"ไข้หวัดใหญ่" มีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนป่วยรุนแรงที่สุด อาการต่าง "ไข้หวัดธรรมดา" อย่างไร

"ไข้หวัดใหญ่" มีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนป่วยรุนแรงที่สุด อาการต่าง "ไข้หวัดธรรมดา" อย่างไร

19 มิ.ย. 67
14:13 น.
|
3.7K
แชร์

ไข้หวัดใหญ่ มีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนป่วยแล้วอาการรุนแรงที่สุด ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจาก ไข้หวัดธรรมดา อย่างไร ไข้หวัดใหญ่กินยาหายเองได้ไหม

ไข้หวัดใหญ่ คืออะไร

ไข้หวัดใหญ่ คือ โรคที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน พบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้

ไข้หวัดใหญ่ แตกต่างจาก ไข้หวัดธรรมดา อย่างไร

เกิดจากเชื้อไวรัสต่างชนิดกัน และมีความรุนแรงแตกต่างกัน โดยไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus) ส่วนไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดจากการเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น rhinovirus, adenovirus เป็นต้น โดย ไข้หวัดใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้

ไข้หวัดใหญ่มีกี่สายพันธุ์

ไข้หวัดใหญ่ในคนมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A, B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A แบ่งออกเป็นหลายซัปไทด์ ซัปไทด์ที่มีการระบาดเป็นประจำคือ H1N1 และ H3N2 ส่วนไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ B แบ่งออกเป็น 2 lineages คือ Victoria และ Yamagata โดยอาการมักไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์ A

ไข้หวัดใหญ่ อาการ

อาการของไข้หวัดใหญ่ได้แก่ ไข้ ปวดศรีษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ไอแห้งๆ คัดจมูกน้ำมูกไหล อาการต่างๆเหล่านี้มักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่นาน 6-10 วัน

กลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

• หญิงมีครรภ์
• เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
• บุคคลที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป
• ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย มะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี
• ผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ

ไข้หวัดใหญ่ กินยา หายเองได้ไหม

ไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้ หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลเองที่บ้านและรักษาตามอาการ เช่น เมื่อมีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว และใช้ยาลดไข้พาราเซตามอล หรือถ้ามีน้ำมูกให้ใช้ยาลดน้ำมูกและยาละลายเสมหะ ดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารอ่อนและให้นอนพักผ่อน

สำหรับ ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน อาจต้องใช้ยาต้านไวรัสในการรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเหนื่อย สงสัยปอดอักเสบหรือมีอาการที่รุนแรงอื่น ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด

วิธีดูแลสุขภาพป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

• สวมหน้ากากอนามัย
• ไม่คลุกคลีกับผู้ที่ป่วยมีอาการหวัด
• หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัด อากาศไม่ถ่ายเทเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
• หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ
• ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น
• ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง

ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ในการผลิตวัคซีนแต่ละปีจึงมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ตามเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน และเนื่องจากระยะก่อโรคสั้น จำเป็นต้องมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอเพื่อเตรียมพร้อมในการป้องกันโรค ดังนั้นจึงต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี

istock-1086829726

ข้อมูล : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย, ศิริราช 

Advertisement

แชร์
"ไข้หวัดใหญ่" มีกี่สายพันธุ์ สายพันธุ์ไหนป่วยรุนแรงที่สุด อาการต่าง "ไข้หวัดธรรมดา" อย่างไร