ลูกติดหน้าจอจนไม่สนใจใคร อาจเป็นสัญญาณเตือนของ "ออทิสติกเทียม" ภาวะที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กมีพัฒนาการล่าช้าคล้ายกับโรคออทิสติก
พญ.ปัทมาพร ทองสุขดี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health Hospital อธิบายว่า ภาวะออทิสติกเทียม หรือที่เรียกกันว่า Virtual Autism เป็นคำที่ใช้เรียกพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกคล้ายกับเด็กที่มีภาวะออทิสติก เช่น ชอบเล่นคนเดียว ไม่สนใจเด็กวัยเดียวกัน, ไม่สบตาเวลาพูดคุย, ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้, มักแสดงออกด้วยการโวยวาย มีอารมณ์ก้าวร้าว, พูดช้า พูดภาษาการ์ตูน หรือพูดตามโดยไม่เข้าใจความหมาย, และติดอุปกรณ์สื่อสาร เช่น แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน โดยไม่สนใจกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งนี้ อาการเหล่านี้จะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงอายุ 2 ปี
ความแตกต่างของออทิสติกแท้และออทิสติกเทียม
ความแตกต่างของออทิสติกแท้และออทิสติกเทียม ได้แก่ ออทิสติกแท้จะเกิดจากความผิดปกติของสมองโดยตรง โดยมีปัจจัยมาจากพันธุกรรม ซึ่งพบว่าเด็กออทิสติกประมาณ 10 – 20% มีความผิดปกติที่ส่วนจำเพาะของโครโมโซมหรือยีน รวมถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ภาวะแทรกซ้อนหรือการใช้ยาบางชนิดของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดมาพร้อมกับภาวะออทิสติก นอกจากนี้การที่คุณแม่สัมผัสกับสารเคมี เช่น ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก รวมถึงมลพิษ PM 2.5 อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดออทิสติกได้
ในขณะที่ออทิสติกเทียม เป็นภาวะที่เด็กขาดการกระตุ้นในการสื่อสาร 2 ทาง (Two-way Communication) ส่งผลให้เกิดความล่าช้าทางการสื่อสารและมีพัฒนาการทางสังคมที่ไม่ปกติ โดยมีสาเหตุหลัก ดังต่อไปนี้
การขาดปฏิสัมพันธ์ : เด็กไม่ได้รับการพูดคุย เล่น หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่หรือเด็กคนอื่น ๆ อย่าง เพียงพอ
การใช้หน้าจอมากเกินไป : การใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์มากเกินไป ทำให้เด็กขาดการพัฒนาทักษะทางสังคม และมีการสื่อสารเพียงทางเดียว
การเลี้ยงดูที่เข้มงวดเกินไป : การเลี้ยงดูที่ไม่ยืดหยุ่น หรือการปกป้องลูกมากเกินไป
การขาดการกระตุ้นพัฒนาการ : เด็กไม่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้และพัฒนาตามวัย
คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่สงสัยว่าลูกเป็นออทิสติกแท้หรือออทิสติกเทียม แนะนำให้พาบุตรหลานเข้ารับการตรวจเช็กพัฒนาการกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยอาการให้ถูกต้องชัดเจน ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะช่วง 5 ปีแรกของเด็กเป็นช่วงวัยที่สมองมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ หากไม่ได้รับการดูแลและแก้ไขที่ถูกต้องอาจทำให้เด็กผิดปกติไปในระยะยาว แก้ไขไม่ได้
อย่างไรก็ตาม หากเด็กได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ดูแลอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอมากขึ้น อาการของภาวะออทิสติกเทียมจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการปรับการเลี้ยงดู เช่น งดสื่อหน้าจอทุกชนิดในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี หากอายุมากกว่า 2 ปี ให้ดูจอได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน และควรเป็นการดูร่วมกันกับผู้ดูแล โดยแบ่งระยะเวลาการดูเป็นช่วงๆ ทั้งนี้ต้องไม่ใช้จอเป็นเงื่อนไขให้เด็กทำอะไร เช่น ดูจอได้ระหว่างกินข้าว, เล่นกับเด็กให้มากขึ้น พูดคุยโต้ตอบแบบ Two-way Communication พูดคุยกับเด็กและเว้นจังหวะให้เด็กโต้ตอบ ฝึกให้เด็กมองหน้าสบตาเวลาพูดด้วย การเล่นบทบาทสมมติ, ฝึกกิจกรรมบำบัดเพื่อกระตุ้นพัฒนาการ และปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม, และเปิดโอกาสให้เล่นกับเด็กวัยเดียวกัน เพื่อเรียนรู้ที่จะเข้าสังคม