"ห้องน้ำสาธารณะ" และความเชื่อมโยงเสี่ยงติดเชื้อ HPV ไวรัสสาเหตุของโรคหลายชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด หูดหงอนไก่
ใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV จริงหรือ?
ไขคำตอบ ใช้ห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงติดเชื้อ HPV จริงหรือ? ตรวจสอบข้อเท็จจริงจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลจริง
เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสทางผิวหนังโดยตรง โดยเฉพาะผ่านการสัมผัสที่บริเวณอวัยวะเพศและการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่ทำให้เชื้อ HPV แพร่กระจาย
อย่างไรก็ตาม เชื้อ HPV สามารถพบได้ในที่สาธารณะ เช่น ลูกบิดประตูหรือพื้นผิวต่างๆ ในห้องน้ำ แต่โอกาสที่จะติดเชื้อจากการสัมผัสทางผิวหนังในส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่ไม่เกี่ยวข้องกับอวัยวะเพศ เช่น การสัมผัสมือหรือการจับลูกบิดประตู ไม่ใช่ช่องทางหลักที่ทำให้ติดเชื้อ HPV เนื่องจากเชื้อไวรัสนี้ต้องการสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการแพร่กระจาย เช่น บริเวณเยื่อเมือกของอวัยวะเพศและปาก ถ้าหากมือไม่มีแผลเปิด การสัมผัสพื้นผิวที่มีเชื้อ HPV ก็มีโอกาสน้อยมากที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดการติดเชื้อ เนื่องจากผิวหนังปกติทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายโดยตรง
ทั้งนี้ ควรล้างมือให้สะอาดหลังจากสัมผัสพื้นผิวในที่สาธารณะเพื่อป้องกันการนำเชื้อไปสู่บริเวณอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น บริเวณเยื่อเมือกหรือปาก
ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า การรักษาความสะอาดในห้องน้ำและการปฏิบัติตามสุขอนามัยที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อจากเชื้อโรคต่าง ๆ ที่อาจพบในห้องน้ำสาธารณะ การทำความสะอาดห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ การล้างมือให้สะอาด และการใช้สิ่งของส่วนตัวอย่างรอบคอบจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงโดยรวมในการติดเชื้อทุกชนิด
รู้จัก ไวรัส HPV และความเชื่อที่ผิดว่าไวรัสชนิดนี้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่านั้น
HPV คืออะไร? HPV คือ เชื้อไวรัส เป็นสาเหตุของโรคหลายชนิด โดย HPV แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
HPV ชนิดก่อมะเร็ง มี 14 สายพันธุ์ ทําให้เป็นโรคร้ายมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด โดยสายพันธุ์ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกถึงประมาณร้อยละ 70 รองลงมาคือ สายพันธุ์ 45, 31 และ 33
HPV ชนิดไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง ไม่ได้ทําให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่เป็นสาเหตุของหูดหงอนไก่บริเวณอวัยวะเพศ เช่น HPV 6 และ 11
ไวรัส HPV ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น?
พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์แห่งโรงพยาบาลวิมุต ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า "เพศสัมพันธ์ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด HPV ติดต่อจากการสัมผัสเชื้อ หากมีการสัมผัสบริเวณที่ติดเชื้อทางใดทางหนึ่งก็สามารถติดเชื้อได้ เช่น การใช้ผ้าอนามัยแบบสอด การใช้อุปกรณ์ใดๆ สอดใส่ช่องคลอด หรือแม้แต่การสวนล้างช่องคลอด ดังนั้น คนโสด คนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือคนที่ไม่ได้เปลี่ยนคู่นอน ก็ใช่ว่าจะปลอดภัยเสียทีเดียว นอกจากนี้หากมีการสัมผัส หรือมีเพศสัมพันธ์ ทางทวารหนักหรือทางช่องปาก (Oral sex) ก็มีโอกาสติดเชื้อได้หมด"
เนื่องจากการติดเชื้อ HPV ในระยะแรกมักจะไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยหลังจากได้รับเชื้อ กว่าจะเป็นเซลล์ผิดปกติอาจใช้เวลาหลายปี บางงานวิจัยระบุว่าอาจนานถึง 20 ปีเลยทีเดียว
วิธีการป้องกัน วิธีหนึ่งคือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยการตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ด้วย เพราะ HPV ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากที่สุด ส่วนการคัดกรองในผู้ชายยังไม่ได้มีแนวทางปฏิบัติที่แน่ชัด ดังนั้น การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV น่าจะเป็นวิธีการรับมือกับ HPV ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
ข้อมูล : โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลวิมุต, ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม