หญิงวัยทำงาน ขวัญใจมิจฉาชีพออนไลน์ ตกเป็นเหยื่อเพราะหาความรัก

1 ส.ค. 67

เปิดสถิติขวัญใจมิจฉาชีพออนไลน์ หญิงวัยทำงาน ตกเป็นเป้าหมายกลุ่มเสี่ยงที่สูงที่สุด แล้วส่วนใหญ่ล้วนมาจากการค้นหาความรักจากแอปหาคู่ ?

เพราะการหาคู่รักหรือหาความสัมพันธ์บนโลกแห่งความเป็นจริง สำหรับมนุษย์ทำงานหาเงินเดือนล้วนเป็นเรื่องยาก บางครั้งจำเป็นต้องอาศัยการหาจาก แอปหาคู่ ที่บางครั้งอาจต้องตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพออนไลน์ เรียกได้ว่ามีหลายครั้งที่เหยื่อผู้ออกมาร้องทุกข์ ล้วนเป็นหญิงสาวเสียส่วนมาก

เมื่อความเหงาเข้าครอบงำ หญิงวัยทำงาน จึงเกิดเป็นเทรนด์จากมิจฉาชีพ ที่ใช้ช่องว่างนี้ในการโกงเงิน โดยอาศัยการปลอมแปลงตัวตน ผ่านบริการแอปพลิเคชันหาคู่ทั้งหลาย หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า Romance Scam หรือการหลอกให้รักผ่านออนไลน์นั่นเอง

สแกมเมอร์ คืออะไร
สแกมเมอร์ (Scammer) เป็นคำภาษาอังกฤษมีรากศัพท์มาจาก Scam ที่แปลว่า เล่ห์อุบาย หรือ การหลอกลวง ดังนั้นแล้วคำว่าสแกมเมอร์จึงหมายถึง ตัวบุคคล หรือกลุ่มคนที่หลอกลวงฉ้อโกงบนโลกออนไลน์ มักมาในหลายรูปแบบและพัฒนาไปตามยุคสมัย เริ่มต้นอาจมาจากการหลอกผ่าน Call Center หลอกจากการส่งของ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็นการหลอกผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมไปถึงแอปหาคู่ และแอปเรียนภาษา

โดยส่วนใหญ่มักเป็นการสร้างความอยากให้กับเหยื่อ เช่น อยากเจอ, อยากรู้จัก หรืออยากชวนลงทุน เพราะพวกนี้รู้จุดอ่อนของเหยื่อว่ามีความอยาก เมื่อมนุษย์มีความอยาก จะใช้สมองซีกขวาที่มาจากจินตนาการ มากกว่าซีกซ้ายที่เป็นส่วนของตรรกะเหตุผล ก็มาสนองความอยาก ก่อนที่จะหลอกล่อให้เสียทรัพย์ในเวลาต่อมา เมื่อถึงเวลาไปแจ้งความก็จะได้รู้ว่า ข้อมูลบางส่วนที่ได้ทราบมาเป็นของปลอม

 

pic3

 

สถิติเหยื่อคดีความออนไลน์
จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงตัวเลขผู้เสียหายที่ได้แจ้งความออนไลน์ เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยนับรวมตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2565 จนถึงเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 โดยพบว่าเป็นตัวเลขที่สูงถึง 575,507 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท

จากสถิติดังกล่าวพบว่า เหยื่อส่วนใหญ่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุดเป็น หญิงวัยทำงาน ถึงร้อยละ 64 ตั้งแต่ช่วงอายุที่ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพบ่อยที่สุด คือช่วงอายุตั้งแต่ 30-44 ปี โดยจำแนกรายละเอียดตามกลุ่มอายุ ดังต่อไปนี้

  • กลุ่มอายุ 11 - 14 ปี : ร้อยละ 0.12
  • กลุ่มอายุ 15 - 17 ปี : ร้อยละ 0.78
  • กลุ่มอายุ 18 - 21 ปี : ร้อยละ 6.22
  • กลุ่มอายุ 22 - 29 ปี : ร้อยละ 25.33
  • กลุ่มอายุ 30 - 44 ปี : ร้อยละ 41.51
  • กลุ่มอายุ 45 - 59 ปี : ร้อยละ 19.62
  • กลุ่มอายุ 60 ปี ขั้นไป : ร้อยละ 6.42

 

pic1

 

นอกเหนือจากกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มักจะปรากฏเป็นข่าวเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์แล้ว จากสถิติกล่าวยังพบว่ากลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อที่มีจำนวนสูงที่สุด มักจะเป็นกลุ่มวัยทำงาน ในระหว่างช่วงอายุตั้งแต่ 22 ถึง 59 ปี กลุ่มคนอายุเหล่านี้จำเป็นจะต้องระมัดระวังตนเอง และคอยติดตามข้อมูลข่าวสาร เกี่ยวกับรูปแบบของการหลอกลวงทางไซเบอร์ เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

 

สถิติสถานการณ์ถูกหลอกผ่านช่องทางออนไลน์
Spotlight ได้ให้ข้อมูลชุดนี้ไว้ โดยเป็นข้อมูลจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้สำรวจสถานการณ์ ที่มักถูกหลอกลวงผ่านทางช่องทางออนไลน์ ของกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 15-79 ปี โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 6,973 ตัวอย่าง ซึ่งจากข้อมูลพบว่า มีประชาชนราว 18.37 ล้านคน จาก 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อจากการถูกหลอกลวงจากช่องทางออนไลน์

โดยจากข้อมูลระบุว่าการหลอกลวงที่พบจำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด ได้แก่ การซื้อสินค้าออนไลน์และการหลอกลวงให้ลงทุน ถัดมาคือการหลอกลวงเกี่ยวกับการรับสมัครงาน การหลอกลวงเป็นคนใกล้ชิดที่กำลังเดือดร้อน การหลอกลวงว่ามีพัสดุตกค้าง การหลอกลวงเรียกเก็บเงิน รวมถึงการหลอกให้รักผ่านออนไลน์ ตามลำดับลดหลั่นกันไป

 

pic6

 

ทั้งนี้การตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ เป็นการสูญเสียทรัพย์สินจำนวนใหญ่จริง มีบางคนที่อาจได้รับเงินคืน (ถึงแม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะไม่ได้รับก็ตาม) แต่เพื่อไม่ให้มีเหยื่อเพิ่มไปมากกว่านี้ การเข้าแจ้งความหรือแจ้งดำเนินคดีในฐานะผู้เสียหาย ย่อมเป็นสิ่งที่ปกป้องตัวเองได้มากกว่าเดิม อีกทั้งยังเป็นการป้องกันตัวเอง ที่อาจตกเป็นหนึ่งในขบวนการได้ในอนาคต เพราะเหยื่อบางคนอาจถูกปลอมแปลงเอกสารเพื่อนำไปใช้ต่อ หรือปลอมแปลงบัญชีส่วนบุคคล ถูกนำรูปไปใช้แอบอ้างอีกทอดได้ จากการเป็นเหยื่อ อาจทำให้ตกเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยได้

หากสงสัยว่าตัวเองกำลังตกเป็นเหยื่อ หรือเข้าข่ายขวัญใจมิจฉาชีพออนไลน์ สามารถรวบรวมข้อมูล นำเอกสารส่วนตัว เช่น สำเนาบัตรประชาชนและหลักฐานที่มีไปแจ้งร้องทุกข์หรือแจ้งความออนไลน์ ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ที่เว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com/ หรือสายด่วน 1441 เท่านั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีนโยบายการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ แต่อย่างใด

advertisement

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด